เมื่อเด็กสาวคนหนึ่งเกิดตั้งท้องในวัยเรียน เธอรู้สึกอย่างไร ในอดีตเราเคยได้ยินมาว่ามีหลายโรงเรียนที่ปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ ถึงแม้จะยอมรับเด็กกลับมาเรียนแต่ด้วยความอับอาย จึงไม่มีเด็กกล้ากลับมา แต่เด็กสาวคนนี้โชคดีที่อยู่ในโรงเรียนที่พร้อมจะเข้าใจ เธออุ้มท้องไปเรียนได้ และมีเพื่อนๆ คอยดูแลระหว่างเรียน จนกระทั่งเรียนจบ
|
|
|
ปลา หญิงสาวซึ่งกำลังจะเรียนต่อในชั้น ปวส. เธอมีลูกสาวน่ารักน่าชังชื่อน้องอ้อมใจวัย 2 ขวบที่เกิดจากความผิดพลาดในวัยเรียน เธอเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เธอเรียนชั้น ปวช. ปี 2 สาขาคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง
“ ฉันคบกับแฟนคนนี้มานาน แต่งงานอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เรียน ม.2 เวลามีอะไรกันเราก็ป้องกันมาตลอด ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่มันก็พลาดขึ้นมาจนตั้งท้องได้ 2 เดือน ตอนแรกฉันรู้สึกแย่มาก ตกใจ ไม่อยากมีลูก เพราะเรากำลังเรียน เราไม่ได้วางแผนเรื่องนี้มาก่อน เคยคิดผิด อยากเอาเด็กออก แต่ทำไปก็กลัวบาป กลัวคนอื่นมองว่าเราไม่ดี ปรึกษาแม่ แม่ก็บอกว่า คิดหน้าคิดหลังนะลูก ไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้ ” ( พ่อแม่ของปลาแยกทางกันตั้งแต่เธอยังเด็ก ต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวของตัวเอง )
เธอเล่าต่อว่าเพื่อนที่โรงเรียนรับรู้ และส่วนใหญ่ไม่ได้ซ้ำเติมอะไร เพราะความเข้าใจที่โรงเรียนแห่งนี้ป้อนข้อมูลให้ตลอดเวลา โดยการริเริ่มของอาจารย์ประทีป จุฬาเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ “ โรงเรียนของเรา ทุกคนมองเรื่องนี้เป็นปกติ ที่นี่ท้องแล้วยังอุ้มท้องมาเรียนได้ ฉันก็เอาเรื่องไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านก็แนะนำให้มาคุยกับรองผู้อำนวยการ ( อาจารย์ประทีป จุฬาเลิศ) ก่อนมาคุยคิดอย่างเดียวเลยว่า เราคงไม่ได้เรียนแล้ว เพราะเรามีลูกต้องรับผิดชอบ จะเอาเวลาที่ไหนมาเรียนได้ แล้วเราจะเรียนจบหรือเปล่า คิดมากสารพัด แต่พอได้คุยกับรองผู้อำนวยการ ท่านก็บอกให้กลับมาเรียน ขอให้เรียนจนจบ ปวช. ก่อน”
|
|
เธอจึงตัดสินใจอุ้มท้องมาโรงเรียนเพราะอยากเรียนให้จบ เอาวุฒิการศึกษาไปเรียนต่อระดับ ปวส.
” ฉันท้องตอนปิดเทอม พอเปิดเทอมมาก็ท้อง 3 เดือน มาเรียนปกติ เสื้อผ้าแรกๆ เราก็ใส่ปกติแบบเพื่อนๆ แต่พอท้องได้สัก 6 เดือน หน้าท้องเริ่มขยาย กระโปรงนักศึกษาก็ต้องเอาไปขยาย บางทีก็ใส่ชุดนักศึกษาแล้วใส่เสื้อคลุมอีกที บางวันอาจารย์ก็อนุญาตให้ใส่กางเกงวอร์มมาเรียนได้ ช่วงท้องกลายเป็นคนพิเศษของเพื่อนๆ ไปเลย ตอนนั้นมีเพื่อนอีกคนที่ท้องเหมือนกัน อยู่ห้องเดียวกัน ไปไหนก็จูงมือกันเดินสองคน เวลาจะเดินเหินอะไรเพื่อนก็บอกให้ระวังทั้งสองคน บางทีเพื่อนก็เอาหูเขามาแนบท้องเราเพื่อฟังเสียงลูกเรา เพื่อนไม่เคยรังเกียจเลย เขาเข้าใจเรา อาจจะเพราะเราเป็นวัยรุ่น เรารู้และเข้าใจกัน เราพลาดเพื่อนไม่มีคำว่าซ้ำเติม ครูที่นี่ก็เข้าใจ คุยปรึกษาได้ทุกเรื่อง ฉันไม่ได้อาย เพราะฉันท้องฉันมีแฟน ไม่ได้ไปสำส่อนที่ไหน ฉันไม่รู้ว่าทึ่อื่นเป็นอย่างโรงเรียนเราหรือเปล่า อาจจะไม่มีเลยก็ได้ ส่วนมากพอเขารู้ว่าท้องก็มักจะไล่ออกเลย เขากลัวเสื่อมเสียชื่อโรงเรียน แล้วเรื่องแบบนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ปลูกฝังมาว่ามันไม่ดี ไม่ค่อยมีใครยอมรับ แต่ยุคของพวกเราเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เปิดเผยได้ มานั่งคุยกันน่าจะดีกว่า”
ปลาเรียนจบชั้น ปวช. แล้ว ปัจจุบันเธอกำลังคิดจะเรียนต่อชั้น ปวส. และทำงานเลี้ยงลูกสาวไปด้วย ถ้าวันไหนเธอต้องไปเรียนก็ฝากลูกสาวไว้กับป้า “ ถ้าครูไม่ช่วยเหลือ เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ครูทำให้เราได้มีโอกาสฝันต่อ ฉันรู้อย่างเดียวว่าตอนนี้อยากตั้งใจเรียนให้จบแล้วหางานที่มั่นคงทำเพื่อดูแลลูกได้ แต่ถ้าฉันเรียนไม่จบ เต็มที่ก็คงได้ทำงานโรงงาน ไม่มีสิทธิ์ไปนั่งโต๊ะจับปากกา และงานที่ทำก็ต้องใช้แรงงานมากกว่าใช้สมอง ”
|
|
|
|
|
อาจารย์ประทีป จุฬาเลิศ
รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง
“ จากประสบการณ์การเป็นครูของผม เด็กที่ท้องในวัยเรียน มักเป็นเด็กเรียนดี เกรด 3.2 ขึ้นไป แต่ความรู้ที่จะป้องกันตัวไม่มีเลย นับหน้า 7 หลัง 7 ยังไม่เป็นเลย ผมเคยคุยกับนักเรียนที่ท้อง ไม่มีใครเต็มใจอยากท้อง ทุกคนร้องไห้เสียใจ เพราะชีวิตเขาเปลี่ยนไปเลย”
อาจารย์เคยศึกษาประวัตินักเรียน จากผลสำรวจพบว่าในจำนวนนักเรียน 800 คนมีที่มาจากครอบครัวซึ่งพ่อแม่หย่าร้างกันกว่า 200 คน “ ส่วนใหญ่เด็กที่มีปัญหาท้องในวัยเรียนมักมาจากครอบครัวแตกแยก ลูกศิษย์เรามาจากครอบครัวแตกแยกถึง 1 ใน 4 มันน่าตกใจ พอครอบครัวแตกแยก วิธีคิดหรือทักษะชีวิต เด็กจะอ่อนมากจนน่ากลัว ยิ่งมาเจอครูอาจารย์ที่ให้หลักคิดเขาไม่ได้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แถมสมัยนี้สื่อต่างๆ ก็ยั่วยุ อินเทอร์เน็ตมีภาพโป๊เกลื่อน แล้วเด็กจะเป็นอย่างไร”
ความคิดเรื่องการยอมรับนักเรียนที่ตั้งท้องให้มีโอกาสกลับเข้ามาเรียนต่อได้ของอาจารย์ประทีปเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2534 สมัยที่เป็นครูผู้น้อย จนปัจจุบันเป็นระดับผู้บริหารก็ยังทำอยู่ “ ในวิทยาลัยแห่งนี้เด็กอุ้มท้องมาเรียนไม่ใช่เรื่องแปลก บางทีอุ้มท้องมาเรียน 6-7 คน เราให้ความสมัครใจเด็ก อยากดร็อปก็ได้ อยากเรียนก็มา ตอนนี้ พ.ร.บ.ปี พ.ศ.2542 บอกไว้ชัดเจนว่าเด็กที่ตั้งท้องเรียนต่อที่ไหนก็ได้ ถ่ายโอนหน่วยกิตต่างระบบได้ ตอนแรกที่มาทำก็ถูกต่อต้านเยอะ บางคนบอกว่าชี้โพรงให้กระรอกหรือเปล่า ที่นี่แรกๆ ท้องปีละ 6-7 คน แต่พอเราเป็นที่ปรึกษาให้เขา เป็นตัวกลางคุยกับพ่อแม่ จำนวนเด็กที่ตั้งท้องกลับลดลง บางคนบอกไปยุ่งทำไม ผมก็ถามเขาว่าถ้าเป็นลูกสาวคุณ คุณจะช่วยไหม เรายอมเหนื่อยหน่อย อย่าไปมองว่าเด็กมันแส่หาเรื่องเอง ผมรู้สึกดีที่ได้ช่วยเด็กให้เรียนจนจบได้ ตอนนี้บางคนมีลูก 2-3 คน เงินเดือนเกือบสองหมื่นแล้ว เราเป็นครูต้องให้โอกาสคน” |
|
|
|
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
MC: สถานการณ์แม่วัยใสในเมืองไทยเป็นอย่างไร
“ เมื่อปีกลายได้ไปร่วมประชุมแม่วัยรุ่นโลกที่มาเลเซีย เขาดึงข้อมูลจากทั่วโลกปี พ.ศ.2543 ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 65 ต่อ 1,000 ( 1 พันคนของเด็กวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มี 65 คนเป็นแม่) ทวีปเอเชียค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ต่อ 1,000 แต่ประเทศไทยอยู่ที่ 70 ต่อ 1,000 มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาค ในขณะที่ทวีปอเมริกาอยู่ที่ 60 ต่อ 1,000 ทวีปยุโรป 60 ต่อ 1,000 แต่ตัวเลขวัยรุ่นของเราที่มีเพศสัมพันธ์แล้วแอบไปทำแท้งก็ไม่รู้อีกกี่เท่า นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เราอาการหนักมาก”
MC: อะไรเกิดขึ้นกับวัยรุ่นไทย
“ วัยรุ่นไม่ใช่จำเลย แต่กระบวนการจัดการปัญหานี้เรายังอ่อนแอมาก เราต้องรุกทุกทิศทุกด้าน ไม่ใช่มานั่งทะเลาะกัน”
MC: มีข่าวว่าท่านนายกรัฐมนตรีเร่งให้แก้ปัญหานี้
“ ตอนนี้ทุกหน่วยงานคุยกันและวางแผนไปในทางเดียวกัน ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งคือเราต้องเพิ่มพื้นที่ในการสร้างสรรค์ให้เด็กได้มีตัวตนของเขา เห็นคุณค่าตัวเอง เคารพสิทธิของกันและกัน ชายหญิงเป็นเพื่อนกันได้ ไม่ใช่คบกันได้เชิงชู้สาวอย่างเดียว ยุทธศาสตร์ที่สองคือเรื่องของเพศศึกษา เสริมทักษะได้ตั้งแต่วัยอนุบาล วัยเรียน วัยรุ่น แล้วก็เสริมทักษะให้พ่อแม่ คุณครู ผู้นำทางความคิดต่างๆ ให้เขารู้จักการพูดคุยกับเด็ก เสริมทักษะให้เด็กรู้จักคบเพื่อนอย่างไร ป้องกันตัวเองอย่างไร อีกส่วนหนึ่งคือ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เด็กๆ ต้องเรียนรู้เรื่องยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัยหาซื้อได้ที่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นอีกสิ่งที่วัยรุ่นต้องรู้ทันทีหากมีเพศสัมพันธ์ขึ้นมา ภายใน 24-48 ชั่วโมง เขาควรปฏิบัติตัวอย่างไร อีกอย่างหนึ่งคือการช่วยเหลือ ถ้าพลาดพลั้งขึ้นมามีกระบวนในการจัดการอย่างไร มีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือไหม เรื่องสุดท้ายคือต้องสังเคราะห์และวิเคราะห์เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ทุกด้านก้าวไปด้วยกันได้ ” |
|
|
|
พรนุช สถาผลสวัสดิ์
ผู้ประสานงานโครงการเพศศึกษาเพื่อเยาวชน องค์การแพธ (PATH)
องค์การแพธอบรมครูในการทำหลักสูตรเพศศึกษารอบด้านร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมา 7 ปี โดยบรรจุอยู่ในชั่วโมงเรียน 16 ชั่วโมงต่อปีในแต่ละโรงเรียนใน 43 จังหวัด โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนโลก ( อีก 33 จังหวัดกระทรวงศึกษาธิการจะทำคู่ขนานกันไป)
“ ในการทำงานกับครูหลากหลายวัยทั้งสายสามัญและสายอาชีพในประเด็นที่เด็กท้องในขณะที่ยังไม่พร้อม เรารู้สึกว่าทัศนคติของครูยังเหมือนเดิม แต่มีแนวโน้มการยอมรับดีขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ถึงแม้ครูจะยอมรับได้มากขึ้น แต่ก็ยังยึดติดกับหลักศึลธรรม เด็กจะคุยเรื่องเพศกันได้ง่ายกว่าคุยกับผู้ใหญ่ เพราะเขาเติบโตมาอีกแบบ หนังโป๊มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตหรือสื่อบางประเภท แต่ครูโตมาในแบบที่หนังโป๊ยังซ่อนอยู่ใต้แผง ครูต้องพยายามเข้าใจยุคสมัยที่เปลี่ยนไป”
“ เรี่องเด็กมีเพศสัมพันธ์มันเป็นไปตามวัย แต่จะมีแบบไหนให้ปลอดภัย บ้านเรายังขาดคนคุยกับเขาทั้งภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะคุยหรือสนับสนุนเรื่องการป้องกัน มีบริการแบบนี้ค่อนข้างน้อย หลายหน่วยงานเน้นไปเรื่องรักนวลสงวนตัวซึ่งมันก็เป็นเรี่องที่ดี แต่ผู้ชายเองก็ต้องมีเพศสัมพันธ์ ปัญหามันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ เราควรจะเน้นการทำความเข้าใจทั้งสองเพศ”
“ สำหรับหลักสูตรที่ทางแพธได้ทำไปใน 800 กว่าโรงเรียน ยังตอบได้ยากว่าโรงเรียนสอนเรื่องนี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน การจัด 16 ชั่วโมงต่อปีไว้ในหลักสูตรก็ไม่ง่ายเท่าไร ถ้าเขามีเรื่องที่ต้องสอน เรื่องนี้ก็จะถูกนำไปไว้ท้ายๆ เพราะเรื่องเพศศึกษา เป็นวิชาชีวิต มันไม่ใช่เรื่องที่จะใช้สอบเอ็นทรานซ์”
หมายเหตุ : ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง วัยรุ่น หรือครู สนใจเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา คลิกที่ www.teenpath.net |
|
|
|