เรื่องนี้หลายคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องธรรมดาที่หนังไทยทำกันมานาน (และไม่รู้เมื่อไหร่จะเปลี่ยน) แต่อันที่จริงแล้ว คำพูดเช่นนั้นสะท้อนให้เห็นทัศนคติของ คนและสังคมต่อมาตรฐานและการตัดสินผู้คนในสังคมประการหนึ่ง แน่นอนว่าสังคมทุกสังคมต้องมี “กติกา” กระนั้น การมาตัดสินคนว่าคนไม่ใช่คนเพียงเพราะหน้าตาไม่งาม แม้จะเป็นการกล่าวเล่น ๆ ว่ากันให้ขบขัน กระนั้น ก็สะท้อนว่าสังคมนี้ลึก ๆ แล้ว ยังมีอคติเกี่ยวกับความงามของผู้หญิง (ที่ถูกสร้างขึ้นสมัยทุนนิยม และ ตะวันตกนิยม) ว่าต้องงามแบบฝรั่ง คือมีโครงหน้าเรียวยาว ไม่มีกรามกว้าง-หนา จมูกโด่ง มีดั้งเป็นสัน ปากบาง สูง ผิวพรรณสะอาด เป็นต้น เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้ปรากฏเป็นคำอธิบายอยู่ในส่วนของการอธิบายผู้ดีของไทยด้วย ไม่ใช่ไพร่
กล่าวได้ว่าความงามแบบชาวบ้าน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใคร่ปรุงแต่ง (ศัลยกรรม) ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และยังถูกดูแคลน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนี้ยังมีความเป็นตะวันตกนิยมอย่างหนาแน่น (ตอนนี้อาจมีเกาหลีฟีเวอร์ด้วย) และ ยังมีค่านิยมชายเป็นใหญ่ไม่เสื่อมคลาย
ที่กล่าวเช่นนี้ มีหลักฐานจากหลายฉากหลายตอนของหนังสนับสนุน เช่นตอนที่องครักษ์ หรือ ครูที่ถูกจ้างมาสอน เจ้าหญิง (กำมะลอ) ตุ๊กกี้นั้นพูดเกี่ยวกับเธอ ตอนหนึ่ง เป็นตอนที่ครูสอนขี่ม้าด่าเธอต่อหน้า อย่างหน้าตาย (ไม่เกรงใจในความเป็นเจ้าหญิงของเธอเลยแม้แต่น้อย) ว่าเธอนั้นช่าง “ชิงหมาเกิด” หรือ “นี่คนรึ” และอีกหลายคำที่เป็นการไม่ให้เกียรติเธอ ทั้งในฐานะมนุษย์ ในฐานะผู้หญิง หรือแม้แต่ในฐานะ “เจ้าหญิง”
เรื่องนี้จะอธิบายได้อย่างไร คำอธิบายคำหนึ่งที่ผู้เขียนจับได้ก็คือ คุณค่าของคนอยู่ที่หน้าตา หน้าตาอย่างตุ๊กกี้นั้นไม่สมควรได้รับเกียรติใด ๆทั้งสิ้นแม้ว่าเธอมีศักดิ์เป็นเจ้าหญิงในเรื่อง ทั้งนี้เพราะ เธอไม่ได้งามแบบนางงาม แต่งามแบบทั่วไป หรือหลายคนอาจจะบอกว่าออกไปทางขี้เหร่นั่นเอง แม้กระนั้น เธอก็สมควรได้รับเกียรติในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การที่ผู้ชายคนหนึ่ง เป็นแค่อาจารย์สอนขี่ม้า ยืนเท้าสะเอวด่าเจ้าหญิงตุ๊กกี้ฉอด ๆ โดยไม่เกรงอาญานั้น สะท้อนให้เห็นความคิดของผู้สร้างไม่น้อยว่ายังคงวนเวียนอยู่กับความคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งหากผู้หญิงคนนั้นไม่อยู่ในมาตรฐานที่ชายจะให้เกียรติ ไม่ว่าจะมียศศักดิ์เท่าใด ก็ไม่สมควรได้รับเกียรติจากผู้ชายแม้ในฐานะ “คน”
อาจจะฟังดูแรงไป แต่นี่คือแนวคิดที่ผู้เขียนจับได้จากหนังเรื่องนี้หลายฉากหลายตอน นอกเหนือจากฉากอาจารย์สอนขี่ม้าแล้ว ยังรวมถึงฉากอาจารย์สอนดื่มไวน์ อาจารย์สอนเต้นรำ (รับบทโดยคุณเท่ง เถิดเทิง) รวมไปถึงฉากที่บรรดาช่างแต่งหน้าทั้งหลายที่ถูกว่าจ้างให้มาแปลงโฉมเจ้าหญิงตุ๊กกี้ให้ “งามสง่า” ที่ต่างก็แอบนินทา และ ด่าต่อหน้าในเรื่องความงามของเธอในลักษณะเดียวกัน
|