![]() |
รูปจาก http://learners.in.th/blog |
หลายที่ปีที่ผ่านมา ประเด็นการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่และเด็กถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในการประชุมทางวิชาการโดยกลุ่มนักวิชาการแขนงต่างๆ เพื่อถกและนำเสนอรูปแบบของการมีส่วนร่วมผ่านหลักการที่หลากหลาย บ้างก็ทำได้จริง บ้างเป็นเพียงทฤษฎีที่สวยหรู
ดังนั้นสิ่งที่หลายคนอาจเห็นจนเป็นเรื่องชินตาในการจัดกิจกรรม ประชุม หรือทำโครงการของหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงแวดวงเพศศึกษาเองก็ตามที คือไม่ว่าไปที่ไหน ทำกิจกรรมอะไร ก็มีพื้นที่ให้เยาวชนได้ “มีส่วนร่วม” อยู่เสมอ เพื่อให้สมกับคำว่า กิจกรรมนี้จัด “เพื่อเยาวชน”
ในขณะที่โดยตัวเนื้องานแล้ว กิจกรรมเยาวชนกลับเป็นติ่งเล็กๆ หรือแม้แต่มีเพียงห้องเล็กๆ ให้กับเยาวชน ซึ่งไม่ต่างกับการให้เยาวชนเป็นไม้ประดับ กล่าวคือ เด็กมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เชิงรูปแบบ เช่น การอ่านคำเปิดงาน อ่านบทกวี แต่การกระทำดังกล่าวเด็กไม่รู้เหตุผล ไม่รู้ความหมาย ซึ่งตรงกับ “บันไดของการมีส่วนร่วมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่” ที่ โรเจอร์ เจ ฮาร์ท กล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่อ “การมีส่วนร่วมของเด็ก... การทำพอเป็นพิธีสู่ความเป็นประชาชน” (โรเจอร์ เจ ฮาร์ท เขียน จงเจริญ ศรแก้ว แปล ทิชา ณ นคร ปรับปรุง)
รูปแบบการให้พื้นที่แบบนี้ถูกทำต่อๆ กันมาจนแทบกลายเป็นพิธีกรรมที่ฝังลึกให้เข้าใจทั้งผู้ใหญ่และเด็กว่า นี่แหละคือการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ของการใช้รูปแบบนี้คือ เป็นรูปแบบที่สามารถตอบโจทย์ในรายงานได้เป็นอย่างดี เพราะมีกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เป็นสัญลักษณ์ลงในรายงานเล่มหรูได้อย่างสวยงาม
ลองคิดเล่นๆ หากลองแยกกลุ่มผลประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนออกเป็น ๓ ฝ่าย คือผู้สนับสนุนงบประมาณ ผู้ใหญ่ และเด็ก โดยภาพรวมของการแลกเปลี่ยนจึงสรุปได้ว่า
ในแง่ผู้สนับสนุนงบประมาณ เกิดความชอบธรรมที่จะป่าวประกาศได้ว่า งบประมาณที่สนับสนุน สามารถสร้างการมีส่วนระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ได้ผลงานจากการเข้าร่วมและจัดกิจกรรมของเด็ก เด็กก็ได้แสดงตัวตนตามบทบาทที่ได้รับในกิจกรรม ซึ่งอาจไม่ได้ริเริ่ม ร่วมคิด ตัดสินใจ หรือเลือกสิ่งที่อยากทำได้เอง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีกิจกรรมที่เด็กคิดริเริ่ม หรือตัดสินใจเอง ในหลากหลายโอกาสก็มีพื้นที่ที่ปลอดภัยจริงๆ สำหรับเด็กในการแสดงออกและมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นบันไดการมีส่วนร่วมขั้นสูงสุด คือ เด็กริเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วมตัดสินใจ กล่าวคือ เด็กเป็นเจ้าของความคิดและกำหนดสิ่งที่จะทำด้วยตนเอง บทบาทของผู้ใหญ่คือให้ประสบการณ์ความชำนาญและร่วมตัดสินใจกับเด็ก
แต่ประสบการณ์ของเด็กเองอาจไม่ได้มีความชำนาญในการดำเนินกิจกรรม หรือคิดอย่างเป็นระบบจนไร้ซึ่งข้อผิดพลาดเลย ทำให้ในหลายๆ ครั้งก็สร้างความผิดหวังให้กับผู้ใหญ่ที่คอยให้โอกาสอยู่เสมอ เพียงเพราะธรรมชาติของเด็กโดยเด็กเองก็ไม่รู้ตัว
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดคือการเรียนรู้และการเติบโตอย่างมีก้าวขั้นในพัฒนาการของเด็ก แต่กว่าเด็กคนหนึ่งจะก้าวสู่การมีสุขภาวะทางเพศที่ดี สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะอย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็ผ่านการทำร้ายความรู้สึก และความหวังของผู้ใหญ่มากมาย
หากการมีส่วนร่วมคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและจุดร่วมที่เป็นรูปธรรม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม โดยส่วนตัวเชื่อว่า สังคมไทยได้ก้าวไปถึงจุดสูงสุดของการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กตรงนั้นแล้ว
แต่คำถามคือ ทำอย่างไรให้การมีส่วนร่วมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ตามรูปแบบขั้นที่ ๘ ของบันไดการมีส่วนร่วม คือเด็กริเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วมตัดสินใจ ยังคงอยู่และเกิดขึ้นกับทุกๆ คนอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเด็กรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องโอกาส ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังรู้สึกเข็ดกับความผิดหวังหลังจากมอบโอกาสให้เด็กรุ่นเก่าที่เพิ่งผ่านออกไป ประเด็นคำถามนี้คงไม่ใช่การโยนคำถามฝากให้กับผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว แต่คงเป็นคำถามให้กับตัวเด็กเองด้วยว่า เมื่อได้รับโอกาสที่เรียกร้องมา จะใช้โอกาสนั้นอย่างไรให้คุ้มกับการแลกเปลี่ยนที่อาจทำร้ายความรู้สึกของผู้ใหญ่
รวมทั้งต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกๆ ท่าน ที่คอยมอบโอกาส และอยู่เคียงข้างเยาวชน