"พี่คะๆ คนเราคิดอะไรก็ได้อย่างนั้นใช่มั้ยคะ"
น้องนักศึกษาพยาบาลปี 2 ถามผมระหว่างที่ทำกระบวนการอบรมแนวจิตตปัญญา ที่วิทยาลัยพยาบาลนครสวรรค์
"ที่ถามมาหมายความว่ายังไง ขยายความหน่อยสิ" ผมตอบด้วยการถามเธอกลับ
"ก็เห็นเค้าว่าถ้าเราคิดดี เราก็จะดึงดูดในสิ่งดีๆ เข้ามาหาตัวเรา ถ้าเราคิดไม่ดี เราก็จะมีแต่สิ่งไม่ดีเข้ามาหาเรา พี่ว่ามันจริงมั้ยคะ"
ผู้เขียนสนใจเบื้องหลังที่มาของคำถามของเธอ หรือว่าเธอจะไปอ่านหนังสือจิตวิทยามหาชนแนวประมาณ เดอะ ซีเคร็ท หรือ กฎแห่งกระจก น่าสนใจว่าในระยะหลังมานี้ หนังสือที่มีความคิดในทำนองนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ไม่น้อย การที่เราตื่นเต้นกับแนวความคิดเหล่านี้ มันส่องสะท้อนว่าสังคมของเรากำลังเป็น "โรคภูมิคุ้มกันจิตใจบกพร่อง" แนวความคิดอะไรก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ ถ้าฟังดูเข้าที เราก็พร้อมที่รับเข้ามาเป็นหลักชี้นำประจำใจ น่าสงสารคนไทยในยุคไร้รากกันเสียจริง
แนวความคิดที่เรารับมาเต็มๆ จากตะวันตกก็คือ "ความคิดเชิงบวก" สืบย้อนไป เราจะพบว่าชาวตะวันตกมิได้คิดว่าโลกนี้สวยงามมาแต่ไหนแต่ไร แต่มองว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกเพื่อชดใช้บาป ตัวอย่างเช่น ศาสนาคริสต์นิกายคาลวินิส์ที่เชื่อเรื่องเทวลิขิต และปฐมบาป บอกว่าศาสนิกชนที่ดีจะต้องสำรวจตรวจสอบไม่ปล่อยใจให้เผลอไปกับความชั่ว และการปล่อยใจให้มีความสุขเพลิดเพลินนั่นคือบาป ความเชื่อศาสนาที่เข้มงวดอย่างนั้นทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเครียด และความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
ต่อมาเมื่อมนุษย์เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเชื่อดังกล่าวดูจะไม่เข้ากับลมหายใจแห่งยุคสมัย ที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าและไม่ต้องการจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดของตนอย่างที่แล้วมา ในช่วงนี้เกิดกระแสความคิดใหม่ๆ ที่ไปใส่ใจกับความรักจากพระเจ้า มากกว่าเรื่องบาปกำเนิด หรือแม้แต่กระแสความคิดที่ว่ามนุษย์เราสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยตัวเองไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ อย่างของอีเมอร์สันก็เกิดขึ้นในช่วงนี้
ต่อมาเมื่อนักจิตวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องความคิดเชิงบวกและศาสตร์แห่งความสุข การตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งโหมแรงกระพือทำให้กระแส "ความคิดเชิงบวก" เป็นมนตราแห่งยุคสมัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แล้วกระแสคิดเชิงบวกเข้ามาสู่บ้านเราได้อย่างไร ลองสำรวจตรวจตราไปรอบตัว หลายสิบปีที่แล้วเราฮิตอ่านหนังสือแบบ เดล คาร์เนกี้ ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดเชิงบวก หรือ พลิกชีวิตคิดเชิงบวก ของ นโปเลียน ฮิลล์ เดี๋ยวนี้เราอ่านหนังสือแบบ ใครเอาเนยแข็งของฉันไป (Who moved my cheese) หรือ อัจฉริยะสร้างสุข ของ หนูดี กระแสนี้คืบคลานเข้ามาในบ้านเรานานมาแล้วอย่างเงียบๆ ในทุกๆ เจนเนอเรชัน โดยที่เรามองไม่เห็น เรามารู้ตัวอีกทีก็เมื่อเราเองได้รับแนวความคิดนี้เข้ามาเป็นหลักย้ำประจำใจเสียแล้ว
แล้วความคิดเชิงบวกมันไม่ดีตรงไหน ในเมื่อใครๆ ก็แนะนำเราทั้งนั้น ตั้งแต่อดีตนายกฯทักษิณ ยันโอเปร่า วินฟรีย์ สองสามปีมานี้เราบ้านเรายังแจกรางวัล "ผู้หญิงคิดบวกแห่งปี" อีกด้วย
ถ้าย้อนกลับไปดูวิกฤตการเงินเมื่อปี 40 เราต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นคนไทยเราตกอยู่ใต้กระแสของการคิดบวกอย่างรุนแรง จนมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พวกเราเหมือนเดินอยู่บนปุยเมฆ หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง
ในช่วงนั้นหากใครมาทักว่าให้รอก่อนอย่ารีบร้อน จะได้รับคำตอบว่า "รอให้โง่สิ โอกาสทองอยู่ข้างหน้าเห็นๆ"
วิกฤตอย่างปี 40 เป็นละครน้ำเน่าที่กลับมาให้เราเห็นอยู่เรื่อย ตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ ของสหรัฐ ไปจนถึงเร็วๆ นี้ที่ฟองสบู่ดูไบแตกดังโพละ ผู้ที่ถูกตัดขาดจากความเป็นจริงมากที่สุดก็คือผู้บริหารที่ถูกบ่มเพาะด้วยกระแสความคิดเชิงบวก ในอเมริกา นักพูดเก่งๆ ถูกเชิญเข้าไปพูดในบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน
ที่ปรึกษาบริษัทที่ตอนนี้ผันตัวเองมาเรียกตัวเองอย่างเก๋ไก๋ว่าโค้ช ตามอย่างโค้ชทีมกีฬา มีหน้าที่ปรนเปรอ CEO หรือผู้บริหารด้วยอะไรก็ได้ที่จะทำให้เขาหรือเธอฮึกเหิม
การวิเคราะห์ตัวเลข สถิติ ข้อมูล เริ่มกลายเป็นของล้าสมัย ใครจะไปดูตัวเลขกันเล่าในเมื่อสมัยนี้ต้องใช้ ญาณทัสนะ การปิ๊งแว้บ หรือการหยั่งรู้โดยฉับพลัน ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิด "จิตเหนือวัตถุ"
ในปี 2006 ไมค์ เกลแบน ผู้จัดการแผนกอสังหาริมทรัพย์ของ เลย์แมน บราเธอร์ เข้าไปพูดคุยกับ CEO ริชาร์ด ฟุลด์ ว่า "เราต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราใหม่ เพราะมันกำลังย่ำแย่" ต่อมาไม่นานผู้จัดการผู้นี้ถูกไล่ออกในโทษฐานที่มีทัศนคติบกพร่อง อย่างที่เราทราบกัน
สองปีให้หลังบริษัทเลย์แมน บราเธอร์ก็ล้มละลาย
ความคิดเชิงบวกนอกจากจะเป็นปัจจัยในการทำลายเศรษฐกิจโลกแล้ว มันยังเป็นตัวการทำให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่ากดขี่ผู้ที่อยู่ด้อยกว่าได้อย่างสะดวกดาย
เช่น หากเจ้านายมาเอาเปรียบเรา ก็คิดเชิงบวกว่าเขาต้องทำอย่างนั้นเพราะภาระหน้าที่ และหากเจ้าหน้าที่รัฐมาเอาเปรียบเราก็คิดเชิงบวกว่าใครๆ เขาก็โดนกัน ความคิดเชิงบวกยังบ่มเพาะความรุนแรงในครอบครัวได้ด้วย
เช่น ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นโดยหวังว่าสักวันผู้ชายคนนี้จะกลับมาเห็นความดีของเธอ
บางคนคิดเชิงบวกเพื่อปลอบใจตนเอง เช่น หากเราถูกใครบอกเลิกก็คิดเชิงบวกว่าชีวิตของเขาคงจะดีแล้วที่ไม่มีเรา หรือหากเราเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายก็คิดเชิงบวกว่า ก็ดีเหมือนกันเราจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต
ส่วนพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ก็คิดเชิงบวกว่าต่อไปลูกจะเป็นคนเก่งดีมีความสามารถ...
...เร็วๆ นี้มีข่าวว่ามีเด็กผู้ชายวัยสิบขวบผูกคอตายในห้องน้ำ เพราะพ่อแม่บังคับให้เขาไปเรียนพิเศษ ในขณะที่ตัวเองต้องการออกไปเล่นกับเพื่อน...
ช่วงที่ผ่านมาคนทำงานทางด้านจิตวิวัฒน์สนใจเรื่องการทำงานของสมองที่สัมพันธ์กับจิต รวมทั้งยังขยายไปสู่ความสนใจด้านควอนตัม ฟิสิกส์ แต่จิตไม่ใช่วัตถุ และความคิดก็มิใช่สมอง ความรู้ทางควอนตัม ฟิสิกส์บอกเราว่าการทำงานของตัวรับส่งนิวรอนในข่ายใยประสาทในสมองนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกลศาสตร์ควอนตัม
ส่วนการทำซ้ำในใจ (mental rehearsals) เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากว่าเป็นตัวอย่างของอานุภาพแห่งจิตที่มีเหนือวัตถุ การฝึกฝนจิตไปถึงระดับนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหากเป็นไปได้ก็คงได้กับจิตที่ฝึกมาดีแล้วละเอียดแล้วเท่านั้น ระดับอย่างเราๆ ท่านๆ ที่วันๆ ก็ฟุ้งอยู่ในความคิดนู่นนี่นั่น อย่าได้ไปหวัง
เร็วๆ นี้ก็มีเพื่อนไปอบรมคอร์สที่สอนให้สะกดจิตตัวเองและจะทำให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เช่น ถ้าอยากมีรถสักคนก็เอาภาพรถไปติดไว้ที่หน้ากระจกมองมันทุกวัน พิมพ์ภาพสี่สีมาดูก่อนเข้านอน นึกภาพตัวเราอยู่ในรถคันนั้น เอาภาพเข้าไปนอนกอดด้วยได้ยิ่งดี เราจะมีโอกาสได้ขับรถคันนั้นเร็วขึ้น
คำพังเพยของไทยเรามีว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" แต่พอฝรั่งมาปรับเปลี่ยนพยัญชนะเสียใหม่เป็น "คิดดีได้ดี คิดชั่วได้ชั่ว" มันฟังดูดีกว่าและง่ายด้วยเพราะแต่ก่อนเราต้องลงมือทำ เดี๋ยวนี้เพียงแค่คิดก็จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา...ถ้ามองว่าคิดดี จิตใจย่อมดี หากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมเราจึงเห็นคนจำนวนไม่น้อยในสังคมของเราที่คิดดี พูดดี ทำดี แต่จิตใจยังเศร้าหมองอยู่
ความคิดแม้จะดีเลิศเพียงใดก็เป็นเพียงความคิด การรับรู้สภาวะภายในที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือการบ่มเพาะปัญญาให้เกิด เมื่อไม่มีทั้งความคิดบวกและลบ เราเห็นอะไรในใจ
(บทความนี้ได้แรงบันดาลใจและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก Bright-Sided ของ Barbara Ehrenreich)
เนื่องจากการประกวดความเรียง "คลื่นความคิดจากจิตวิวัฒน์" ได้รับความสนใจส่งเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการประกาศผล ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2552