ยิ่งนานวันการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันของวัยรุ่น การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม หรือแม้แต่การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ล้วนเป็นประเด็นที่ดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งเร้า เช่น อินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์ เกมออนไลน์ ฯลฯ
|
ผลวิจัยของตัวแทนเยาวชนจากเวทีสิทธิเด็ก พบว่า ปัญหาวัยรุ่นท้องไม่พร้อมมีเพิ่มมากขึ้น โดยแม่ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี มีถึง ๘๐,๐๐๐ คนในปี ๒๕๕๑ นำไปสู่การทำแท้งซึ่งพบถึงร้อยละ ๔๖.๘ ของผู้หญิงทำแท้งที่มีอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี รวมถึงปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งมีถึงปีละ ๘๐๐ คน การมีเพศสัมพันธ์ช่วงอายุที่น้อยลงโดยผู้ชายต่ำสุดอายุ ๙ ปีและผู้หญิง ๑๐ ปี รวมถึงปัญหาการข่มขืนที่มีเด็กต่ำกว่า ๑๕ ปีตกเป็นเหยื่อเฉลี่ยสูงถึงวันละ ๒ ราย (ไทยรัฐ, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒.)
จากผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นกำลังเผชิญกับความเสี่ยง เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม รวมถึงการต้องออกจากสถานศึกษาเนื่องจากประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเรียนรู้เพศศึกษาอันจำกัดของวัยรุ่น เพราะเพศศึกษาเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นมีความรู้ความเข้าใจ สามารถคิดวิเคราะห์ในการป้องกันตัวเอง และการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย |
จุดมุ่งหมายของวิชาเพศศึกษาอย่างกว้างๆ เช่น เพื่อเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสรีระของร่างกายอันมีผลต่อความคิด อารมณ์ จิตใจ ความรู้สึก เสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทั้งของตนเองและผู้อื่น เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าการกระทำทางเพศส่วนตัวมีผลกระทบต่อสังคม เช่น การปล่อยทิ้งบุตรตามยถากรรม การรับหรือแพร่เชื้อเอชไอวี ทั้งนี้จึงควรเตรียมตัวให้เยาวชนพร้อมที่จะเผชิญปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนรู้จักแก้ไขปัญหาและป้องกันเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ความรู้เรื่องเพศจะเกิดประสิทธิผลกับวัยรุ่นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันของผู้ใหญ่ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานองค์กรต่างๆ ในการให้ความสำคัญและผลักดัน “เพศศึกษา” ให้เข้าถึงวัยรุ่น ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง จริงจัง และต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการสอนหลักสูตรเพศศึกษาในสถานศึกษายังมีความจำกัดอยู่มาก เนื่องจากปัญหาของผู้บริหารหรือครูผู้สอนบางท่านยังคิดว่า การสอนเพศศึกษาแบบให้ข้อมูลรอบด้านแก่ผู้เรียนอาจเป็นการชี้โพรงให้กระรอก คิดว่าเป็นการกระตุ้นให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น แต่หากดูจากผลการสำรวจพฤติกรรมทางเพศในประเทศไทย พบว่า วัยรุ่นอายุ ๑๘-๒๔ ปี ร้อยละ ๘๐ ของวัยรุ่นเพศชาย ร้อยละ ๖๓ ของวัยรุ่นเพศหญิงเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว และในกลุ่มเดียวกันนี้ เกินกว่าร้อยละ ๓๐ ของวัยรุ่นเพศชายเคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า ๑๖ ปี ขณะที่ตัวเลขของวัยรุ่นหญิงคิดเป็นร้อยละ ๙ (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๒.)
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า วัยรุ่นไทยกว่าครึ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ดังนั้นหากผู้ใหญ่จะมองว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับวัยรุ่นเหมือนเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แล้วตัดสินใจไม่สอน อาจยิ่งทำให้วัยรุ่นเผชิญกับความเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคเอดส์ รวมถึงปัญหาต่างๆ มากขึ้น |
|
สถานการณ์ข้างต้น การเร่งผลักดันวิชาเพศศึกษา และเพิ่มมาตรฐานการสอนให้แก่วัยรุ่นเสียแต่เนิ่นๆ น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะป้องกันวัยรุ่นให้รอดพ้นจากปัญหาทางเพศได้
ที่สำคัญผู้ใหญ่ต้องใจกว้าง ต้องพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาของวัยรุ่นได้เสมอ และต้องไม่ผลักดันให้วัยรุ่นต้องไปแสวงหาความรู้เรื่องเพศจากเพื่อน หรือจากคู่รักนอกบ้านเสียเอง