แวดวงสาธารณสุข : คือความเข้าใจ |
คำขวัญเอดส์โลกปี ๒๐๑๐ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กำหนดไว้คือ “Universal Access and Human Rights” หรือถอดความแบบไทยๆ ก็คือ “สิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ คือสิทธิมนุษยชน”
พิเศษขึ้นมาหน่อยก็คือ รูปแบบการรณรงค์อยากให้มีการจัดรณรงค์ “ส่องแสงเพื่อสิทธิ” หรือ “Light for Rights” เนื่องจากความมืดเป็นสัญลักษณ์การตีตรา เลือกปฏิบัติ ประมาณว่า เปิดไฟสว่างปั๊บ ความมืดหายไป จะได้ไม่ไปละเมิดสิทธิกัน
การละเมิดสิทธิแบบตรงไปตรงมา เช่น การแยกผู้ติดเชื้อออกจากสังคม การไปเปิดเผยความลับของผู้ติดเชื้อ หรือการไม่รักษาผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ การทำร้ายร่างกาย ฯลฯ แบบนี้เห็นง่าย ทำความเข้าใจกันได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
แต่การละเมิดสิทธิแบบในนามของ “ความรัก” “การปกป้อง” หรือ “ความห่วงใย” อันนี้สิที่ทำให้เผลอละเมิดไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทั้งคนละเมิดและคนถูกละเมิด แถมยังรู้สึกว่า “ถูกต้อง” ด้วยที่กระทำเช่นนี้ เป็นการละเมิดที่คลาสสิกมาก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิบนฐานคิดที่มาจากทัศนคติ ค่านิยม ที่สังคมเชื่อว่า “ดีงาม”
ลองพิจารณา “สิทธิทางเพศ” ขององค์การอนามัยโลกมาประกอบก็ได้
คำจำกัดความ “สิทธิทางเพศ” (Sexual Rights) ขององค์การอนามัยโลก
๑.สิทธิในการมีสุขภาพทางเพศสูงสุดตามมาตรฐาน รวมการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
๒.สิทธิในการแสวงหาและได้รับข้อมูลรอบด้านที่เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี
๓.สิทธิในการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา
๔.สิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่จะได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของร่างกาย
๕.สิทธิในการเลือกคู่ชีวิต
๖.สิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่
๗.สิทธิในการมีเพศสัมพันธ์ด้วยความยินยอมพร้อมใจ
๘.สิทธิในการแต่งงานด้วยความยินยอมพร้อมใจ
๙.สิทธิในการตัดสินใจเรื่องมี/ไม่มีลูก มีลูกกี่คน เมื่อไหร่ที่จะมีลูก
๑๐.สิทธิในการแสวงหาความสุนทรีย์ของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรื่นรมย์
อ่านดูแล้วก็โอเคละ คนทุกคนควรได้รับสิทธิทั้ง ๑๐ ข้อนี้ แต่ถ้าลองเปลี่ยนจาก “คนทุกคน” เป็น “บางกลุ่มคน” เช่น ผู้หญิง เยาวชน คนรักเพศเดียวกัน และผู้มีเชื้อเอชไอวี สังคมจะคิดว่าพวกเขายังควรได้รับสิทธิเหล่านั้นหรือไม่
เอาง่ายๆ ผู้ใหญ่บางคนยังใช้อำนาจความเป็นผู้ใหญ่ปิดกั้นการเรียนรู้เรื่องเพศกับเยาวชน ด้วยเหตุผลว่า จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ถุงยางอนามัยก็ห้ามขายจ่ายแจก ด้วยอ้างว่าจะยั่วยุให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ เช่น การห้ามร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยมีถุงยางเพื่อจำหน่าย
เยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่สามารถเรียนต่อได้ ด้วยกลัวว่าจะเป็นแบบอย่างทำให้คนอื่นท้องเลียนแบบ ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว พอมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งหรือมีคู่หลายคนก็ถูกยัดเยียดข้อหาว่า เป็นทาสวัฒนธรรมตะวันตก ทำลายวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม คนรักเพศเดียวกันอยู่กินกันได้แต่แต่งงานไม่ได้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรมีลูก ฯลฯ
แม้หลายคนจะเห็นว่า ไม่ได้มีกฎหมายห้าม (ยกเว้นเรื่องเพศเดียวกันจะแต่งงานกัน) แต่กฎของสังคมหรือค่านิยมต่างๆ ที่ถูกส่งผ่านกลไกตามกฎหมาย หรืออำนาจรัฐ เช่น โรงเรียน กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ ต่างหากที่กลายเป็นตัวห้าม และไปละเมิดสิทธิ เช่น หญิงบริการทางเพศจะถูกผู้ซื้อบริการข่มขืนได้โดยไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าเกิดการข่มขืนขึ้น หรือเมื่อเด็กสาวตั้งท้องแล้วต้องออกจากโรงเรียนก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เป็นต้น
น้องคนหนึ่งมาปรึกษาว่า เรียน ม.๔ และตั้งท้อง ก็เลยไปบอกครู ครูบอกว่าให้ลาไปคลอดก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียน น้องคนนี้ก็เป็นเด็กที่เรียนดีและก็อยากเรียนต่อมาก จึงทำตามคำแนะนำ แต่ในเวลาต่อมาครูกลับทำเรื่องลาออกไว้ให้เลย โดยให้ไปเรียน กศน. เมื่อนำป้าและลุงที่เลี้ยงดูอยู่ไปคุยกับโรงเรียน ลุงกับป้าก็บอกว่า เป็นกรรมของหลาน ครูทำถูกต้องแล้ว เพราะนักเรียนท้องแล้วไม่ควรได้เรียนต่อ ต้องย้ายไปเรียนที่อื่น
คลาสสิกไหมล่ะ การละเมิดแบบเนียนๆ
ทั้งหมดทั้งปวง เป็นการใช้ทัศนคติ ค่านิยม ในนามแห่งความรักและหวังดี โดยลืมคิดว่า จะเผลอไปละเมิดสิทธิของใครหรือไม่
“Light ForRights” ส่องแสงเพื่อสิทธิปีนี้ ลองช่วยกันมาส่องแสงค่านิยม/ทัศนคติบางอย่างก่อนดีไหม ว่าทัศนคติ/ค่านิยมอะไรบางอย่าง เป็นฐานคิดที่สำคัญที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิผู้อื่น
รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ด้วย
|