หนังสั้นเรื่อง “โอเคอะเหรอ” จากนิสิตนิเทศฯ จุฬาฯ ปี 3 คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการหนังสั้น “Living in Harmony: อยู่ร่วมในความต่าง” ด้านกรรมการชี้ หนังสั้นในโครงการฯ ย่นระยะเวลาการยอมรับการอยู่ร่วมในความต่างให้สั้นลง
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (path2health foundation) ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (World Health Organization Thailand) ได้จัดงานแสดงหนังสั้นและประกาศรางวัลโครงการประกวดหนังสั้น “Living in Harmony: อยู่ร่วมในความต่าง” ณ โรงภาพยนตร์ House Rama RCA ซึ่งมีหนังสั้นที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 10 เรื่อง โดยหนังสั้นดังกล่าวมีเป้าหมายเสริมสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ท่ามกลางบริบทความหลากหลายทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ
หนังสั้นที่ได้รับรางวัลหนังสั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ เรื่อง “โอเคอะเหรอ” โดย น.ส.จิดาภา รัตน โสภินสวัสดิ์ และ น.ส.ฐานิสรา เพ็ชรรื่น นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องราวของ “บิว” ที่ได้กล้องวิดีโอตัวใหม่มา และไม่พลาดที่จะทดสอบกล้องด้วยการบันทึกภาพของ “แพน” เพื่อนสาวมาตลอดทั้งวัน กระทั่งในตอนค่ำของวันนั้น เมื่อตั้งใจดูวิดีโอทั้งหมดที่ถ่ายมา เขาได้พบ “บางสิ่ง” ของเพื่อนสาว พร้อมกับคำถาม “บางอย่าง” ในใจ
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่เรื่อง “หม่าเอ๊” โดยนายณัฐภัทร ไกรตรวจพล และนายณัฐพล ทะนะเบะ บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ เรื่อง “2…3000” โดยนายตฤณพัฒน์ คงรอด นายณัฐชา นิ่มนวล และนายพีรพัฒน์ รักงาม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลราษฎร์อำรุง นอกจากนี้รางวัลหนังสั้นขวัญใจมหาชน ได้แก่เรื่อง “Behind the Harmony” โดยนายคณิน พรรคติวงษ์ และน.ส.พีรดา อธิคมบัณฑิตกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
น.ส.จิดาภา กล่าวว่า หนังสั้นเรื่อง “โอเคอะเหรอ” พยายามตั้งคำถามกับคนดูว่าในสิ่งที่เราบอกว่า โอเค ไม่มีปัญหา ปกติดีในเรื่องการอยู่ร่วมกับความหลากหลาย แท้จริงแล้วเราโอเคแน่หรือ โดยหนังได้ถ่ายทอดทัศนคติหรืออคติบางอย่างที่คนแสดงออกมาอย่างไม่ทันรู้ผ่านเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวัน
“หนังสั้นเรื่องหนึ่งอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติคนดูได้ในทันที แต่บางเรื่องจะสามารถตั้งคำถามให้คนดูได้คิดต่อ ได้ทบทวนกับตัวเองได้ และเราหวังว่าโอเคอะเหรอจะได้ทำหน้าที่นั้น” น.ส.จิดาภากล่าว
ด้านนายเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ตัวแทนเยาวชน จากกลุ่ม Youngfilm หนึ่งในคณะกรรมการโครงการฯ กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ “ความหลากหลาย เยาวชน และหนังสั้น จะสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างไร” ว่า เมื่อเยาวชนได้เข้ามาทำหนังซึ่งไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้เขาได้พูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด และในประเด็นการยอมรับใครสักคนที่ต่างจากเราเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หนังสั้นในโครงการนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความเมตตาหรือการยอมรับ เราไม่ควรวัดว่าเราปฏิบัติอย่างไรกับคนที่เหมือนกับเรา แต่ควรวัดว่าเราปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ต่างจากเรามากกว่า
“ผมคิดว่าการอยู่ร่วมบนความต่างเราคงไม่ได้เห็นเร็วๆ นี้ แต่เชื่อว่าหนังที่เยาวชนทำกันในครั้งนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการยอมรับเหล่านั้นให้สั้นลงได้” นายเปรมปพัทธกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมหนังสั้น ทั้ง 10 เรื่อง ได้ที่ www.teenpath.net