“หอพัก... หอพักแยกชายหญิงที่ได้รับรางวัลหอพักดีเด่นประจำปี” ข้อความโปรโมทในป้ายผ้าที่แขวนไว้หน้าหอพักใกล้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แสดงให้เห็นถึง “คุณค่า” ของการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างสองเพศ ซึ่งสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ว่าอย่างน้อยลูกสาวลูกชายของฉันก็ห่างไกล “เรื่องอย่างว่า”
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับหลักการเสมอไปนั้น ผมแอบมองเห็นรูโหว่ใน “ระเบียบ” ดังกล่าวที่ “ผู้ใหญ่” บางคนอาจมองไม่เห็น
โดยทั่วไปแล้ว หอพักส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่หอพักนักศึกษานั้นจะไม่แบ่งอย่างชัดเจนว่าเป็นหอพักสำหรับผู้ชายหรือสำหรับผู้หญิง จะมีก็เพียงกรณีที่เป็นหอพักหญิงล้วน อันนี้ผมเข้าใจว่าเพื่อจุดประสงค์ด้านความปลอดภัยมากกว่าเพื่อป้องกันชายหญิงขึ้นไปร่วมรักกัน
ส่วนหอพักชายนั้นบ้างอาจจะไม่นิยามไปโดยตรงว่าเป็นหอพักชาย บ้างก็นิยาม แต่โดยปกติแล้วก็ไม่ได้ห้ามผู้หญิงขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนคงคิดแบบเดียวกันว่า ผู้ชายคงไม่ได้รับอันตรายจากเพศหญิงได้ง่ายดายเท่าไรนัก (ประเด็นนี้แอบลำเอียงทางเพศนะเนี่ย)
สรุปก็คือโดยทั่วไปแล้วหอพักไม่ได้มีประเด็นเรื่องแบ่งแยกช่องว่างระหว่างสองเพศ
ทีนี้มาดูในบริบทของหอพักสำหรับมหาวิทยาลัยกันบ้าง
ร้อยทั้งร้อยหอพักนักศึกษาซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้น แบ่งประเภทไว้ชัดเจนว่าเป็นหอพักชายหรือหอพักหญิง ซึ่งหอพักชายก็ห้ามผู้หญิงขึ้น และหอพักหญิงก็ห้ามผู้ชายล่วงล้ำ เหล่านี้เป็นไปตาม พรบ. หอพักและระเบียบอันเข้มงวดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าหอพักนักศึกษาที่ปราศจากการแบ่งแยกหมวดหมู่ตามเพศนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อน “วัยอันควร” และนำไปสู่ปัญหาสังคมอีกหลายอย่าง เช่นการทำแท้ง โรคติดต่อ ฯลฯ
ไม่เพียงแต่กระทรวงที่รับผิดชอบเท่านั้นหรอกครับที่ยึดแนวคิดแบบนี้ หลายคนในสังคมโดยเฉพาะ “ผู้ใหญ่” ก็ยังเชื่อในวาทกรรมที่ว่า หนุ่มสาวอยู่ด้วยกันในที่ลับตาแล้วมันจะต้องมี “เรื่องอย่างว่า”
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่า วัยรุ่นอย่างเราๆ ไม่ได้มอง “เรื่องอย่างว่า” เป็นสาระสำคัญของชีวิตกันเท่าไรนัก อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ ฉะนั้นแล้ว ระเบียบดังกล่าวสำหรับผมมันก็คือรูโหว่ดีๆ นี่เอง
มันคือรูโหว่ที่สร้างความเสียหายให้ภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีของวัยรุ่น เมื่อวาทกรรมเรื่องหอแยกเพศนั้นคอยตอกย้ำอยู่ลึกๆ ว่าถ้าไม่แยกระหว่างชายหญิงแล้ว จะมีนักศึกษาฉวยโอกาสไปมีอะไรกันบนห้อง ซึ่งผมคิดว่าความคิดดังกล่าวนั้นได้ครอบงำคนส่วนใหญ่ไปแล้ว สุดท้ายพอเห็นวัยรุ่นผู้หญิงกับผู้ชายเดินขึ้นหอไปด้วยกัน ก็พาให้คิดไปได้อย่างเดียวว่า “นั่นแน่!”
ผมไม่ได้สนับสนุนให้หอพักนักศึกษาเปลี่ยนระบบมาเป็นหอพักรวม ผมเพียงคิดว่าระบบดังกล่าวที่เกิดจากแนวคิดรักนวลสงวนตัวนั้น เป็นการเปิดช่องโหว่ให้ความคิดของเราไหลเข้าไปสู่เรื่องเดิมๆ ไม่ใช่แค่หลักการโบราณที่ว่า วัยรุ่นต้อง “บริสุทธิ์” แต่รวมไปถึงความเชื่อที่ว่าหากเปิดช่องว่างให้ วัยรุ่นก็พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์กันทันที
ผมเชื่อ (อีกครั้ง) ว่าแม้ความอาวุโสของวัยรุ่นอย่างเราๆ จะน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่บางครั้งความคิดและวุฒิภาวะก็ไม่ได้ด้อยกว่า
ไม่ได้คิดแต่จะมีอะไรกันเหมือนที่บางคนชอบคิด
ความจริงแล้วหอพักที่อนุญาตให้ทั้งสองเพศอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร กลับส่งผลดีในหลายๆ เรื่อง เช่นการทำงานกลุ่ม ความสะดวกในการไปมาหาสู่ระหว่างเพื่อน หรือถ้าจะมีใครใช้ในจุดประสงค์ “อย่างว่า” มันก็เป็นสิทธิของเขาไม่ใช่หรือครับ อย่างน้อยก็โตพอที่จะรับผิดชอบตัวเองกันได้แล้ว ถ้าจะเถียงว่าพวกเรายังรับผิดชอบตัวเองกันไม่ได้ ประเทศนี้ก็คงจะน่าเป็นห่วงมากทีเดียวที่ปล่อยให้เด็กที่รับผิดชอบชีวิตตัวเองไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้ง
ผมยอมรับครับว่าบางครั้งการเปิดหอพักให้เป็นอิสระ ปราศจากการแบ่งแยกใดๆ นั้นอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อน “วัยอันควร” ของเหล่านักศึกษาได้ แต่ก็ไม่มีทฤษฎีไหนรองรับได้ชัดเจนนี่ครับว่าการไม่มีเพศสัมพันธ์นั้นจะสรรค์สร้างชีวิตที่มีคุณค่าได้ มีเพียงความเชื่อเก่าๆ เท่านั้นที่เชื่อว่าความบริสุทธิ์นั้นดูจากลักษณะทางกายภาพ
นอกจากนี้ หากจะบอกว่าการปล่อยให้วัยรุ่นไปมีอะไรกันนั้นจะทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท้องในวัยเรียน ทำแท้ง ฯลฯ ล่ะก็ ผมขอถามต่อว่าหากการมีเพศสัมพันธ์ของพวกเขานั้นปลอดภัย มีการป้องกันเป็นอย่างดีและไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ แน่นอน วาทกรรมดังกล่าวจะถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลงหรือไม่... ซึ่งคำตอบก็รู้ๆ กันอยู่ว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแนวคิดดังกล่าวไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาสังคมเหล่านั้น (ท้องในวัยเรียน, ทำแท้ง) แต่มีไว้เพื่อห้ามเด็กๆ ไม่ให้ทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับเสียมากกว่า
สำหรับผมแล้วอาจพูดได้ว่า การแยกหอพักชายหญิงนั้นไม่จำเป็นเลยครับ ไม่จำเป็นในทุกๆ ด้าน ถ้าจะบอกว่ามันช่วยเรื่องการลดความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นนั้นก็ยังดูเหมือนเจ้าของแนวคิดยังมองอะไรไม่รอบด้าน
ถ้าคนมันคิดจะทำเสียอย่าง ที่ไหนก็ได้ครับ
ถ้าหากวัยรุ่นอย่างเราถูกพร่ำบอกว่าโตแล้ว ควรมีความรับผิดชอบได้แล้ว ก็ไม่ควรจะถูกบงการในเรื่องที่สมควรจะรับผิดชอบด้วยตัวเองได้เช่นกัน ว่าไหมครับ