“คุยเรื่องเพศกับพระ”ประจำเดือนตุลาคม เดือนนี้พบกับบทความแปลอีกครั้ง ชื่อบทความ “ศาสนากับเพศ” เป็นบทความที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียนวิชา Religion and Sociology (ศาสนากับสังคมวิทยา) ของห้องเรียนคณะพุทธศาสตร์ ปี 3 เทอม 2 เอกปรัชญา ภาคอินเตอร์เนชันแนล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตวังน้อย พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยผู้เขียนได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้สอนคือ ดร.ชัยชาญ ศรีหานู ให้เขียนบทความเกี่ยวกับศาสนากับประเด็นเรื่องเพศเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของการเรียนวิชาดังกล่าว
บทความนี้เดิมเป็นภาษาอังกฤษถูกแปลเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ในคอลัมน์ “คุยเรื่องเพศกับพระ” เป็นครั้งแรก
ศาสนากับเพศ
เขียนและแปลโดย พระวรธรรม
เมื่อพูดถึง “ศาสนากับเพศ” คุณนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ?
เพศเป็นเรื่องของกิเลส ตัณหา อกุศล สิ่งสกปรกที่ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกับศาสนา
ก่อนที่เราจะเข้าไปศึกษาเรียนรู้เรื่อง “ศาสนากับเพศ” เราควรทราบเสียก่อนกว่า “เพศ” ไม่ใช่คำเดียวโดด ๆ แต่คำว่า “เพศ” มาพร้อมกับคำอีกสามคำ คือ เพศภาวะ เพศสภาพ และ เพศวิถี
เพศหมายถึง อวัยวะเพศ สังคมแบ่งคนออกเป็นสองเพศคือ เพศชาย กับ เพศหญิง หากคุณมีอวัยวะเพศเป็นช่องเรียกว่า “ผู้หญิง” หากคุณมีอวัยวะเพศเป็นท่อนเนื้อเรียกว่า “ผู้ชาย” ในขณะที่ใครบางคนอาจแตกต่างออกไป บางคนอาจมีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน เขาหรือเธออาจมีทั้งสองแบบในคน ๆ เดียวทั้งแบบเป็นช่องและแบบเป็นท่อนเนื้อ คน ๆ นั้นถือว่าเป็น “คนสองเพศ” มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่ใครบางคนจะเกิดมามีลักษณะเช่นนั้น ในสังคมเรามีเพศต่าง ๆ มากมายหลากหลายไม่ใช่แค่เพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น
เพศภาวะ หรืออีกคำหนึ่งคืออัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลว่าเขาหรือเธอเป็นเพศอะไร เขารู้สึกว่าเขาเป็นเพศชาย เธอรู้สึกว่าเธอเป็นเพศหญิง นั่นเรียกว่า “เพศภาวะ” หรือเขาอาจจะรู้สึกว่าเขาเป็นกะเทย ในขณะที่เธอรู้สึกว่าเธอเป็นทอม นั่นก็เป็น “เพศภาวะ”หรือ “อัตลักษณ์ทางเพศ”
เพศสภาพหมายถึงการแสดงออกของบุคคลต่อการแสดงออกทางการแต่งตัวหรือทางบุคลิกภาพ เช่น ผู้ชายสวมกางเกงเพื่อแสดงออกว่าเขาเป็นเพศชาย ผู้หญิงสวมกระโปรงเพื่อแสดงออกว่าเธอเป็นเพศหญิง หรือผู้ชายสวมกระโปรงเพื่อแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงของตนเอง หรือผู้หญิงสวมกางเกงยีนส์เพื่อแสดงออกถึงความเป็นผู้ชายในตัวเองก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือการพูดมีหางเสียง คะ ขา ครับผม การแต่งหน้าทาเล็บ เหล่านี้คือเพศสภาพ คือ การแสดงว่าเป็นเพศใดผ่านบุคลิกภาพ
แต่คำว่าเพศสภาพมักมาพร้อมกับความคาดหวังของสังคมที่มักจะสวนทางกัน
ยังไงล่ะ?
สังคมมักคาดหวังให้คนมีเพศสภาพตามเพศของตนโดยปราศจากการคำนึงถึงว่า “พวกเขาอยากเป็นเพศอะไร” ยกตัวอย่าง สังคมคาดหวังให้ผู้ชายสวมกางเกง สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงสวมกระโปรง สังคมคาดหวังให้ผู้ชายออกไปนอกบ้านทำงานหาเงิน แล้วคาดหวังให้ผู้หญิงอยู่กับบ้านเข้าครัวทำอาหาร
แต่คำว่า “เพศสภาพ” โดยตัวมันเองแล้วกลับเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ใด ๆ จะมากำหนดควบคุม ผู้ชายจะสวมกระโปรงหรือจะเข้าครัวทำอาหารก็ได้ ในขณะที่ผู้หญิงจะสวมกางเกงแล้วออกไปหางานทำนอกบ้านก็ได้ ดังนั้นเพศสภาพจึงเป็นเรื่องของการแสดงออกความเป็นเพศผ่านกายภาพ
เพศวิถี หมายถึง กิจกรรมทางเพศ หมายความว่าคุณมีเพศสัมพันธ์กับใคร กับผู้ชายหรือกับผู้หญิงหรือกับเพศอื่น ๆ กับคนหนึ่งคน กับคนสองคน หรือมากกว่านั้น หรือทำโดยลำพังเพียงคนเดียว ทำด้วยวิธีการอย่างไร เป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือเพียงแค่การเล้าโลมเฉย ๆ ไม่มีการสอดใส่ หรือทำกับผลไม้ ฯลฯ ทั้งหมดนั้นคือการนำตัวเองไปสู่ความรื่นรมย์ทางเพศ นั่นเรียกว่าเพศวิถี
เพศ เพศภาวะ เพศสภาพ และเพศวิถี แท้จริงแล้วสี่คำนี้ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กัน แต่ละคำมีความเป็นอิสระต่อกัน ยกตัวอย่าง บุคคลคนหนึ่งมีอวัยวะเป็นท่อนเนื้อยื่นออกมาก็แปลว่าเขาเป็นเพศชาย แต่เขารู้สึกว่าตนเองเป็นเพศหญิง เขาชอบสวมกระโปรงเพื่อแสดงออกถึงความเป็นหญิง แต่เขาก็มองหาหญิงเพื่อจีบและมีเพศสัมพันธ์ด้วย นี่เป็นตัวอย่างของ เพศ เพศภาวะ เพศสภาพ เพศวิถี ที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กัน มันไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก
หลังจากที่เราเรียนรู้และเข้าใจความหมายของคำว่า เพศ เพศภาวะ เพศสภาพ เพศวิถี ไปแล้ว คราวนี้เราไปที่หัวข้อเรื่อง “ศาสนากับเพศ” มันเป็นไปได้ที่ศาสนามีแนวโน้มที่จะพิพากษาตัดสินว่าเพศเป็นเรื่องสกปรก เพศเป็นเรื่องของกิเลส ตัณหา ราคะ เป็นอกุศล หรือเป็นปิศาจร้าย เนื่องจากคำสอนของศาสนาทั้งหลายต่างนิยามเพศว่าเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความจริง หรือเพศเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพระเจ้า เมื่อเพศถูกนิยามว่าเป็นอุปสรรคก็มีแนวโน้มว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรกไปในทันทีโดยปราศจากการตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งว่าเพศก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะเหตุว่าประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของศาสนาหลักในโลกมักเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งออกไปค้นหาความจริงหรือออกไปพบกับพระเจ้า เขาเข้าไปในป่า ไปบนภูเขา หรือเข้าไปในถ้ำเพื่อพบกับพระเจ้า หลังจากเขาค้นพบสัจธรรมหรือพบกับพระเจ้าแล้วเขาก็กลับมาบอกผู้คนให้เชื่อและปฏิบัติตามเพื่อเข้าถึงความจริงหรือเข้าถึงพระเจ้า เขานำแนะให้ละทิ้งความปรารถนาทางเพศหรือละทิ้งกิจกรรมทางเพศออกไปจึงจะเข้าถึงความจริงหรือเข้าถึงพระเจ้า นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเพศกลายเป็นเรื่องสกปรกในมุมมองของศาสนานับแต่นั้นมา
คัมภีร์ของศาสนาหลักต่าง ๆ เหล่านั้นมักอธิบายว่าความปรารถนาทางเพศเป็นหนทางของปิศาจ ดังนั้นหลังจากที่คนมีความสุขทางเพศจึงมักรู้สึกแย่หรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง บางคนก็รู้สึกว่าเป็นบาป ถึงแม้พวกเขาจะเป็นฆราวาสแต่นี่เป็นอิทธิพลของคำสอนศาสนาที่มีผลทางด้านจิตใจของผู้คน
ในสหรัฐอเมริกา เกย์ เลสเบี้ยน กะเทย ทอม ถูกปฏิเสธจากโบสถ์เพราะสิ่งที่พวกเขาเป็นถูกบอกว่าเป็นบาป วัยรุ่นชายหญิงมักถูกตำหนิหากพวกเขาสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง บางคนถูกศาสนาปฏิเสธ รู้สึกแย่และรู้สึกว่าตนเองเป็นบาปอันเป็นผลมาจากคำสอนในศาสนา
ในประเทศที่เป็นเมืองพุทธแบบเถรวาทหรือแม้แต่ประเทศไทยก็มีการปฏิเสธผู้หญิงมิให้เข้ามาบวชเป็นภิกษุณี มันไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยแต่เป็นเรื่องของ “เพศภาวะความเป็นหญิง” ซึ่งสังฆะไม่ยอมรับ เพศหญิงถูกคาดหวังให้ทำงานในครัว เพศหญิงไม่ได้ถูกคาดหวังให้มีส่วนร่วมในศาสนาถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะยอมรับให้ผู้หญิงบวชได้ก็ตาม ในที่สุดผู้หญิงก็ถูกละเลย
คนสองเพศและคนที่มีอวัยวะเพศกำกวมก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการบวชเป็นพระภิกษุได้อย่างที่เพศชายได้รับการสนับสนุน พวกเขารู้สึกแย่กับตัวเองผ่านคำสอนศาสนาเมื่อศาสนาบอกว่าพวกเขาคือผลกรรมอันเลวร้ายจากอดีตชาติ
เมื่อเราเข้าไปสำรวจระบบโครงสร้างในศาสนาเราพบว่าในระบบโครงสร้างของศาสนาต่าง ๆ เหล่านั้นมีเพศชายนั่งอยู่บนตำแหน่งที่สำคัญสูงสุดของศาสนา เพศชายทำหน้าที่ควบคุมศาสนา เขาอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดและเป็นผู้นำของศาสนา ดังนั้นเพศชายจึงเข้าไปจัดการ ควบคุม สรรสร้าง และให้ความหมายศาสนาในแบบที่พวกเขาต้องการ
ไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดผู้หญิง เกย์ กะเทย จึงถูกปฏิเสธจากเขตแดนของศาสนา ทำไมเกย์ เลสเบี้ยน จึงถูกห้ามเข้าไปมีส่วนร่วมในโบสถ์คริสต์ ทำไมเพศสัมพันธ์ของเกย์จึงกลายเป็นเรื่องผิดบาปในชุมชนอิสลาม ทำไมคนสองเพศจึงถูกปฏิเสธจากสังฆะของชาวพุทธ ทำไมศาสนาจึงตำหนิติเตียนเพศวิถีของฆราวาส เหตุใดศาสนาจึงไม่สนับสนุนจิตวิญญาณด้านในของมนุษย์ในเรื่องเพศวิถี แต่กลับทำลายมันด้วยการกล่าวตำหนิติเตียนเพศวิถีของมนุษย์
บางที “เพศ” อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องสกปรกด้วยตัวมันเอง แต่เป็นเพราะการถูกให้ความหมายว่าเพศเป็นเรื่องสกปรกโดยบุคคลที่บริหารจัดการอยู่ในศาสนานั่นเอง
คุณคิดอย่างไร?