๕ เทคนิคดี ๆ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา : ประสบการณ์จากจิตรา ยอดแก้ว ครูแกนนำเพศวิถีฯ ภาคใต้
|
“เรา ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า |
จิตรา ยอดแก้ว ครูโรงเรียนสตรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช |
เหตุเกิด ณ ศูนย์อนามัยแห่งหนึ่ง
นักเรียนมัธยม : หนูอยากมาฝังยาคุมกำเนิดค่ะ
คุณหมอ : ทำไมคิดเรื่องนี้ ใครแนะนำมา
นักเรียนมัธยม : หนูคิดเองค่ะ มีเพื่อนมาด้วยอีก ๒ คน รออยู่หน้าห้อง
คุณหมอ : หนูได้ความคิดนี้มาจากไหน
นักเรียนมัธยม : ที่โรงเรียน ตอนเรียนเรื่องยาคุมค่ะ !
ประสบการณ์ จากครูที่รู้ว่านักเรียนกลุ่มหนึ่งไปพบหมอเพื่อขอให้ฝังยาคุมกำเนิดให้ เป็นเรื่องเล่าในวงคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนเพศวิถีศึกษาในกลุ่ม โรงเรียนภาคใต้ ซึ่ง “ครูเอียด” จิตรา ยอดแก้ว โรงเรียนสตรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แกนนำครูเพศวิถีฯ ที่ผ่านประสบการณ์สอนเพศวิถีศึกษามากว่า ๕ ปี ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
“เรา ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการสอนเพศศึกษาอาจเป็นดาบสองคมได้ถ้าเราพาเด็กไปไม่ถึงเป้าหมายของเนื้อหา แม้เด็กรู้วิธีป้องกันท้อง แต่ครูต้องแน่ใจว่า เด็กเข้าใจถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งครูอาจถามเด็กตรงๆ ว่าใช้ถุงยางควบคู่ไปรึเปล่า เพื่อจะไม่เสี่ยงต่อโรค ส่วนการสอนเพศวิถีศึกษาในห้องเรียน ครูต้องทำหน้าที่ให้ครบกระบวนการ มีทั้งการตั้งคำถามชวนคิด ชวนเด็กวิเคราะห์ ให้เด็กอภิปรายร่วมกัน ที่สำคัญต้องสรุปบทเรียน ชวนคุยให้จบ ถ้าไม่สรุป เด็กอาจไปต่อแบบไม่ครบถ้วนได้ เมื่อจบกิจกรรม ต้องถามอยู่เสมอว่า... กิจกรรมนี้ นักเรียนได้เรียนรู้อะไร... ซึ่งปลายทางของคำตอบควรเป็นมุมคิดของเด็กที่ประมวลเข้ากับวัตถุประสงค์การ เรียนรู้ครั้งนั้น”
ครูเอียดยก ตัวอย่างการนำวิชาเพศวิถีศึกษาเข้าไปในโรงเรียนสตรีทุ่งสงในระยะต้นว่า โรงเรียนได้เข้าร่วมในโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ช่วงแรกๆ ก็เป็นการลองผิดลองถูก โดยเริ่มจากการสอนแบบสอดแทรก แต่วิธีการนี้ไม่เวิร์คเพราะเป็นเพียงการเล่าเรื่องเรียกน้ำย่อย พอเด็กอยากรู้ก็ได้เวลาต้องเปลี่ยนเป็นวิชาที่ครูจะสอน ทำให้เด็กไม่สนใจ ต่อมาจึงเปิดวิชาเพศวิถีศึกษาเป็นสาระเพิ่มเติม เด็กจะได้เรียนทุกช่วงชั้น โดยมีรองวิชาการสนับสนุน จึงพัฒนาการสอนได้ต่อเนื่อง
“เทคนิคที่ขาดไม่ได้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา คือ หนึ่ง ควรใช้เทคโนโลยีร่วมด้วย ในขณะสอน เช่น มีโปรแกรม PowerPoint ประกอบซึ่งจะทำให้การสอนน่าไม่เบื่อ ครูเองก็ไม่เหนื่อย สอง ต้องใช้ไมค์ เพราะเสียงจะดึงดูดได้มากกว่า สาม ครูต้องทำการบ้านเสียก่อนจึงจะรับมือกับคำถามของเด็กได้ ระหว่างสอนครูต้องลื่นไหลได้ เพราะเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับเราตลอดเวลา ถ้าไม่ถนัดพิมพ์แผนการสอนในแบบของตัวเอง ก็ดาวน์โหลดแผนฯ นั้นออกมาอ่านล่วงหน้า (ดูรายละเอียดตามลิงค์ http://www.teenpath.net/column.asp?columncode=module) ถ้าสอนไปอ่านไปเด็กจะไม่ศรัทธา และในแผนฯ ยังมีตัวช่วยครูในช่อง “คำถามชวนคิด” ที่มีอยู่ในทุกเล่ม (ดูตัวอย่างการใช้คำถามชวนคิด http://www.teenpath.net/content.asp?ID=15791#.UmYBZCb-Ls0) ซึ่งใกล้กับความรู้สึกของเด็ก เรียกได้ว่า โดนใจเขา ครูควรนำมาใช้จะง่ายขึ้น สี่ เตรียมอุปกรณ์กระดาษฟลิปชาร์ท สีเมจิก ปากกา ตั้งไว้เป็นกองกลาง จะใช้เท่าไรหยิบไปได้ เด็กจะเต็มที่ กล้าคิด สนุกตรงที่แข่งกันออกมาเขียนและนำเสนอ ห้า หลังการสอนเราต้องสรุปเพิ่มเติมทุกครั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ให้เขาจบแบบเคลียร์ นั่นคือ ไปให้ถึงจุดประสงค์การเรียนรู้นั้น จนผู้เรียนรู้เหตุผลในทางเลือกของตัวเอง กระบวนการเรียนการสอนจึงจบลงด้วยการยอมรับซึ่งกันและกันที่รอบด้าน ระหว่างความคิดของเพื่อน ครู และตัวเด็กเอง
ครูเอียดเพิ่มเติมว่า ด้วยทัศนะที่เราเชื่อว่าเพศวิถีศึกษาจะช่วยเด็กได้จริง ทำให้ท่าทีในการสอนออกมาอย่างจริงใจ ก่อนสอน ครูจะบอกลักษณะตัวครู ว่าครูเป็นคนอย่างนี้ ขณะเดียวกันก็เช็คความรู้สึกเด็กไปตลอดทางว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการสอน เช่น
“ครูจะใช้คำพูดตรงไปตรงมา เธอรับได้ไหม”
“ครูอยากให้พวกเราเรียนกันอย่างมีความสุขนะ แสดงความคิดได้ มีอะไรไม่ชอบตรงไหนก็บอกครูได้”
ฯลฯ
เมื่อเรา เปิดใจกับเด็กก่อน เด็กจะเชื่อใจเราเพราะเห็นว่าเรากล้าพูดความจริง พอสอนครั้งแรกเสร็จ ครูมักจะถามนักเรียนแต่ละกลุ่มว่า “เป็นตามความจริงหรือไม่ ว่าการเรียนเพศศึกษาเป็นการชี้นำจากครูไหม หรือครูกำลังสนับสนุนให้พวกเธอมีเพศสัมพันธ์ใช่ไหม..” ที่ต้องถาม เพราะเด็กบางคนเคยมองผิดมาก่อน บางคนเข้าใจผิดว่า “เพศศึกษารอบด้าน” คือ “ท่านี้ท่าโน้น” เด็กบางคนถูกผู้ปกครองถามว่าเรียนเพศศึกษาทำไม เราจึงต้องอธิบายว่าเพศวิถีศึกษาประกอบด้วยอะไร มีด้านใดบ้าง เด็กจะเกิดความชัดเจนมากขึ้น
“ครูทั่วไปมีความตั้งใจสูง แต่ไม่มีเทคนิควิธีสอน หากเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้าไป จะช่วยให้การสอนได้ง่ายขึ้น เด็กก็จะผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ตกหล่นด้วย” ครูเอียดทิ้งท้าย