ครูโชว์คะแนน “นักเรียนที่แสดงความเห็น” ขึ้นจอ ดึงเด็กใส่ใจ กล้าตอบคำถาม
|
ยุคนี้ ถ้าใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ |
อนุชา ประคอง วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง |
การให้คะแนนนักเรียนในแนว Child centered ที่ไม่ใช่วิชานั่งจดคำบรรยายในวิชาเพศวิถีศึกษา ครูจะใช้การสังเกตพฤติกรรมของเด็กในห้องเป็นหลัก กระตุ้นให้เด็กกล้าออกความเห็น กล้าเปิดเผยเรื่องราวเล่าให้เพื่อนฟัง ซึ่งมักยุ่งยากตอนให้คะแนน เพราะเด็กบางคนพูดเก่ง บางคนพูดน้อย เฉย เงียบ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ครูจะจำพฤติกรรมของเด็กทั้งชั้นเรียนราว ๔๐ คนได้หมด ซึ่งอาจารย์อนุชา ประคองวิทยา แห่งวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง จึงคิดเครื่องมือช่วยขึ้น
“ผมลองทำโปรแกรมบันทึกความก้าวหน้าของเด็กขึ้นมา เป็นตารางที่มีชื่อเล่นเด็ก ช่องใส่คะแนน “การแสดงความเห็น” ในแต่ละชั่วโมงที่จัดกระบวนการเรียนรู้ เมื่อเด็กยกมือตอบ ครูจะคลิกคะแนนโชว์ขึ้นบนจอ ตัวเด็กเองจะได้เห็นคะแนนพร้อมกับเพื่อน เช่น คนไหนให้ความคิดเห็นดี ให้ ๓ คะแนน เปิดประเด็นเป็นประโยชน์ ๓ คะแนน คนนี้นั่งเฉยๆ ฟังเพื่อนอย่างเดียว ๑ คะแนน พอท้ายชั่วโมงจะรวมคะแนนพฤติกรรมเด็กแต่ละคนโชว์ขึ้นมา สัปดาห์ถัดมา เด็กที่คะแนนน้อยจึงขอพูดบ้าง ไม่ว่าจะถามกวนๆ หรือแซวกัน เราจะถือว่าเป็นการเปิดประเด็นได้ เพราะครูตกลงกับเด็กไว้ก่อนว่าทุกคนมีสิทธิ์ถ่ายทอดประสบการณ์ออกมา เพื่อนในห้องจะเก็บเกี่ยวไปเอง และทุกคะแนนต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ทั้งห้องยอมรับ”
พอนำเพศวิถีศึกษาเข้ามาในวิทยาลัยเมื่อปี ๒๕๕๒ ครูอนุชาซึ่งแต่เดิมสอนพลศึกษาอย่างเดียว ก็มีภาระเพิ่มเข้ามาและพบปัญหาเรื่องการบันทึกคะแนนเด็ก พอใช้วิธีจดใส่กระดาษ ก็มักจดไม่ทันว่าใครพูดบ้างเพราะตอบกันทีละหลายคน ไม่เที่ยงตรง เมื่อเปลี่ยนเป็นวิธีนี้ จึงเห็นว่าได้ผลดี ให้คะแนนง่ายขึ้นใช้เป็นตารางเช็คชื่อเด็กในคราวเดียวกัน
ไม่ว่ากรณีอภิปรายกลุ่ม หรือส่งรายงาน ก็ใช้ร่วมด้วยได้ แต่ต้องตกลงกับเด็กไว้ก่อนว่าครูมีระบบคะแนนอย่างไร เช่น ใครส่งการบ้านช้า จะถูกหักคะแนนตรงต่อเวลา ๒ คะแนน ฯลฯ
“มีบ้างที่เด็กแย้งขึ้นมา ส่วนใหญ่ท้วงว่า อาจารย์ลืมผม ลืมหนู เราจะถามในห้องยอมรับไหม จากการใช้โปรแกรมนี้มา ๒-๓ ปีทำให้มองเห็นว่า เด็กขยันมาเร็ว สมัยก่อนใช้กระดาษบันทึก เด็กมาไม่ครบ ขาด ๆ หาย ๆ เพราะเขาไม่เห็นพัฒนาการของตัวเอง พอใช้วิธีนี้ปุ๊บเด็กมาแน่นห้อง เขาจะเริ่มขยันหาคะแนนกันมากขึ้น ยิ่งพอถึงสัปดาห์ประมวลคะแนน เด็กที่คะแนนน้อย หรือไม่ค่อยมาได้เห็นผลคะแนนก็จะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม พูดบ้าง ขยันตอบ ขยันทำความดีมากขึ้น”
วิชาเพศวิถีศึกษา จะง่ายสำหรับโปรแกรมนี้เพราะมีแผนการสอนชัดเจน ทำให้สะดวกต่อการวางโปรแกรมในแต่ละหมวด ครูอนุชาได้ใช้และทดลองปรับปรุงโปรแกรมเรื่อยมา ซึ่งช่วยลดภาระงานได้มาก เช่น โปรแกรมจะมีระบบบันทึกว่า สัปดาห์นี้ ห้องนี้ กิจกรรมเป็นอย่างไร การบ้านมีไหม คราวที่แล้วสั่งการบ้านอะไร ถ้ามีสื่อประกอบก็ลิงค์เข้าไปได้ ไม่ต้องหา หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที
“ยุคนี้ ถ้าใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์จะช่วยประหยัดเวลาได้ แต่ต้องออกแบบให้ตรงกับพฤติกรรมการสอนของเรา ขณะนี้ผมใช้โปรแกรมนี้กับทุกวิชา เราสอนไปเรื่อยๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนหน้าตาให้ดึงดูดเด็ก เพิ่มความเร็วของการโหลด หาสื่อใหม่ๆ เพิ่มเข้าไป ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ถ้าคนใช้ไม่ถนัด ก็เป็นการสูญเปล่า”
ใครสนใจรายละเอียดของโปรแกรมนี้ อาจารรย์อนุชายินดีแนะนำการใช้ ติดต่อได้ที่ anucha_nicdon@hotmail.com