อาจารย์อาชีวศึกษาเผยหลังจากใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนอาชีวะ ๑ ภาคเรียน ชี้เด็กได้ทบทวนตัวเองและพัฒนาทักษะการเขียน แต่ยังต้องปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมก่อนนำไปขยายผล
จากการที่อาจารย์จากวิทยาอาชีวศึกษา ๒๔ แห่ง ใน ๑๗ จังหวัด ได้อบรมเป็นวิทยากร เมื่อวันที่ ๒๒-๒๔ เม.ย. ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น และได้นำชุดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้จากโครงการพัฒนาชุดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับเยาวชนอาชีวศึกษาไปทดลองนำร่องใช้กับนักเรียนในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ นั้น
เมื่อวันที่ ๑๐ ต.ค. นางวทัญญู อุทุมพร อาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม จ.นครปฐม กล่าวในการประชุมสรุประสบการณ์การใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับเยาวชนอาชีวศึกษา ระหว่างวันที่ ๙-๑๐ ต.ค. ณ โรงแรงกานต์มณี พาเลซ ว่า เธอได้นำชุดกิจกรรมที่ ๓ วิจารณญาณไปใช้กับนักเรียน ปวช. ปี ๒ ในชั่วโมงวิชาความปลอดภัย โดยหลังจากนำไปใช้ต่อเนื่องกัน ๖ คาบเรียน พบว่าเด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ โดยกิจกรรมและสื่อที่นำมาใช้ ทำให้นักเรียนได้ทบทวนตนเองว่าเขามีความต้องการอะไร ยังบกพร่องตรงไหน เช่น มีการใช้ความรุนแรงหรือมีอารมณ์ชั่ววูบหรือไม่ นอกจากนี้ในการเขียนตอบคำถามหรือเขียนงานส่งตอนท้ายกิจกรรม ยังทำให้เด็กๆ ได้แสดงความเห็นและทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการเขียนให้เด็กๆ อาชีวะด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการจัดการเรียนรู้เช่นนี้ อาจารย์จะต้องเตรียมตัวอย่างดี ทั้งเรื่องการตรวจสอบเนื้อหาของชุดกิจกรรม เพราะในบางครั้งคำถามเข้าใจยาก และไม่เหมาะกับนักเรียนที่วิทยาลัย รวมถึงการตรวจสอบสื่อวิดีโอที่ต้องเปิดให้นักเรียนดูว่ามีความชัดเจนหรือไม่ และสิ่งที่ยังติดขัดอย่างหนึ่งคือ เรื่องระยะเวลาไม่เพียงพอกับการใช้กิจกรรมแต่ละครั้ง ทำให้นักเรียนอาจทำกิจกรรมได้ไม่ครบสมบูรณ์
ด้านว่าที่เรือโทเฉลิมพล บุญฉายา อาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวบริหารธุรกิจสงขลา จ.สงขลา กล่าวว่า หลังจากทำกิจกรรมในห้องเรียนแล้ว ได้ให้เด็กเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเขาว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งแรกๆ เด็กมักจะเขียนว่าได้ความสนุกสนาน อาจารย์สอนสนุก แต่หลังจากนั้นเด็กเริ่มมีความเห็นในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ชัดเจนขึ้น แม้ในบางครั้งความเห็นจะคล้ายของเพื่อนที่แสดงไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เด็กได้ทบทวนจากความเห็นของเพื่อนๆ ขณะที่งานเขียนที่เด็กส่งมาให้ท้ายกิจกรรมนั้น ทำให้อาจารย์รู้ว่าเด็กคนไหน ควรจะต้องดูแลเป็นพิเศษด้วย
นางสุจิตรา โปร่งแสง หน่วยศึกษานิเทศก์ ผู้พัฒนาโครงการฯ กล่าวว่า จาก ๒๔ วิทยาลัยที่นำชุดกิจกรรมไปใช้นั้น มีเพียง ๑๒ วิทยาลัยที่นำไปใช้กับนักเรียนจริงๆ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากอาจารย์มีชั่วโมงสอนเยอะ ไม่สามารถแบ่งเวลานำชุดกิจกรรมไปใช้ได้ ซึ่งการนำไปใช้ไม่ครบดังกล่าว ส่งผลกระทบกับการสรุปผลในบางชุดกิจกรรมเท่านั้น เช่น ชุดที่ ๖ เส้นทางชีวิต จะมีอาจารย์เพียงคนเดียวที่นำมาผลการใช้มาเสนอ อย่างไรก็ตามจากการแลกเปลี่ยนการใช้ชุดกิจกรรมทั้ง ๖ ชุดนั้น พบว่ายังมีข้อบกพร่องในเรื่องโจทย์หรือคำถามที่ต้องปรับให้ชัดเจน และเหมาะสมกับเด็กอาชีวะมากขึ้น เช่น คำถามควรตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน รวมถึงการที่ครูยังมีทักษะการจัดการเรียนรู้น้อย ทำให้ยังติดขัดและจัดการเรียนการสอนในห้องไม่ราบรื่น ทาง สมอ. เองก็อาจจะช่วยเหลืออาจารย์ด้วยการลงพื้นที่ติดตามการสอนของอาจารย์ เพื่อให้คำแนะนำข้อควรเพิ่มเติม
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานต่อไปจะเป็นการปรับปรุงเนื้อหาชุดกิจกรรม ตามข้อเสนอแนะของอาจารย์หลายๆ จากการประชุมสรุปประสบการณ์ครั้งนี้ โดยทางมูลนิธิแพธทูเฮลท์ หนึ่งในผู้พัฒนาโครงการฯ จะเป็นผู้ดูแลต่อไป ขณะเดียวกันก็จะขยายการอบรมอาจารย์อาชีวศึกษาเพื่อเป็นวิทยากรใช้ชุดกิจรรมนี้อีก ๘๐ แห่ง ในช่วงเดือน พ.ย.