สร้างแกนนำเพศวิถีศึกษา “เพื่อนสอนเพื่อน” ประสบการณ์จากครูสิรินธรราชวิทยาลัย จ.นครปฐม
|
เราเชื่อในประโยชน์เพศวิถีศึกษา |
นิภาดา ดำริห์ รองผู้อำนวยการวิชาการ โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย |
แม้ร่วมโครงการเพศวิถีศึกษาเพื่อเยาวชน (ก้าวย่างอย่างเข้าใจ) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ แต่หนทาง ไม่ง่ายนักที่จะนำ “เพศวิถีศึกษา” เข้าสู่การเรียนการสอน บนข้อจำกัดโรงเรียนที่ให้ความสำคัญด้าน “วิชาการ” จนไม่มีเวลาให้กับ “ทักษะชีวิต” อีกทั้งต้องเผชิญกับความเชื่อของครูบางคนว่า ไม่ต้องสอนก็ได้เพราะธรรมชาติจะสอนเอง หรือบางคนรับปากแต่ไม่สอนจริง นิภาดา ดำริห์ รองวิชาการโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย จ.นครปฐม จึงพยายามหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อที่จะให้เด็กทุกคนได้เรียนวิชานี้
“โรงเรียนเราเป็นสหศึกษา เด็กมักมีพฤติกรรมในเรื่องชู้สาวหลายเรื่อง บางทีก็ดูแลตัวเองไม่เหมาะสมจนทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อย ๆ เราเชื่อในประโยชน์เพศวิถีศึกษา จึงนำคาบคุณธรรมจริยธรรมที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงชั้น สอดแทรกเพศวิถีศึกษาเข้าไปสอน”
โดยช่วงแรกได้ประชุมหัวหน้าระดับให้เป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งงานให้ครูทำกันเอง ยิ่งรู้ว่าบางคนไม่ถนัดในการสอนแบบนี้ จึงเปิดทางกับครูทุกคนว่าจะสอนแบบไหนก็ได้ แต่ขอให้สอนทั้งแผน เช่น แผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ชั้น ม.๔ ประกอบด้วยแผนการเรียนรู้ทั้งหมด ๑๔ แผน ตั้งแต่แผนที่ ๑ สื่อกับภาพลักษณ์วัยรุ่น ไปจนถึงแผนที่ ๑๔ โลกแห่งความหลากหลาย (http://www.teenpath.net/content.asp?ID=1033) เป็นต้น
“ผลปรากฏว่า บางช่วงชั้นจึงออกแบบเป็นฐาน บางชั้นครูจะเวียนสอนคนละแผน โดยให้เด็กสลับกันเข้ามาเรียน ครูบางคนใช้วิธีสอนรวมในหอประชุมใหญ่กับเด็ก ๒๐๐-๓๐๐ คนในคราวเดียว ซึ่งแบบหลังมักไม่ค่อยได้ผล เทียบกับเมื่อจัดเป็นฐาน เด็กจะได้ความรู้มากกว่าเพราะโต้ตอบกับครูได้ทั่วถึงกว่า”
บทเรียนตั้งต้น มองว่ายังไม่ได้งานคุณภาพ ปีถัดมาครูนิภาดา จึงทดลองวิธีใหม่ หวังอุดช่องว่างในวิธีการสอนหลากหลายจากครูหลายคน
“ตอนนั้นคิดขึ้นว่า เด็กกับเด็กเอง น่าจะคุยกันได้ง่าย แม้เด็กเชื่อใจครู แต่ครูก็เข้าไม่ถึงทุกคน และทุกเรื่อง ครั้งนี้จึงทดลองเลือกตัวแทนนักเรียน ม.๑ – ม.๓ มาห้องละ ๓ คน เอาคนที่สมัครใจ คนที่เป็นผู้นำ หัวหน้าแก๊งค์ ปนกับกลุ่มซ่าหลังห้อง รวมได้ประมาณ ๔๐ คน ครูจึงจัดชั่วโมงสอนเด็กกลุ่มนี้ด้วยตัวเองอย่างเข้มข้น สัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา ๑ ปี ส่วนเด็กที่ไม่ได้เป็นตัวแทนมาเข้ากลุ่มนี้ ครูท่านอื่นก็เลือกวิธีการสอนอิสระต่อไป ระหว่างสอนกลุ่มแกนนำนี้ แม้เด็กจะมาจากต่างห้องกัน แต่ก็ไม่มีใครขาดเรียนสักคน และด้วยเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ครูจึงคุยกับเด็กทั่วถึง หลายครั้งที่ครูได้ความรู้จากเด็กด้วย เพราะเป็นแนวการเรียนรู้ที่ไม่มีการชี้ถูกชี้ผิดกัน เด็กสามารถตอบโต้ได้ดี ยิ่งในเรื่องการใส่ถุงยาง การป้องกันตัวเอง เด็กตอบได้ทันที ครูเองก็ได้รู้สถานการณ์ของเด็กคนอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย”
ขณะที่ตนเองพร้อมเพื่อนอีกคนเพิ่งผ่านการอบรมวิทยากรแกนนำ (Master trainer) โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยิ่งจุดไฟความหวังให้ที่อยากสอนแบบเข้มข้นที่ทำให้เห็นเด็กเรียนรู้อย่างได้ผล เมื่อเด็กมีความรู้แล้ว แต่ทำอย่างไรจึงนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการทดลองครั้งนั้น เด็กแกนนำฯ ที่ได้เรียนกับครูอย่างเต็มที่ ช่วยขยายความรู้กับเพื่อนได้มาก ถ้าบางคนเรียนกับครูท่านอื่นที่สอนไม่ต่อเนื่อง หรือเป็นกลุ่มใหญ่เกินไป เพื่อน ๆ จะถามตอบข้อสงสัยกันเอง บรรยากาศโดยรวมในโรงเรียนที่เป็นไปในทางดีขึ้น
“จากแต่ก่อน ชายหญิงชอบกัน ผู้ชายบอกเลิก ผู้หญิงไม่ยอมรับ พอเข้าโรงอาหาร ก็เอาก๋วยเตี๋ยวราดกัน เมื่อเอาเพศวิถีฯเข้าไป ไม่มีทะเลาะวิวาทเรื่องชู้สาวอีก พฤติกรรมนี้หมดเลย หมายถึงเขาเลิกกับเรา เลิกไป ไม่มีใครเป็นใครตาย เราเห็นชัดว่าดีขึ้นในพฤติกรรมชู้สาว เรื่องท้อง ไม่มีอยู่แล้ว และพอมีคนมาดูงาน เขามักถามครูว่าสอนยังไง เด็กถึงคุย เด็กกล้าแสดงออกขนาดนี้ เราบอกว่า เราให้เด็กเขียนแผ่นชาร์ตตลอด ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น จึงได้รับคำชมเชยอยู่บ่อย ๆ ว่า เด็กที่นี่กล้าพูด กล้าคิดจริง ๆ
เมื่อการทำงานลงตัว ผู้บริหารโรงเรียน ได้สนับสนุนส่งครูใหม่เข้าอบรมเพศวิถีฯ อย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นความสำคัญของวิชานี้ ซึ่งเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ที่มีครูรุ่นใหม่หมุนเวียนเข้ามาแต่โรงเรียนก็ไม่เคยทิ้งวิชาเพศวิถีศึกษาเลย