“Vessel น่าจะเป็นหนังสารคดีที่ทำให้คนดูเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นเรื่องยากลำบากเพียงใดหากผู้หญิงคนหนึ่งต้องการยุติการตั้งครรภ์ และน่าจะทำให้คนดูที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของการทำแท้งได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าการทำแท้งเป็นเรื่องของการตัดสินใจของแต่ละคน ไม่มีใครเข้าไปคิดแทนใครได้และไม่มีใครตัดสินใครได้ นอกจากคนที่ตั้งท้องจะต้องเป็นคนตัดสินใจด้วยตนเอง”
Vessel ฉายในกรุงเทพฯ 3 ครั้ง ครั้งแรกฉายที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ 2 รอบ ครั้งที่สองฉายที่งานประชุมเพศวิถีศึกษา โรงแรมแอมบาสเดอร์ ครั้งที่สาม ฉายที่ร้านกาแฟLet’s Sayอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่วนครั้งที่สี่ฉายที่เชียงใหม่ สองครั้งแรกเป็นการฉายในห้องประชุมใหญ่ ส่วนครั้งที่สามฉายในห้องเล็ก ๆ ที่คนดูนั่งกับพื้นและร่วมสนทนากันทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์มากยิ่งขึ้น
วันนี้เราคงไม่ได้มาคุยเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ แต่เราจะเก็บตกบางประเด็นที่น่าสนใจจากการสนทนาที่ร้านกาแฟ Let’s Say อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อตอนบ่ายของวันอาทิตย์ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งมีผู้เข้าชมและร่วมสนทนาประมาณ 30 ท่าน มีการแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกและเรื่องราว โดยชมพู่ สุพีชา เบาทิพย์ ผู้หญิงที่ทำงานให้คำปรึกษาประเด็นท้องไม่พร้อมผ่านบล็อกของเธอ กับอาตมาพระวรธรรม และผู้ดำเนินรายการอีก 1 ท่าน นำการสนทนาไปเรื่อย ๆ แต่ไม่เรื่อยเปื่อย
ชมพู่ชวนให้ผู้เข้าร่วมสนทนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของหนัง นำไปสู่การสนทนาที่ลื่นไหลจนเกือบจะไม่ต้องมีใครกำกับมีหลายประเด็นน่าสนใจทีเดียวเราขอเก็บมานำเสนอ ดังต่อไปนี้:
1.) มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งถามอาตมาตรง ๆ ว่า “หากมีหญิงตั้งครรภ์มาปรึกษาหลวงพี่ว่าเธอต้องการจะทำแท้ง การทำแท้งจะเป็นบาปอะไรหรือไม่ หลวงพี่จะตอบเธอว่าอย่างไร”
ในการให้คำปรึกษาเราจะไม่ตอกย้ำเรื่องบาปกรรม แต่จะพยายามให้ผู้มาขอคำปรึกษาได้ชั่งน้ำหนักและตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเลือกทางไหน อะไรเป็นทุกข์ของผู้มาขอคำปรึกษาที่เร่งด่วนที่สุด เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหน จะทำแท้งหรือเก็บเด็กไว้ต่างก็เป็นทุกข์ทั้งสองทาง เราจะให้เธอเลือกและตัดสินใจให้ดี
ชมพู่ช่วยเสริมว่า จากการทำงานให้คำปรึกษากับผู้ที่ท้องไม่พร้อม ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมตัดสินใจทำแท้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นบาปอยู่แล้ว ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาเราจะให้คำปรึกษาที่ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งเร่งด่วนของเธอคืออะไรโดยไม่ตอกย้ำให้เธอรู้สึกผิดบาปกับสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจเลือก
หลังเสวนาจบมีผู้เข้าร่วมสนทนาอีกท่านถามข้าพเจ้าหลังเวทีว่า
“การที่เราไม่ตอบหรือไม่พูดตรง ๆ ว่าเป็นบาปถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงไม่พูดว่าเป็นบาปหรือเปล่า?” เป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว อาตมาขอตอบเพิ่มเติมตรงนี้ว่า
ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกเสียก่อนว่ามีความแตกต่างระหว่าง “การประณาม” กับ “การให้ความรู้” เวลามีการพูดว่า “ทำแท้งเป็นบาป” มักเป็นการ “ประณาม” มากกว่าจะเป็นการให้ความรู้
เมื่อตัวอสุจิผสมกับไข่ ทำให้เกิดปฏิสนธิ นำไปสู่การเกิดวิญญาณ นาม-รูป ตัวอ่อนก็จะเข้าไปฝังตัวในผนังมดลูก ชีวิตก็เกิดขึ้นในตอนนั้น
การทำแท้งคือการนำเอาตัวอ่อนออกมาจากมดลูกของสตรีเพื่อมิให้ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไปในอนาคต เมื่อเราทำการยุติ มิให้ตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่ในมดลูกเจริญเติบโตต่อไป จึงเป็นบาปเพราะในทางธรรมเราถือว่าชีวิตได้เกิดขึ้นแล้ว (มีชีพจร มีการหายใจ) จึงส่งผลให้เป็นกรรม แต่เราต้องเข้าใจว่าบาปหรือกรรมก็เป็นภาวะที่ไม่ได้คงที่ตลอดเวลา มันมีลักษณะเป็น “พลวัต” ที่ไม่ได้หยุดนิ่ง แปรสภาพตลอดเวลาทุกวินาที นั่นก็คือความหมายของ “ไตรลักษณ์” นั่นเอง (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) นั่นหมายความว่าการให้ผลของกรรมก็มีวันสิ้นสุดและแปรเปลี่ยนไป
ดังนั้น หากกรรมจะสนองผลต่อเราในฐานะที่เราเป็นผู้ทำแท้ง เราก็ควรพร้อมจะยอมรับภาวะอันไม่เที่ยงอันนั้นซึ่งเป็นผลการกระทำของเราเอง กรรมจากการทำแท้งก็มีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าเราได้สร้างกรรมดีตัวอื่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ การทำความดีจะเป็นตัวแปรทำให้กรรมแปรสภาพเร็วขึ้น
แต่อะไรก็คงไม่สำคัญเท่าภาวะซึมเศร้าที่ตามมาหลังทำแท้ง ซึ่งเราจะกล่าวต่างหากต่อไปใน ข้อ (4.) ของบทความนี้
อาตมามองว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมนักที่เราชอบประณามผู้หญิงที่ทำแท้ง ยกตัวอย่างเวลาที่เราเห็นภาพซากศพเด็กทารกที่ถูกทิ้งตามที่สาธารณะที่มีคนถ่ายเป็นคลิปหรือถ่ายภาพมาลงในสังคมออนไลน์ แล้วผู้คนก็จะรุมประณามหยามเหยียบสาปแช่งผู้หญิงที่ทำแท้งว่าเป็นแม่ใจมาร เด็กใจแตก ฯลฯ
เราน่าจะมองผู้หญิงด้วยความเข้าอกเข้าใจมากขึ้นว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบและวิตกกังวลตลอดเวลาว่าเพศสัมพันธ์ที่บังเอิญไม่ได้ป้องกัน (หรือป้องกันแล้วแต่พลาด) จะทำให้เธอตั้งครรภ์หรือไม่ หากตั้งครรภ์ขึ้นมาฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเต็ม ๆ แต่เพียงผู้เดียวไม่ว่าเธอจะตัดสินใจทำแท้งหรือไม่ทำแท้งก็ตาม นี่จึงเป็นคำตอบว่าหากผู้หญิงคนหนึ่งท้องไม่พร้อมขึ้นมาเธอควรมีโอกาสตัดสินใจด้วยตนเองว่าเธอจะเลือกทางไหน
2.) จึงเป็นคำถามตามมาจากผู้เข้าร่วมเสวนาว่า แล้วชีวิตของตัวอ่อนหรือทารกล่ะ เราไม่ต้องสนใจเลยหรือ
อาตมาขอนำคำกล่าวของพระเซ็นนาม ติช นัท ฮันห์ มาเป็นข้อคิด ท่านกล่าวไว้ว่า เวลาเราชมสารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์มีภาพของเสือไล่ขย้ำสัตว์อื่นเป็นอาหาร เราจะสงสารใครดี? เราควรสงสารสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อแล้วเข้าไปห้ามเสือมิให้กัดกินสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นแล้วเสือจะมีชีวิตอยู่อย่างไร? ในที่สุดเราไม่อาจยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งได้ เราก็ต้องสงสารทั้งสองฝ่าย สงสารทั้งเสือ สงสารทั้งสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อที่ต่างฝ่ายต่างตกอยู่ในสังสารวัฏที่หลีกหนีการเบียดเบียนกันไปไหนไม่พ้น
ข้อนี้ก็คล้ายๆ กัน เราคงสงสารผู้หญิงฝ่ายเดียวไม่ได้ เราก็ยังต้องสงสารชีวิตของตัวอ่อนที่ต้องถูกยุติการเจริญเติบโต ถ้าเรามีความเข้าใจชีวิต เข้าใจการถือกำเนิด เข้าใจผู้หญิงอย่างเพียงพอ และเข้าใจความเป็นไปของสังสารวัฏ เราก็จะมาถึงจุดที่เรียกว่าเราไม่อาจตัดสินได้ว่าใครผิดใครถูก ในที่สุดเราก็ต้องให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายตัดสินใจเลือกทางเดินด้วยตัวของเธอเอง และเราไม่ควรประณามในสิ่งที่เธอเลือก
3.) อะไรคือบาปในความหมายที่แท้จริง
ทีนี้เราก็มาถึงความหมายว่าอะไรเป็น “บาป” ที่แท้จริง เมื่อไม่นานมานี้ มีพระภิกษุท่านหนึ่งออกมาบอกว่าการแปลงเพศเป็นบาป เพราะธรรมชาติให้อวัยวะเพศชายมา แต่เรากลับไปตัดมันออกเพื่อจะเป็นอีกเพศหนึ่ง หัวข้อนี้ได้ถูกนำมาสู่การสนทนาเช่นกันเพราะดูเหมือนว่าขณะนี้คำว่า “บาป” ได้ถูกตีความไปเสียจนมนุษย์ขาดเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตเสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็กลายเป็นบาปไปเสียหมด
ในวงสนทนาอาตมาได้สรุปว่าการแปลงเพศไม่ได้เป็นบาปเพราะการแปลงเพศไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้ไปฆ่าใครเพื่อจะแปลงเพศ ไม่ได้ไปขโมยเงินใครมาเพื่อจะแปลงเพศ เราไม่ได้ไปบังคับคนอื่นให้แปลงเพศ เราแปลงเพศตัวเราเอง
คำว่า “บาป” จึงหมายความว่าเราเที่ยวไปเบียดเบียนคนอื่น เราเที่ยวไปทำคนอื่นให้เดือดร้อน เราทำร้ายคนอื่นให้ได้รับความเจ็บปวดทางกายและใจ เราไปละโมบเอาสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง นั่นแหละคือ “บาป”
ผู้เข้าร่วมสนทนาท่านหนึ่งช่วยเสริมว่า “การที่สังคมไม่ให้ความรู้เรื่องการทำแท้งสำหรับผู้หญิง ทำให้เด็กหญิงบางคนปล่อยตนเองให้ครรภ์แก่จนกระทั่งอายุครรภ์ 6 เดือนซึ่งไม่เหมาะแก่การทำแท้ง แต่ด้วยความที่เด็กขาดความรู้และเด็กไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ณ ช่วงเวลานั้นจำเป็นต้องตัดสินใจทำแท้งจนเกิดเป็นอันตรายขึ้นมา อย่างนี้สังคมไม่บาปเลยหรือ? เพราะไม่มีการให้ความรู้เรื่องการทำแท้งที่ถูกต้องต่อสาธารณะ”
“หรือการทำแท้งถูกทำให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายส่งผลให้คลินิกทำแท้งต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อุปกรณ์การแพทย์ก็ไม่สะอาดหรือไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบ ในที่สุดเมื่อกระบวนการทำแท้งไม่ถูกสุขลักษณะก็ทำให้การทำแท้งเกิดการติดเชื้อ มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากการทำแท้งที่ไม่สะอาด ทำแท้งเสร็จก็ต้องรีบเดินออกมาไม่มีการพักฟื้น มีผู้หญิงมากมายเสียชีวิตขณะทำแท้งเพราะเครื่องมือแพทย์ไม่ได้มาตรฐาน อย่างนี้สังคมไม่บาปเลยหรือเพราะปิดกั้นการทำแท้งสำหรับผู้หญิง?”
นี่เป็นคำถามสำคัญที่ทุกคนควรกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้หญิงควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมถึงการได้รับการบริการที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยจากภาครัฐ?
4.) คำถามสุดท้าย หากทำแท้งไปแล้วรู้สึกว่าเป็นบาปจะทำอย่างไรดี (หรือเกิดภาวะซึมเศร้าหลังทำแท้ง)
ในหนังสารคดี Vessel นักกิจกรรมหญิงคนหนึ่งพูดถึงกรณีที่กลุ่มเคร่งศาสนาออกมาบอกว่าผู้หญิงทำแท้งแล้วเป็นบาป สาวนักกิจกรรมท่านนั้นตอบว่า “ให้เธอสื่อสารกับพระเจ้าด้วยตัวเธอเองจะดีกว่า”
จริงๆ แล้วมันก็ควรเป็นเช่นนั้น ผู้หญิงที่ทำแท้งควรมีโอกาสสื่อสารกับพระเจ้าด้วยตัวของเธอเอง สิ่งที่คนเคร่งศาสนาพูดกันไปว่าในคัมภีร์กล่าวว่าพระเจ้าตรัสว่าทำแท้งแล้วเป็นบาป พระเจ้าจะลงโทษเธอ จริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าหลังจากตายไปแล้วผู้หญิงที่ทำแท้งได้ไปพบพระเจ้าจริงหรือไม่ แล้วพระเจ้าลงโทษเธออย่างไร บางทีพระเจ้าอาจจะมีเมตตาสงสารเธอแล้วช่วยยกบาปออกจากตัวเธอก็ได้
ถ้ารู้สึกว่าเป็นบาปที่ทำแท้งลงไป หรือมีอาการซึมเศร้าเนื่องจากรู้สึกว่าได้ทำบาปลงไป คงมีทางเดียวคือให้ละวางความรู้สึกนั้นแล้วสื่อสารกับตัวเราเอง มองตัวเราเองด้วยดวงตาแห่งความเมตตากรุณาว่าขณะนี้จิตใจของเราเศร้าหมองและเป็นทุกข์เพียงใด พยายามที่จะไม่ย้ำคิดย้ำทำหรือตัดสินตนเองด้วยการซ้ำเติมความรู้สึกไม่ดีนั้นให้ดำรงอยู่ แต่เปิดโอกาสให้ตัวเราเองพยายามเข้าใจตัวเราเองให้มากยิ่งขึ้น มีเมตตากรุณาและให้อภัยตัวเราเองมากขึ้น
หากความทุกข์และความเศร้าหมองภายในใจนั้นมาจากการที่เรายึดติดกับคำสอนศาสนาว่าการทำแท้งเป็นบาป ก็ให้เราเอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง แล้วเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจคำสอนศาสนาในแง่มุมใหม่ๆ ด้วยตนเอง อย่าเปิดโอกาสให้คนอื่นมาตีความคำสอนที่จะทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเราเอง แต่จงเรียนรู้ว่าคำสอนศาสนานั้นมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้เราเข้าถึงตัวเราเองที่เป็น “อนัตตา” คือ “ความว่าง” มิใช่เข้าถึงความเศร้าหมองและเป็นทุกข์ภายในซึ่งมีแต่ความเป็นมายา
หากเรายังคงทุกข์ใจและรู้สึกเศร้าหมองอยู่ภายในก็แสดงว่าเราตกอยู่ในภาวะที่เป็นมายา ให้เราเรียนรู้ที่จะทำใจของเราให้เบิกบานและมีความสุขผ่านคำสอนอื่นๆ เช่น การเจริญสติไปกับการระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้าออก การทำใจให้สว่างเบิกบาน การแผ่เมตตากรุณา ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้มีรายละเอียดและวิธีการอยู่มากมาย เราสามารถเสาะหาเรียนรู้และฝึกฝนได้จากสำนักปฏิบัติและวัดต่างๆ ได้ไม่ยาก
แต่โปรดระวังการทำบุญล้างบาปการทำแท้งที่ต้องเสียทรัพย์ เพราะการพ้นทุกข์ไม่จำเป็นต้องเสียทรัพย์
“เราควรส่งเสริมทัศนคติชาวพุทธให้มองคนที่เคยทำแท้งได้พบกับความสุขกับชีวิตในปัจจุบันอันเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรมีในตนมากกว่าจะซํ้าเติมให้เจ็บปวดโดยไม่เกิดการเยียวยาจิตใจใดๆ เลย” คำพูดดีๆ จากการแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คของ Noppakorn Ratchaในกรณีทำแท้ง
5.) กรณีสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส มุขนายกแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกทรงอนุญาตให้นักบวชและพระสงฆ์อภัยบาปให้กับหญิงที่ทำแท้งหากหญิงเหล่านั้นสารภาพบาปด้วยใจที่สำนึกผิดอย่างแท้จริง
ข่าวนี้ออกมาเมื่อประมาณต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ที่มา http://www.popereport.com/2015/09/blog-post_63.html
ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่สมเด็จพระสันตะปาปาท่านนี้มีความคิดก้าวหน้าที่ทรงอนุญาตให้นักบวชอภัยบาปแก่หญิงที่ทำแท้ง เหมือนกับก่อนหน้านี้ท่านมีท่าทีที่ค่อนข้างยอมรับคนรักเพศเดียวกันด้วยการกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าถึงจะไปตัดสินพวกเขาได้”
โดยปกติแล้วหญิงที่ทำแท้งรวมทั้งแพทย์หรือคนที่มีส่วนร่วมในการทำแท้งไม่เคยได้รับการอภัยบาปจากศาสนจักรมาก่อน และยังถูกไล่ออกจากการเป็นคริสต์ศาสนิกชนด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากพระสันตะปาปาทรงประกาศว่าปีหน้าที่กำลังจะมาถึง คือ ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมปีนี้ (2558) ไปจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน ปีหน้า (2559) ถือเป็นปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม (Year of Mercy) ท่านจึงโปรดให้นักบวชคริสต์สามารถทำการอภัยบาปให้กับหญิงที่ทำแท้งรวมถึงคนที่มีส่วนร่วมในการทำแท้งด้วย แต่การอภัยบาปก็จำกัดแค่ช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น หลังจากนั้นวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไปนักบวชคริสต์จะไม่มีการอภัยบาปให้เพราะถือว่าหมดช่วงเวลาของปีศักดิ์สิทธิ์แล้ว
ถ้าเดาพระทัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ท่านก็คงต้องการให้มีการอภัยบาปตลอดไปไม่จำกัดเวลา แต่อาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้นักบวชท่านอื่นๆ ชาวคริสต์ท่านอื่นๆ ไม่อาจรับได้ ท่านจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทีละนิด ซึ่งถือว่าอย่างน้อยก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ท่านพยายามปรับทัศนคติของศาสนจักรต่อคนทำแท้งซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
อาตมาเคยสนทนากับเพื่อนชาวคริสต์ท่านหนึ่ง เธอแสดงความเห็นว่าการสารภาพบาปในคริสต์ศาสนาเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฆราวาสต้องไปสารภาพบาปกับนักบวชเท่านั้น หมายความว่าถ้าไม่ได้สารภาพบาปกับนักบวช คนๆ นั้นก็จะติดอยู่ในบาปตลอดไป และไม่ใช่ว่าบาปทุกเรื่องจะสามารถสารภาพได้ อย่างเช่น บาปจากการทำแท้งหรือบาปจากการรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นบาปที่นักบวชจะไม่รับชำระล้างให้ใครทำแท้งหรือรักเพศเดียวกันก็ต้องเป็นบาปตลอดไป
เพื่อนชาวคริสต์ท่านนั้นจึงแสดงความเห็นว่าการหลุดพ้นจากบาปไม่น่าจะถูกผูกติดอยู่กับการสารภาพบาปกับนักบวชเท่านั้นเพราะมันกลายเป็นการผูกขาดทางจิตวิญญาณ เธอมองว่าฆราวาสก็มีความสามารถที่จะหลุดพ้นจากบาปได้ด้วยตนเอง นั่นคือการสารภาพบาปต่อฆราวาสด้วยกันเอง นี่เป็นความเห็นของชาวคริสต์ท่านหนึ่งที่มีต่อการสารภาพบาป
ประเด็นนี้ทำให้อาตมานึกถึงคำพูดของนักกิจกรรมหญิงในหนังเรื่อง Vesselที่กล่าวว่า
“ให้ผู้หญิงที่ทำแท้งสื่อสารกับพระเจ้าด้วยตัวเธอเองจะดีกว่า”
เช่นเดียวกับบทสรุปของคำถามในข้อ (4.) ที่อาตมากล่าวว่าเมื่อเราทุกข์ใจ “ให้เราเข้าถึงตัวเราเองที่เป็น “อนัตตา” คือ “ความว่าง” มิใช่เข้าถึงความเศร้าหมองและเป็นทุกข์ภายในใจซึ่งมีแต่ความเป็นมายา”
โดยสรุปแล้วคำสอนเรื่องทำแท้งทั้งพุทธและคริสต์ แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะคนที่ทำแท้งต่างก็ถูกตีตราถูกประณามถูกผูกมัดว่าเป็นบาปในศาสนาของตน
ประเด็นของอาตมาจึงอยู่ตรงที่ว่า หญิงที่ทำแท้งมีความสามารถหลุดพ้นจากบาปได้ด้วยตนเอง เหมือนอย่างที่นักกิจกรรมในหนังกล่าวว่า “ให้เธอสื่อสารกับพระเจ้าด้วยตนเองจะดีกว่า”
ซึ่งมีความหมายว่าให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากบาปด้วยตัวเธอเอง อย่าให้ใครไปตัดสินหรือมีอำนาจเหนือกว่าตัวเธอเลย.