พรภัทรา จำเริญ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี ผู้ประสานงานโครงการเพศศึกษาเพื่อเยาวชน หน่วยประสานงาน (โหนด) มรภ.อุดรธานี ให้ความเห็นต่อสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในพื้นที่ จ.อุดรธานี ว่ามีการตอบรับจากโรงเรียน คนทำงานเรื่องเพศในพื้นที่ก็มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้งานเพศ/เอดส์มีอยู่แล้ว แต่เป็นงานจร
“พอมีโหนดไปเป็นเจ้าภาพอย่างชัดเจน ก็ชวนคนในพื้นที่ลุกขึ้นมาแสดงตัว ทำให้การทำงานชัดขึ้น เหมือนมีพี่เลี้ยง สร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่มากขึ้น และมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง” พรภัทรา บอก
|
เธอยังบอกด้วยว่า ในการทำงานเรื่องเพศศึกษานั้น เขาได้เรียนรู้ว่ามีคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน คือ ชอบที่จะทำงานเพื่อเยาวชน เพื่อสังคม อย่างบางคนจะพูดว่าทำไปทำไมเสียเวลา แต่เขาคิดว่าสิ่งนี้เกิดประโยชน์ เพื่อทำให้คนมีคุณภาพ ก็ต้องเริ่มทำ “เราคิดว่าการเอาลงหลักสูตร ให้คนเรียนทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเด็กให้มีคุณภาพ ต้องเริ่มจากการสร้างครูที่มีคุณภาพก่อน โดยอบรมทำความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้านให้กับครูก่อน เราจะได้ครูคุณภาพที่เข้าใจทัศนะเรื่องเพศ เพื่อนำผู้เรียนไปสู่การคิด วิเคราะห์” ในการประสานงานเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนเพศศึกษาในพื้นที่ พรภัทรา บอกว่า เป็นงานหนักมาก ซึ่งการประสานงาน หรือการสร้างคนในพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาทำงาน ต้องขยันที่จะสื่อสาร หรือขายแนวคิด รวมทั้งต้องสร้างสัมพันธภาพส่วนตัวด้วย เพราะถ้าใช้ระบบการสั่งการคงไม่ดี คนอาจรู้สึกไม่อยากทำ เลยต้องใช้คนที่มีใจทำงาน เพื่อให้คุยกันรู้เรื่อง รองคณบดีฯ ให้ความเห็นว่า เมื่อสร้างคนทำงานขึ้นมาได้ เขาจะลุกขึ้นมาต่อยอดงานเพศศึกษาได้ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไหนที่เอาจริงเอาจังก็จะประสบความสำเร็จ เช่น เกิดกลุ่มเยาวชน ขยายการอบรมให้กับครูทั้งโรงเรียน ทั้งนี้ การทำงานเพศศึกษาเป็นงานหนักและเหนื่อย แต่เมื่อเกิดผลผลิต ก็ทำให้หายเหนื่อย เธอยังเสริมด้วยว่า การทำงานเพศศึกษานั้นต้องเป็นการขับเคลื่อนของทุกภาคีร่วมกัน เพราะแต่ละหน่วยงานมีความโดดเด่นแตกต่างกัน การทำคนเดียวคงไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าง จ.อุดรฯ ก็มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมทำงานด้วย ก็กระจายงานกันทำ และขณะนี้ ในพื้นที่มีคนเสนอตัวเข้ามาเป็นภาคีเพศศึกษามากขึ้น |
“เราจะขายแนวคิดแบบไม่เน้นปริมาณ อย่างการอบรมแบบไฟไหม้ฟาง เช่น เอาคนมา ๓๐๐ คนให้ความรู้แล้วจบ หยุดซะที เปลืองงบของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องปรับแนวคิดในการทำงานทรัพยากรมนุษย์ใหม่ ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเห็นคุณค่าของผู้เข้าอบรม เพราะพื้นฐานของคนคือต้องการให้คนยอมรับ และทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเขา”
ขณะที่ ความคาดหวังของเธอในการทำงานคือ ต้องการเห็นทุกเขตพื้นที่เป็นโหนดเหมือน มรภ. เหมือนจำลองโหนดของแต่ละโหนด คือมีเอ็มที (วิทยากรหลัก) ในเขตพื้นที่ เป็นศูนย์กระจายข่าวสาร หรือสื่อเพศศึกษา จะได้กระจายความรับผิดชอบให้เบ็ดเสร็จในแต่ละพื้นที่ไปเลย เพื่อให้การประสานงานทำได้กระชับขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานในพื้นที่ของ จ.อุดรธานี จะมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนก็ตาม แต่ผู้ประสานงานโครงการเพศศึกษาฯ บอกว่าความท้าทายในการทำงานคือ เรื่องของคุณภาพ ซึ่งหมายถึง ระบบการพัฒนาครู และเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ ให้มีการพัฒนาอยู่ตลอด ไม่เช่นนั้นเพศศึกษาก็อยู่ไม่รอด จะไม่ยั่งยืน
“การพัฒนาจะทำให้เราอยู่ได้ ซึ่งเราก็ยังลองผิดลองถูกอยู่ ก็ปรับให้เข้ากับบริบท” รองคณบดีคณะครุศาสตร์กล่าว