Loading ...

          ภาพยนตร์ The Cider House Rules ที่ผู้เขียนได้รับชม เล่าเรื่องราวของโฮมเมอร์ ชายหนุ่มที่เติบโตในโรงพยาบาลที่เป็นทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าชื่อว่า เซนต์คราวด์ ที่นี่เด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจาก ดร.ลาช  นายแพทย์ที่นอกจากทำคลอดและรับเลี้ยงลูกของหญิงที่ไม่พร้อมจะมีบุตรแล้ว  ยังรับทำแท้งให้กับครรภ์ที่ไม่พร้อมอีกด้วย

          โฮมเมอร์เป็นที่รักเหมือนลูกชายแท้ๆ ของดร.ลาชและเป็นความหวังเดียวที่จะมาเป็นผู้ดูแลสถานที่นี้ต่อ  แต่โฮมเมอร์ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งแม้แต่น้อย  ถึงดร.ลาชจะพยายามบอกเสมอว่าหากไม่ทำแท้งให้กับพวกเธอเหล่านั้นในที่สุดพวกเธอก็จะหันไปหาทางเลือกอื่นที่อันตรายกว่า

          โฮมเมอร์ได้พบทหารอากาศหนุ่มและแคนดี้แฟนสาวของเขา  ซึ่งเขาพาเธอมาทำแท้งที่เซนต์คราวด์ นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของโฮมเมอร์  โฮมเมอร์ติดตามสองคนนี้เพื่อออกไปใช้ชีวิตและเรียนรู้โลกภายนอกอาณาบริเวณของเซนต์คราวด์ตามที่เขาต้องการ

          ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พูดถึงกฎตลอดทั้งเรื่อง  และทุกประเด็นเต็มไปด้วยความขัดแย้งของผู้คนที่อยู่ภายใต้กฎและตัวของกฎนั้น   เมื่อโฮมเมอร์ออกจากเซนต์คราวด์มาเป็นคนงานในไร่แอปเปิลของทหารอากาศหนุ่ม  เขาอยู่รวมกับคนงานครอบครัวหนึ่งที่มีมิสเตอร์โรสเป็นหัวหน้าของพวกเขา ภายในบ้านพักของคนงานมีแผ่นกระดาษที่บันทึกกฎกติกาในการอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นติดอยู่ที่ผนัง แต่สำหรับทุกคนที่นั่นมันเป็นเพียงแผ่นกระดาษ  ไม่มีความหมายหรือความสำคัญอะไร ในเมื่อคนที่เขียนไม่ได้อยู่และคนที่อยู่ที่นี่ก็ไม่ได้เป็นคนเขียนกฎนั้น  ในความคิดของพวกเขาผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และเหมาะที่จะเป็นคนร่างกฎคือผู้ที่อาศัยอยู่จริงในบ้านไม่ใช่หรือ?

          ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอีกเรื่องคือเรื่องราวความสัมพันธ์ของโฮมเมอร์และแคนดี้ที่เกินเลยขอบเขตศีลธรรมที่คนทั่วไปยอมรับ เพราะฝ่ายหญิงมีคู่รักอยู่แล้ว ทั้งคู่ไม่คิดว่าคือความผิดของตัวเอง แต่เป็นไปเพราะความรัก และสถานการณ์แวดล้อม

           เรื่องที่ขัดแย้งกันมากที่สุดระหว่างกฎและผู้ถูกบังคับในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เรื่องของมิสเตอร์โรส ผู้เป็นพ่อและโรสโรส ลูกสาว  มิสเตอร์โรสมีความรักต่อลูกสาวแต่เป็นในลักษณะที่มีความต้องการครอบครองทางร่างกาย  ในที่สุดก็เป็นสาเหตุให้ลูกสาวตัวเองตั้งท้อง เรื่องนี้ทั้งสังคมรับไม่ได้ ทั้งผิดศีลธรรม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดขึ้น  มิสเตอร์โรสไม่คิดว่าการกระทำของเขาผิดเช่นกัน เพราะเหตุผลที่เขาทำไปเพราะความรักโดยแท้ แต่เป็นความรักในแบบที่คนอื่นไม่มีวันที่จะเข้าใจได้

           ทั้งหมดสะท้อนนัยยะสำคัญเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของการทำแท้ง แม้จะพูดกันคนละที  สังคมมีความคาดหวังต่างๆ นานารวมทั้งคาดหวังว่าการทำแท้งจะไม่เกิด คาดหวังว่าพ่อแม่ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการถือกำเนิดของบุตร แต่ความเป็นจริงแล้วทุกคนที่สร้างความคาดหวังนี้ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา 

          ในประเทศไทยกฎหมายอาญา ได้อนุญาตให้ทำแท้งได้สองกรณี คือกรณีข่มขืนและกรณีเป็นอันตรายต่อสุขภาพหญิงที่ตั้งครรภ์ โดยแพทยสภาก็ได้ออกมาตีความคำว่าสุขภาพให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางให้กับแพทย์ใช้ตัดสิน  แต่น่าแปลกที่ผลสำรวจบอกว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมทำแท้งให้ แม้จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายอาญาและข้อบังคับแพทยสภาก็ตาม ยิ่งไม่ต้องพูดถึงหญิงที่ต้องการทำแท้งแต่ไม่เข้าข่ายทางกฎหมาย พวกเธอไม่มีทางออกอื่นนอกจากการทำแท้งเถื่อน ซึ่งถ้าโชคดีก็ปลอดภัยแต่ถ้าโชคร้ายก็เท่ากับชีวิต

           สังคมยังไม่มีทางออกที่ดีเพียงพอให้กับพวกเธอ นอกจากบอกให้รับผิดชอบต่อการกระทำ ปัญหาที่ตามมาคือถ้าให้เด็กเกิดขึ้นมาบนความไม่พร้อม คุณภาพชีวิตย่อมไม่ดีตามไปด้วย ยกตัวอย่างกรณีที่นอกเหนือจากเด็กสาวที่ตั้งครรภ์  ยังมีกรณีของหญิงที่แต่งงานมีลูกแล้วหลายคน ฐานะค่อนข้างยากจนและรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ เธอประสงค์จะทำแท้งเพราะรู้ว่าไม่มีเงินที่จะสามารถเลี้ยงลูกคนต่อมาได้ กรณีนี้แน่นอนว่าไม่สามารถทำแท้งได้ ทั้งด้วยกฎหมายและกรอบของสังคม ทั้งที่เธอคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตเมื่อลูกของเธอเกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นการทำแท้งไม่ใช่ปัญหาของเฉพาะวัยรุ่น แต่หมายรวมถึงผู้หญิงทุกคน

           สิ่งที่พวกเธอเหล่านั้นต้องการไม่ใช่การทำแท้งเสรี ซึ่งแปลว่าใครอยากทำแท้งเมื่อไหร่ที่ไหนหรือใครจะทำให้ก็ได้ แต่ต้องการเสรีในการตัดสินใจบนเนื้อตัวและร่างกายของตัวเอง โดยพ้นจากกรอบหรือกฎเกณฑ์บางอย่างจากคนอื่นๆ ที่คอยควบคุมพวกเธออยู่

 
 
 


ความคิดเห็นที่  7

ความรู้ของมนุษย์ถูกจำกัดด้วยมิติเวลาและภพชาติ สิ่งที่คิดว่าผิดก็มองเห็นเป็นถูก แล้วศาสนาที่เป็นหัวใจหลักของชาติจะต้องเปลี่ยนแปลงเอื้อไปตามสภาพกาลของโลกและยุคที่เสรีภาพดูเหมือนจะเอามาพูดได้ทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องศีลธรรมหรือ? ที่จริงกฏธรรมชาติหรือกฏดีชั่วไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และเอื้อต่อเหตุผลของมนุษย์ที่ต้องการเสรีภาพเสรีภาพบางอย่างถ้าทำแล้วมันดีต่อคนคนนั้นก็ดีไป แต่เสรีภาพการทำแท้งมีแต่จะนำผลร้ายสู่ชีวิตผู้ทำ เพื่อยุติปัญหาตัวเองด้วยการพิพากษาชีวิตเด็กบริสุทธิ์ที่เขาร้องได้คงไม่มีใครยอมตาย เขาต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดแค่ไหนขณะแม่เขาทำแท้ง นี่คือเสรีภาพที่ดูดีเหมือนชื่อแล้วหรือ?    

อย่ามองผลวิจัยและงานศึกษาที่แค่เป็นความรู้ติ่งเล็กๆ เพื่อมาตัดสินชีวิตบริสุทธิ์อีกหลายชีวิตทั้งโลกเลยค่ะ เพราะทุกชีวิตก็มีค่าและต้องการการปกป้อง และชะตาชีวิตก็เป็นของคนนั้น ที่เปลี่ยนแปลงและกำหนดใหม่ได้ อย่าเหมารวมเลยค่ะ ว่าเด็กที่เกิดมาไม่พร้อมจะเป็นปัญหาสังคมและประเทศชาติ  มันตัดสินเรื่องที่เป็นปัจเจกบุคคลแบบหยาบหรือลวกๆเหลือเกิน ฝากไว้ให้คิดค่ะ  

ผู้หวังดี    (15 พฤษภาคม 2560  เวลา 22:20:44)

ความคิดเห็นที่  6

ถ้าเเม่ท้องไม่พร้อม เด็กที่เกิดมาก็ย่อมได้รับการเลี้ยงดูเเบบไม่พร้อม นั่นอาจเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต

คนคนหนึ่ง   (30 พฤศจิกายน 2556  เวลา 23:30:04)

ความคิดเห็นที่  5

การทำแท้งนั้นเราต้องดูด้วยว่าเพราะอะไร ถ้าเรามองในแง่ลบคนที่ทำแท้งก็ผิดไปหมด
ถ้าหากว่าเค้าโดนข่มขืนมาลูกเค้าไม่มีพ่อ๕ลอดมาก็เป็นภาระสังคม เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำแท้งว่างั้น

เยาวชน   (9 มิถุนายน 2556  เวลา 18:36:13)

ความคิดเห็นที่  4

ถ้าแม่ทำแท้งเราคงจะไม่ได้เกิด
น่าสงสารเด็กโดนทำแท้งจัง

pim   (2 พฤศจิกายน 2555  เวลา 13:53:03)

ความคิดเห็นที่  3

น่าสนใจมาก    น่าเรียนรู้

pim   (2 พฤศจิกายน 2555  เวลา 13:51:20)

ความคิดเห็นที่  2

ถ้าแม่พวกคุณไปทำแท้งคุณคงโดนฆ่าทิ้งตั้งแต่เอยู่ในท้องคุณจะได้มีชีวิตอยู่จนถึงตอนนี้ไหม

คิดดู   (8 กันยายน 2555  เวลา 21:48:55)

ความคิดเห็นที่  1

เปิดโอกาสให้ตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ต้องสอนให้ทุกคนเห็นผลดี ผลเสียของการทำแท้ง ก่อนการตัดสินใจ

สมพันธ์    (17 เมษายน 2555  เวลา 20:13:30)