ในบรรดาตัวละครวัยรุ่นในละครซีรี่ย์ “ฮอร์โมน...วัยว้าวุ่น” สไปร์ทเป็นตัวละครที่โดดเด่นมีคนให้ความสนใจมากที่สุด เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเธอหลุดไปจากกรอบที่สังคมไทยคาดหวังเอาไว้ว่าเด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อย รักนวลสงวนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่สิ่งที่สไปรท์ปฏิบัตินั้นตรงกันข้ามกับความคาดหวังของสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง
สไปร์ทเป็นเด็กหญิงหน้าตาสะสวย มีเซ็กส์ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.ต้น เธอปฏิเสธการมีเซ็กส์ที่ไม่มีการป้องกัน เธอเป็นสาวประเภท “สวยเลือกได้” ในละครเราไม่รู้ว่าเธอมีมุมมองต่อเรื่องเพศอย่างไรเพราะเธอไม่เคยพูดให้ได้ยิน แต่ในอินเทอร์เน็ตบอกว่าตัวละครตัวนี้มีมุมมองต่อเรื่องเพศว่า “ไม่มีใครได้ –ไม่มีใครเสีย สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือ ป้องกันตัวเองทุกครั้งที่มีเซ็กส์ แล้วทุกอย่างจะ O.K.”
ในละครเธอผลัดเปลี่ยนผู้ชายเป็นว่าเล่นจนคนดูอาจงงไม่รู้ว่าคนไหนแฟน คนไหนคือคนที่บังเอิญหลงทางผ่านเข้ามา แม้จะไม่ได้เป็นแฟนกันแต่สไปร์ทก็สามารถมีเซ็กส์ได้หากมีถุงยางอนามัยพกมาด้วย
สไปร์ทเคยเป็นเพื่อนสนิทกับของขวัญเมื่อตอนอยู่ ม.ต้น แต่ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปเพราะวันหนึ่งของขวัญไปเยี่ยมสไปร์ทถึงบ้านโดยไม่บอกล่วงหน้ากะให้เซอร์ไพรส์ แต่สิ่งที่ทำให้ของขวัญต้องเซอร์ไพรส์เสียเองคือเธอพบว่าเพื่อนสนิทของเธอกำลังนอนอยู่กับเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่งในห้อง เหตุการณ์นี้ทำให้ของขวัญเลิกเป็นเพื่อนสนิทกับสไปร์ทตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สไปร์ทอาจจะไม่ใช่เด็กดีในสายตาของเพื่อนหรือในสายตาผู้ใหญ่ในแง่ที่ไม่รักนวลสงวนตัว มีเซ็กส์ตั้งแต่อยู่วัยเรียน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมเรามีเด็กอย่างสไปร์ทจริงๆ ไม่ใช่หรือ
ผู้ปกครองหรือคุณครูที่ดูละครเรื่องนี้จะคิดยังไงกับพฤติกรรมของสไปร์ท เป็นประเด็นที่น่าคิด
สมัยผู้เขียนเรียนอยู่ชั้น ปวส. รู้จักกับเพื่อนหญิงรุ่นน้อง ปวช.คนหนึ่ง วันหนึ่งเราถือวิสาสะเปิดดูกระเป๋านักเรียนของเธอตามประสาเพื่อนแบบไม่คิดอะไรมากในขณะที่เธอไปเข้าห้องน้ำ การเปิดดูกระเป๋าเพื่อนเป็นเรื่องที่เราชอบทำกัน เวลาเจออะไรแปลกๆ ในกระเป๋าก็จะเอามาล้อกัน แต่โปรดระมัดระวังกับสิ่งที่ท่านจะได้พบเห็น เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ทำเอาผู้เขียนถึงกับอึ้งกิมกี่ไปเลย
สิ่งที่ผู้เขียนพบโดยไม่ตั้งใจซ่อนอยู่ในกระเป๋านักเรียนของเพื่อนหญิงรุ่นน้องคนนี้คือถุงยางอนามัย 1 ชิ้น ผู้เขียนถึงกับเหวอไปเลยแบบว่าตกใจไม่ทันได้ตั้งตัวว่าจะได้เจอในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเจอในกระเป๋าของเพื่อนรุ่นน้องคนนี้ นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ 25ปีที่แล้ว ถึงแม้ในวิทยาลัยที่เราเรียนจะไม่มีวิชาเพศศึกษา หากแต่ 20 กว่าปีที่แล้วการที่นักเรียนหญิงพกถุงยางอนามัยถือว่าก้าวล้ำนำหน้ามากเพราะไม่มีใครกล้าทำ สมัยนั้นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องเพศหรือเอดส์ก็ยังมีน้อยกว่าสมัยนี้ แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ตัดสินเธอว่าเป็นเด็กแรด ยังพูดคุยเป็นเพื่อนกับเธอตามปกติและไม่ได้เอาเรื่องถุงยางอนามัยมาล้อเพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนที่ควรให้ความเคารพ และมองว่าเธอก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้จักป้องกันตนเองดี การพบถุงยางอนามัยในกระเป๋าเพื่อนหญิงถึงจะแรงแต่เราก็เข้าใจและให้ความเคารพกับสิ่งที่เธอเลือก น่าจะดีกว่าเราไม่พบถุงยางไม่ใช่หรือ เพราะการไม่พบถุงยางอาจตีความได้ 2ทาง คือ ไม่มีเซ็กส์ หรือ มีเซ็กส์แบบไม่ป้องกัน
หากเปรียบเทียบกับพฤติกรรมทางเพศของเด็กผู้ชายแล้ว เด็กผู้หญิงที่พกถุงยางอนามัยควรถูกเรียกว่าแรดหรือ ในเมื่อโลกของความเป็นจริงการที่เด็กผู้ชายมีเซ็กส์ไม่ได้ถูกติเตียนอะไรมากนัก แต่มักได้รับการสนับสนุนว่าเป็นขั้นตอนการก้าวข้ามจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ หรือเพื่อไปสู่ความเป็นผู้ชายเต็มตัว แต่การที่เด็กผู้ชายจะมีเซ็กส์ได้ก็ต้องมีฝ่ายหญิงเป็นผู้ร่วมกิจกรรม หากกิจกรรมทางเพศนั้นมีการให้คุณค่ากับฝ่ายชายว่าเป็น “ฝ่ายได้”ในขณะที่ฝ่ายหญิงเป็น “ฝ่ายเสีย” หรือมีการให้คุณค่าว่าผู้ชายมีเซ็กส์เป็นเรื่องปกติในขณะที่ผู้หญิงมีเซ็กส์เป็นเรื่องบัดสีก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับผู้หญิงสักเท่าไรนักในสังคมที่มีความลำเอียงทางเพศเช่นนี้
สิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือหลังจากมีเซ็กส์กันแล้วผู้ชายมักตีค่าผู้หญิงที่ตนมีเซ็กส์ด้วยว่าเป็นผู้หญิงแรด หรือฝ่ายหญิงมักถูกสังคมตัดสินว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ทำตัวไม่มีค่า หากเราพิจารณาอย่างมีโยนิโสมนสิการ๑เราจะพบว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่มีอาการป่วยทางสังคมแฝงอยู่เพราะถือว่าเป็นวิธีการมองเรื่องเพศแบบลำเอียงมากๆ
ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะชักชวนให้เด็กผู้หญิงพากันลุกขึ้นไปซื้อถุงยางอนามัยมาเก็บไว้ในกระเป๋าตัวเอง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อยากให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดเรื่องการเลี้ยงลูกแบบ “รักนวลสงวนตัว”กันเสียใหม่ว่าเราสอนอะไรในแบบที่ผิดพลาดกันหรือไม่ ในขณะที่เราสอนลูกชายแบบหนึ่ง แต่เรากลับสอนลูกสาวอีกแบบหนึ่ง
ในที่สุดการสอนแบบนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับมุมมองในเรื่อง “คุณค่าในตัวตน”ที่ไม่เท่าเทียมตามมา
หลังจากมีเซ็กส์ด้วยกัน เป็นเรื่องยุติธรรมไหมที่คุณค่าของคนหนึ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่คุณค่าของอีกคนหนึ่งกลับลดลง
เราน่าจะเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ ว่า เรื่องเพศไม่มีใครได้ ไม่มีใครเสีย มีแต่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
บางทีการเปลี่ยนมุมมองในแบบที่มีความรับผิดชอบร่วมกันเช่นนี้น่าจะทำให้เราเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศที่เป็นสัมมาทิฏฐิ๒มากขึ้น คุณผู้อ่านคิดอย่างไร?
(บทความนี้มี2ตอนจบ คราวหน้าเราจะพูดถึงตัวละครสไปร์ทกันต่อ)
๑โยนิโสมนสิการ หมายถึง การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน
๒สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม