ครูศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย แนะเทคนิคการนำเพศวิถีศึกษาเข้าในโรงเรียนผ่านแกนนำเยาวชน “ชมรมกอไผ่”
|
“พี่ไปอบรมครูเพศวิถีศึกษาพร้อมกับครูอีก ๖ คน |
จิราพรรณ แสวงผล ครูโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย |
อาจารย์จิราพรรณ แสวงผล แห่งโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย เล่าประสบการณ์ของความพยายามนำวิชาเพศศึกษาเข้าไปในโรงเรียน มองว่าไม่ใช่แค่ทำความเข้าใจกับเพื่อนครู แต่ต้องสนับสนุนเด็กให้เป็นแนวร่วมสร้างผลงานจริง จะเกิดการยอมรับเร็วขึ้น และผู้อำนวยการก็จะเห็นความสำคัญไปด้วย
“พี่ไปอบรมครูเพศวิถีศึกษาพร้อมกับครูอีก ๖ คนเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่าตัวเองได้เห็นเรื่องเพศ ไม่ใช่แค่ “เพศสัมพันธ์” เหมือนที่เคยคิด เด็กก็น่าจะเรียนวิชาชีวิตแบบนี้บ้าง จึงรวมตัวกับครูที่ไป จัดอบรมครูทั้งโรงเรียน ซึ่งเป็นวิทยากรที่มั่นใจมาก (หัวเราะ) จากนั้นก็แบ่งกันสอนในวิชาที่แต่ละคนรับผิดชอบในเทอมนั้นเลย แทบไม่น่าเชื่อว่า คนโสดอย่างเราก็สอนได้ เด็กสนุก ครูเองก็ชอบ หัวเราะกันทั้งห้อง”
ระยะต้นที่สร้างแรงกระเพื่อมในโรงเรียนไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะมีครูไม่กี่คนที่เข้าใจในเรื่องนี้ ผลที่ได้คือเสียงซุบซิบใต้น้ำถึงความไม่แน่ใจว่าจะเร่งให้เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นถ้าพกถุงยางมาเรียน เด็กอาจอยากไปลอง และอีกหลายคำถาม รวมทั้งผู้อำนวยการก็ยังไม่มีท่าทียอมรับในเรื่องนี้เต็มตัว
“เราเชื่อว่ามีประโยชน์ก็สอนไป วันหนึ่งเริ่มคิดว่าเราก็อายุมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมไม่ดึงเด็กมาช่วยจัดกระบวนการแบบนี้ เด็กของเราไม่ใช่แค่รณรงค์แจกถุงยางกับเพื่อนๆ หรือตนเองมีสิทธิ์ถือถุงยางได้อย่างสบายใจเท่านั้น พวกเขามีศักยภาพมากกว่านั้น จึงของบประมาณจาก ผอ. ตั้งชมรมขึ้น” ครูแกนนำเพศวิถีฯ เล่าถึงแรงกดดันที่เด็กและครูอยากหาทางออกในขณะนั้น จึงรวมกลุ่มคนที่สนใจนำกิจกรรมด้านเพศวิถีมาตั้งเป็นชมรม
“ผมเป็นประธานรุ่นแรก ตอนนั้นอยู่ ม.๕ ครูบอกว่ามีเงินให้มาทำกิจกรรมเป็นชมรม พวกเราเป็นรุ่นพี่ที่ได้เรียนเพศศึกษา ทั้งเรื่อง ต้นกับอ้อ (www.teenpath.net/download.asp?ID=995) อะไรต่ออะไรต่อกันมาตั้งแต่ ม.๔ เราเองก็อยากบอกน้อง ๆ คนอื่นให้สนุกเหมือนกับเรา จึงใช้โอกาสตอนนั้นเริ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ในโรงเรียน” นายจิรศักดิ์ เหมบุรุษ ศิษย์รุ่นแรกที่ได้เรียนเพศศึกษา ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เล่าต่อไปถึง ชื่อ “ชมรมกอไผ่” เป็นพลังเด็กที่เปรียบเสมือนหน่ออ่อนของต้นไผ่ ที่รอวันขยายตัวเติบใหญ่ เป็นแกนนำรุ่นพี่ที่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน แม้เรียนจบออกไปแล้ว ก็ยังกลับมาช่วยงานในค่ายต่างๆ ปัจจุบันจึงมีทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ทำงานด้วยกัน โดยงานในชมรมจะแบ่งทีมทำงานเป็น ๔ ส่วน โดยตั้งชื่อส่วนงานตามประเภทของไผ่ ได้แก่ ไผ่หวาน ดูแลการงานเอกสาร ทำป้ายโปสเตอร์รณรงค์ ไผ่คาย คอยทำกิจกรรมสันทนาการ เต้น Dance for life (http://www.teenpath.net/content.asp?ID=16469)ไผ่สีทอง ดูแลงานเสียงตามสาย จัดรายการวิทยุให้ความรู้กับเพื่อนและชุมชน และไผ่ตงผลิตสื่อ ICT แจกจ่ายใบความรู้เรื่องเพศศึกษาไปกับงานส่วนอื่นๆ
“ใน ม. ๑ และ ม.๔ โรงเรียนจะจัดกิจกรรม Day camp สำหรับเด็กใหม่ ก็ได้พี่ๆ กลุ่มนี้ช่วยทำฐานต่างๆ ให้น้องๆ ที่เข้ามาเรียนรู้ แล้วยังมีกิจกรรมนอกโรงเรียนอีกมากมายที่ชมรมลงไปทำ ไม่ว่าจะเป็นค่าย พาเหรด ออกร้านรณรงค์ และลงพื้นที่กับชุมชน โดยต้องชื่นชมท่านผู้อำนวยการธรรมรงค์ เสนจันทร์ ด้วยที่เป็นแนวหลังให้โอกาสสำคัญกับพวกเราทุกคน” ครูจิราพรรณกล่าว
๓ ปีจนปัจจุบัน พลังใจของครูและพลังของเด็กๆ ทำให้โรงเรียนศรีสองรักษ์โตขึ้นมาเป็นจนเป็นที่ยอมรับ ทั้งจากภายนอกที่เป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้เพศวิถีศึกษาของจังหวัดที่จะพัฒนาต่อ และภายในโรงเรียนจากเพื่อนครูและผู้อำนวยการที่หันมาสนับสนุนในเรื่องนี้ และมุ่งมั่นจะทำงานนี้ต่อไปอย่างจริงจังด้วย