[ท่านสามารถอ่านตอนที่ 1 โดยคลิกที่นี่]
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 2 ของบทสนทนา “หลวงพี่คุยกับจิมมี่” ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ สำหรับตอนที่ 1 เป็นตอนที่มีการพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิมมี่กับคุณพ่อซึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุไปแล้ว ในตอนที่สองนี้มีเนื้อหาของการพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิมมี่กับแม่ ซึ่งในมุมมองของหลวงพี่ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ยากลำบากของบุคคลทั้งสองที่ต้องเผชิญกับ “ความคาดหวัง” ที่ทั้งสองฝ่ายต่างไปด้วยกันไม่ได้
ไม่ง่ายเลยที่แม่ซึ่งมีความคิดยึดติดอยู่กับ “ความเป็นชายและความเป็นหญิง” อย่างมั่นคงจะยอมรับลูกสาวที่กลายเป็นเป็นลูกชายได้อย่างง่ายดาย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้ผู้เป็นลูกต้องตกที่นั่งลำบาก ลูกกลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสายตาแม่อีกต่อไปราวกับไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราไปติดตามกัน
ได้อ่านหนังสือรวมบทความ “แกะ เปลือก เพศ พุทธ” ของหลวงพี่บ้างหรือยัง
ได้อ่านครับ
"หนังสือแกะ เปลือก เพศ พุทธ รวมบทความของ พระชาย วรธัมโม ตีพิมพ์เมื่อปี 2554"
ชอบบทความไหนมากที่สุด
มีหลายบทความที่ผมรู้สึกกับมัน อย่างบทความเรื่อง “ด.ช.แต๋วห้ามเป็นตุ๊ด”
เมื่อพูดถึงศาสนาแล้ว วันก่อนผมไปออกรายการหนึ่ง เขาพยายามแฉลบเข้าเรื่องศาสนา ผมปฏิเสธกลางรายการเลยว่าผมไม่ขอตอบเรื่องนี้
ทำไมล่ะ – หลวงพี่ถามทันควัน
จริง ๆ แล้วผมอยากตอบแต่ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ศึกษาศาสนาพุทธมาอย่างถ่องแท้ บางทีผมอ่านไบเบิ้ลอะไรพวกนี้ผมชอบอ่านในเชิงประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์ อาจจะเป็นเพราะผมเรียนโรงเรียนคริสต์มาด้วย ผมจะมีจุดยืนอยู่บนอะไรที่ตรงกับความเป็นจริง
อย่างวันก่อนผมนั่งคุยกับเพื่อนว่า “คนอะไรเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าว” หรือ “คนอะไรเกิดมาจากหญิงพรหมจรรย์” มันเป็นความจริงหรือ Fiction (เรื่องแต่ง) คือผมเข้าไปแตะหมด
งั้นจิมมี่ก็มีนิสัยของการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอยู่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นผมเลยเลี่ยงที่จะตอบ
กลัวมันไม่สบอารมณ์ใคร หรือมีก้อนอิฐลอยมา ?
ใช่ครับ คล้าย ๆ กับที่เขาบอกว่า “การเมืองกับศาสนา” เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอามาคุยกัน แต่ผมคุยกับหลวงพี่ได้เพราะหลวงพี่เปิดกว้างอยู่แล้ว แต่ถ้าผมไปคุยกับท่านอื่น ๆ แม้กระทั่งในหมู่ NGO กันเองหรือคนที่เขาบอกว่าเขาเป็นเสรีนิยมเขาก็ไม่ได้เป็นเสรีนิยมอย่างถ่องแท้ แต่เขาเป็นเสรีนิยมแบบแนวคิดตัวเองที่เราไม่สามารถตั้งคำถามได้
วันนี้ผมตั้งใจมาคุยกับหลวงพี่อยู่เรื่องหนึ่ง คือ วันนั้นผมต้องไปถ่ายทำรายการร่วมกับหลวงพ่อรูปหนึ่งที่อยุธยา ไปกับพี่ "คริสติน่าป๊อป" ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ทีนี้ในสคริปต์ตามรายการต้องมีการเจิมหน้าผากผมและพี่คริสติน่าโดยหลวงพ่อเป็นคนเจิมให้ รายการก็บันทึกภาพไปหลวงพ่อก็ใช้เทียนเจิมหน้าผากให้พี่ป๊อปก่อน แล้วบอกว่า "ถึงอย่างไรคุณก็เป็นผู้หญิงไปแล้ว" (จึงต้องใช้เทียนเจิมหน้าผากแทนการใช้นิ้วเจิมให้โดยตรง) ทีนี้พอมาถึงคิวผมหลวงพ่อก็ใช้เทียนเจิมหน้าผากอีกพร้อมกับพูดว่า "ไม่ได้เพราะคุณเคยเกิดเป็นผู้หญิงมาก่อน"
แล้วตอนนั้นจิมมี่คิดอย่างไร
ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าที่หลวงพ่อใช้เทียนเจิมแบบนั้นเพราะกลัวอาบัติหรือว่าอะไร ? ผมคิดว่ามันจะอาบัติไปได้อย่างไรในเมื่อท่านก็ไม่ได้มีอารมณ์ หรือไม่ได้เสน่หาพิศวาส ผมรู้สึกว่ามันเป็นการตีตราผมในทางหนึ่งด้วย
หลวงพี่มองว่าในที่สุดแล้วไม่ว่าใครที่เป็น “คนข้ามเพศ” ไม่ว่าเขาหรือเธอจะ “ข้ามจากหญิงไปเป็นชาย” หรือข้ามจาก “ชายไปเป็นหญิง” พระสงฆ์เรามักจะจัดให้เขา-เธอให้เข้าไปอยู่ใน “เพศสภาพผู้หญิง” อยู่ดี อาจจะด้วยความหวาดกลัวต่อวิธีคิดของสังคมหรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น
หลวงพี่มองว่าที่จริงเราน่าจะดูที่“เพศสภาพ” ปัจจุบันของเขา-เธอมากกว่าว่าเพศสภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะในปัจจุบันนั้นเขา-เธอปรากฏอยู่ในเพศสภาพไหน เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการตีตราไปด้วยความไม่รู้
จริง ๆ แล้วจิมมี่เข้าใจอะไร ๆ ในพุทธศาสนาลึกซึ้งเหมือนกันนะ
อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าไหร่ครับ (หัวเราะ)
คือรู้ลึกไปถึงว่าพระจะอาบัติหรือไม่ก็อยู่ที่เจตนาของท่าน
แต่ถ้าผมไปเจอพระรูปอื่น ๆ ที่ไม่ได้รู้จักผมมาก่อน เวลาผมไปถวายสังฆทานท่านก็รับด้วยมือของท่านโดยตรงตามปกติ คือท่านไม่รู้ในขณะที่คนอื่นก็เฉย ๆ หรือบางทีขึ้นรถเมล์มีที่นั่งว่างข้างๆ พระ กระเป๋ารถเมล์ก็จะบอกให้ผมไปนั่งข้าง ๆ พระ หรือบางทีผมขึ้นสองแถวเราก็ไปนั่งข้าง ๆ พระเพราะผู้หญิงก็ไม่เข้าไปนั่งอยู่แล้วผมก็เข้าไปนั่งหน้าตาเฉยก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร
จิมมี่ทำถูกแล้ว
แต่บางคนอย่างคนใกล้ตัวบางคนยังดึงผมออกมาห่าง ๆ พระ มันกลายเป็นการตีตราผม สุดท้ายคุณก็ทำกับผมแบบปกติธรรมดาก็ได้ พอคุณทำให้มันเป็นที่สังเกตทำให้คนเขาสงสัยขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้น
อย่างบทความของหลวงพี่ที่เกี่ยวกับเรื่อง “ภิกษุณี” ก็ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้เกี่ยวกับ “ผู้ชายข้ามเพศ” ว่าสรุปแล้วผู้ชายข้ามเพศทำอะไรก็ไม่ได้เลยอย่างนั้นหรือ พอเป็นพื้นที่ศาสนาเราจะไปบวชยังไม่ได้เลย แล้วถ้าจะให้ผมไปบวชภิกษุณีก็คงไม่ใช่อีก
งั้นมาถึงคำถามนี้เลย อยากบวชพระช่วงสั้น ๆ บ้างไหม
อยากครับ ถึงเราจะเป็นเพศที่ขบถ สุดท้ายเราก็ยังอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมที่บางอย่างเราก็อยากทำให้คนใกล้ตัวนะ อย่างเช่นบวชให้คุณพ่อคุณแม่
ผมเคยเจอคำถามว่า “ถ้าคิดจะเป็นผู้ชายให้ไปเกณฑ์ทหารก่อน” ผมก็ได้แค่ตอบไปว่า “แล้วคุณคิดหรอว่าตั้งแต่เด็กจนโตผมไม่อยากเป็นทหาร” ผมเคยบอกแม่ว่าผมอยากเป็นนายร้อยทหารเรือ แม่ตอบว่าเธอไม่ใช่ผู้ชายเธอเป็นนายร้อยไม่ได้หรอก
หรือบางคนก็พูดว่า ‘ถ้าอยากเป็นผู้ชายก็ไปทำผู้หญิงท้องให้ได้ก่อน’
ถามว่าHurt(เจ็บปวด) มั้ย ผมได้ยินสารพัดคำพูดที่เจ็บปวดจนเริ่มรู้สึกเฉย ๆ กลายเป็นเรามานั่งหัวเราะกับแนวคิดที่เขาคิดว่านี่คือ “ความเป็นชาย” ไปแล้ว การเป็นผู้ชายไม่ได้แปลว่าทำให้ผู้หญิงท้องได้แล้วถือว่าเป็นผู้ชายนะ ผมก็จะตอบไปว่าถ้าคุณคิดว่าการทำให้ผู้หญิงท้องได้แล้วเป็นผู้ชาย เดี๋ยวผมจะพาคุณไปดู “บ้านเด็กกำพร้า” ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับแนวคิดที่คุณใช้อยู่
จิมมี่เรียนรู้การโต้ตอบมาเยอะเหมือนกัน
ใช่ครับ
เคยเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมบ้างไหม
ไม่เคยครับ
คิดจะไปบ้างไหม
จริง ๆ แล้วก็คิดอยู่แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าไปแล้วจะอยู่กับมันได้นานหรือเปล่า คือผมเป็นชอบตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเห็น
เป็นคำตอบที่น่าสนใจ เพราะหลวงพี่ “ลืมคิด” ไปว่าบรรยากาศของสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่ง (หรือหลาย ๆ แห่ง) อาจมี “บรรทัดฐาน” “ค่านิยม” หรือ “ความเชื่อ” บางอย่างที่ทำให้คนบางคนรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกเพศของผู้ปฏิบัติธรรมเพียงแค่ “ชาย” กับ “หญิง” ทำให้ “คนข้ามเพศ” ทั้ง “ชายข้ามเพศ” และ “หญิงข้ามเพศ” ถูกปฏิเสธในการสมัครเข้ารับการปฏิบัติธรรมไปตั้งแต่ยื่นใบสมัครหรือตั้งแต่เห็นหน้าหรือตั้งแต่รู้ว่าเป็นคนข้ามเพศ
จิมมี่เป็นประธานสภาเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศ สภามีโครงสร้างขององค์กรอย่างไรบ้าง
มีประธาน รองประธาน แล้วก็คณะกรรมการ ผมพยายามทำให้โครงสร้างมันง่ายที่สุด ไม่อยากทำให้มีระดับชั้นที่สูง
ประธานมีกี่คน
มีคนเดียวครับ
ถ้ามีอะไรก็ต้องมาติดต่อกับจิมมี่คนเดียว
ใช่ครับ แต่ตอนนี้ผมจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ไม่ต้องมีตำแหน่งอะไรแล้วคือเหมือนมีแค่หัวเรือแล้วที่เหลือก็คือแนวระนาบเท่ากันให้หมด เพราะไม่เช่นนั้นน้อง ๆ ก็จะรู้สึกว่ามันมีลำดับขั้นผู้บังคับบัญชา แล้วเวลาเราจะตัดสินใจอะไรมันจะยากและใช้เวลา
ในกลุ่มมีสมาชิกชายข้ามเพศกี่คน
สมาชิกมีเป็นร้อย มีตั้งแต่ Before Building (ยังไม่ได้ทำอะไรกับร่างกาย) และ After Building (เปลี่ยนผ่านร่างกายไปแล้ว) มีหลายรูปแบบ
จิมมี่อยู่กับแม่เพียงสองคน พอมาทำงานเปิดตัวกับสื่อ คุณแม่มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
แม่พูดกับเราไหมว่าจะออกไปแสดงตัวตนทำไม
อยู่เฉย ๆ ไม่ได้หรือไงเหมือนครอบครัว LGBT อื่น ๆ ไหม
ไม่มีครับ มันเป็นที่น่าแปลกใจว่าแม่ยอมรับสิ่งที่ผมเป็นไม่ได้เลยจนกระทั่งวันแรกที่ผมออกสื่อ
นั่นคือแม่เพิ่งยอมรับผมเมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เอง ตอนนั้นผมไปออกรายการ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” ผมไม่ได้บอกแม่ว่าไปออกทีวี ช่วงสาย ๆ แม่โทรเข้ามาถามว่าไปออกรายการมาเหรอ คือน้ำเสียงแม่เปลี่ยนไปเลย น้ำเสียงแม่แฮปปี้จากหน้ามือเป็นหลังมือเลย พอแกเห็น feedback (เสียงสะท้อน) คนยอมรับในตัวลูกได้แกก็เลยยอมรับได้
ก็อย่างที่ผมพูดบ่อย ๆ ครับว่า ผมเป็นพิธีกรรายการความหลากหลายทางเพศ ผมจะถามน้อง ๆ ว่าทำไมถึงต้องไปประกวดเวทีนั้นเวทีนี้ ทำไปเพื่ออะไร อยากได้ตำแหน่งอยากได้มงหรอ น้องก็จะตอบว่าหนูทำไปจริง ๆ ทั้งหมดไม่ใช่เพราะต้องการตำแหน่งหรืออะไร หนูแค่ต้องการให้พ่อแม่ยอมรับ มันเลยสะท้อนให้เห็นว่าทำไมเกือบทุกครอบครัวต้องให้คนอื่นยอมรับลูกของคุณก่อนคุณถึงจะยอมรับในตัวลูกคุณได้ เพราะตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่โดนแบบนี้เหมือนกัน
มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือ สังคมไม่ได้มีระบบให้เกิดการยอมรับทางกฎหมาย เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านาม การแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน มันก็เลยต้องใช้เวทีการประกวดเป็นเครื่องต่อรองเพราะเป็นแห่งเดียวที่จะทำให้เกิดการยอมรับได้
อาจจะใช่ครับ แต่จริง ๆ แล้วอย่างผมเองก็พยายามทำให้ที่บ้านยอมรับมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าเราจะมีบุคลิกลักษณะอย่างไร เขาเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็กเขาก็รู้อยู่แล้ว เขายังเล่าให้ผมฟังเลยว่าตอนเด็ก ๆ ผมไม่ยอมแม้แต่จะนั่งฉี่ จะยืนฉี่อย่างเดียวตั้งแต่ผมจำความได้ คือมันอยู่ในสัญชาติญาณของเราเอง เขาเลี้ยงเรามาเขารู้อยู่แล้วแต่เขาปฏิเสธ เขาได้แต่บอกตัวเองและเพื่อน ๆ ว่าเดี๋ยวโตขึ้นมันก็หาย
เข้าไปอ่านในหน้าวอลล์ Facebook ของจิมมี่ มักเจอแต่เรื่องยุ่งยากเกี่ยวกับการเป็น “ชายข้ามเพศ” ตลอด รู้สึกเบื่อบ้างไหม
ถามว่าเบื่อไหม ผมว่ามันก็เป็นเรื่องสนุกไปอีกแบบหนึ่ง คือถ้าผมมองให้มันเป็นเรื่องที่น่าหนักใจผมก็จะหนักใจไปกับมัน เวลาผมเจออะไรหนัก ๆ ผมก็จะเอามาสังเคราะห์ พยายามมองหาแง่มุมอีกแง่มุมว่ามันจะมีอะไรที่จะกลายเป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ไหม หรือเราจะมองให้เป็นเรื่องขำ ๆ ได้ไหม
จิมมี่มีวีธีการในการดูแลจิตใจตรงนี้อย่างไรเมื่อต้องเจอกับเรื่องยุ่ง ๆ ในชีวิต
จริง ๆ ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เวลาเจออะไรยุ่ง ๆ ผมจะไปหาหนังสือแนวพัฒนาตัวเองหรือแนวจิตวิทยามาอ่าน แล้วก็ชอบอ่าน “เพลโต” (นักปรัชญากรีก)
“หนังสือ Plato : ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยเรื่องความรัก"
“เพลโต” ให้อะไรเรา ?
ถามว่าเพลโตให้อะไรผม หลาย ๆ อย่างที่ผมอ่าน ผมจะตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ ถ้าผมอ่านแล้วไม่ตั้งคำถามผมก็จะไม่ได้คิด พอไม่ได้คิดก็จะไม่เกิดการวิเคราะห์ สิ่งที่ผมได้จากเพลโตที่ผมชอบที่สุดเลยล่าสุดผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว มันกลับกลายเป็นเรื่องของความรัก มันเป็นหนังสือชื่อ “ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยเรื่องความรัก”
สุดท้ายมันก็ย้อนกลับไปที่ว่าแม้แต่ตัวนักปรัชญาเองเขาก็เขียนว่า มนุษย์บนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่สองเพศ ในตัวคน ๆ หนึ่งจะมีทั้ง "ความเป็นชายและความเป็นหญิง" กับอีกคนหนึ่งอาจจะมีทั้ง "ความเป็นชายและความเป็นชาย" และก็ "ความเป็นหญิงกับความเป็นหญิง" ซึ่งมนุษย์อาจจะไปทำอะไรสักอย่างให้พระเจ้าโกรธ พระเจ้าเลยตัดแยกหัวใจมนุษย์ออกเป็นสองส่วน เลยทำให้มนุษย์ต้องไล่หาอีกส่วนหนึ่งที่หายไปของตนเอง
ใครที่เป็น "ชายหญิง" ก็จะไปหาส่วนของตน คนที่เป็น "ชายชาย" ก็ไปหาอีกส่วนที่เป็น "ชาย" ของตน คนที่เป็น "หญิงหญิง" ก็ไปค้นหาส่วนที่เป็น "หญิง" ของตน
พอผมอ่านจบก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากทำให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้ด้วย
อยากให้เล่าตอนที่ต้องออกจากบ้านมาอยู่คนเดียว
ตอนนั้นผมอยู่กับแม่สองคน ส่วนคุณพ่อแยกกันอยู่แต่นาน ๆ ท่านก็มาเยี่ยมที ทั้งสองท่านหลังจากแยกทางกันแล้วก็อยู่เป็นโสด ไม่มีใครมีคนใหม่ มันมาจากว่าแม่ไม่แฮ้ปปี้ในสิ่งที่เราเป็น เราอยู่ด้วยกันแต่มันเหมือนเราทำอะไรก็ขัดหูขัดตาเขาไปหมด ทำอะไรก็ผิด แค่มองหน้าก็ผิด ก็เลยตัดสินใจออกมาอยู่นอกบ้านดีกว่า แต่ตอนนั้นเหมือนโดนบีบด้วย
พอเราออกมาแล้วแม่ไม่เหงาหรือ
ตอนนั้นในบ้านก็มีคุณน้า คุณน้าเป็นตัวแปรที่คอยช่วยให้คุณแม่เข้าใจในตัวเราแต่ก็ไม่เป็นผล ตอนผมออกมาก็ไปเยี่ยมท่านตลอดเพียงแต่ไม่ค้าง เวลานั้นผมกำลังเรียนปริญญาตรีที่ ABAC ปี 1 หรือปี 2 นี่แหละ ผลสุดท้ายผมไม่มีเงินพอที่จะไปจ่ายค่าเทอมจึงต้องออกจาก ABAC แล้วไปเรียนรามคำแหงแทน เพราะว่าผมออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านแล้วก็ต้องรับผิดชอบตัวเองทุกอย่าง
ตอนออกมาได้บอกท่านไหม
ไม่ได้บอกครับ
ออกมาแล้วคิดถึงท่านไหม
คิดถึงครับ แต่เราก็ต้องเดินต่อไปเพราะไหน ๆ ก็ตัดสินใจออกมาแล้ว ตอนนั้นคิดว่าถ้าเรายังไม่ประสบความสำเร็จก็จะไม่กลับไป ที่จริงการที่ถูกบีบก็ดีเหมือนกันนะครับเพราะมันทำให้ผมรู้จักกับความอดทน
ตอนนั้นร้องไห้ไหม
มันเจ็บปวดครับแต่ไม่ถึงกับร้องไห้ แค่น้อยใจหรือท้อใจแค่นั้นเอง
จิมมี่คิดว่าแม่คิดถึงเราบ้างไหมในตอนนั้น
คิดว่าท่านก็คงคิดถึงเหมือนกันแต่ท่านเป็นคนที่ไม่แสดงความรู้สึก และท่านคงไม่เข้าใจในความเป็นตัวตนของผม
มีใครเป็นที่พึ่งทางใจในตอนนั้น
ตัวเราเองครับ (หัวเราะ)
และต้องทำงานหาเงินเองด้วย
ใช่ครับ
ตอนนั้นทำงานอะไร
ทำทุกอย่างเลยครับ แจกใบปลิว รับจ้างยืนนับจำนวนคนเดินเข้าห้าง ด้วยความที่เล่นเปียโนได้ก็ไปรับจ้างสอนเปียโนด้วย บางทีก็ไปยืนแจกซิมการ์ด ทำทุกอย่างที่ทำได้ หนักอยู่เหมือนกัน
หลวงพี่มองว่าการที่เด็กคนหนึ่งเผชิญความขัดแย้งภายในครอบครัวแล้วต้องหนีออกมาผจญชีวิตนอกบ้าน เราถือว่ามันทุกข์มากเลยนะ
การไปเดินรับจ๊อบ แจกใบปลิว หรือไปทำอะไรหนัก ๆ ก็ยังไม่หนักเท่ากับวันแรกที่ผมออกมา วันนั้นผมไปนอนที่ป้ายรถเมล์ ผมไม่มีที่ไป ทุกคนถามว่ากลัวไหม ผมตอบว่ากลัวสิ
ตอนนั้นอายุเท่าไหร่
ประมาณ19-20 ครับ
หลังจากนั้นไปนอนที่ไหน
สมัยนั้นผมมีPCT เพื่อนโทรเข้ามาพอดี “อยู่ไหน ?” สุดท้ายเพื่อนเลยชวนไปอยู่ด้วย
หลังจากออกจากบ้านมาแล้วนานไหมกว่าจะกลับไปบ้าน
ประมาณ 1–2 เดือนครับ แต่กลับไปก็ไม่ได้ค้างแค่ไปเยี่ยมเฉย ๆ แล้วก็ออกมา
ระหว่างที่ออกมา 1–2 เดือนมีการโทรศัพท์ติดต่อกับคุณแม่บ้างไหม
ไม่มีเลยครับ
คุณแม่ไม่ถามหาจากเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ เลยหรือว่าเราหายไปไหน
ไม่เลยครับ
อยากให้เล่าความรู้สึกที่กลับไปเยี่ยมบ้านครั้งแรกหลังจากออกมาประมาณสองเดือนให้ฟัง
ผมไม่ได้รู้สึกว่าที่นั่นเป็นบ้านเลย เพราะอยู่ไปเขาก็ไม่ได้ต้อนรับ
หลังจากไปเยี่ยมบ้านครั้งแรกแล้ว ตอนจิมมี่เดินออกมาคุณแม่ไม่พูดเลยหรือว่าคืนนี้นอนค้างบ้านเถอะลูก
ไม่พูดเลยครับ
หลังจากออกมาแล้วอีกนานไหมกว่าจะกลับมานอนที่บ้านเหมือนเดิม
ประมาณ 6 - 7 ปี น่ะครับกว่าจะกลับมานอนบ้าน
มันมีเหตุการณ์อะไรคลี่คลายให้เราได้กลับมานอนที่บ้านเหมือนเดิม
คงเป็นช่วงเวลาด้วยมั้งครับ แล้วก็เพื่อน ๆ ของคุณแม่คอยพูดให้คุณแม่ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น เมื่อเรากลับเข้าบ้านก็ดูท่าน Relax (ใจเย็น) มากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น แฮปปี้มากขึ้น แต่เราก็ไม่กล้ามั่นใจมากนักว่าเขารับเราได้ ท่านก็ยังดูตึง ๆ เหมือนเราก็ยังมีระยะห่างกันมาก เขาเป็นคนเด็ดเดี่ยว ไม่แสดงความรู้สึก จนกระทั่งผมไปออกรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ท่านเริ่มจะยอมรับได้
ก่อนปีใหม่ไปต่างประเทศมา ?
ไปมาเก๊ากับไต้หวันครับ
มีปัญหาอะไรกับด่านตรวจไหม ?
ไม่มีครับเพราะผมเคยไปมาแล้ว เจ้าหน้าที่เขาเปิดดูใน Record(บันทึก) แต่ที่มีปัญหาจริง ๆ คือตอนไปจีน เจ้าหน้าที่ถามว่าในเอกสารคุณเป็น Miss (นางสาว) นะ ผมอธิบายไปว่าผมเป็น Transgender (คนข้ามเพศ) เขามองเขาก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ให้ผ่าน
เจ้าหน้าที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
ผู้หญิงครับ ตั้งแต่นั้นมาเวลาผมไปต่างประเทศผมจะไปขอใบรับรองแพทย์เป็นภาษาอังกฤษเตรียมไว้เสมอ คุณหมอก็จะเซ็นให้ว่าเราเป็น Transsexual ผ่านการผ่าตัด นู่น นี่ นั่น มาแล้ว มีการเทคฮอร์โมนทำให้รูปลักษณ์เราไม่ตรงกับเอกสารที่ปรากฏ
**Transgender คือ คนข้ามเพศที่ยังไม่มีการผ่าตัดแปลงเพศ
Transsexual คือ คนข้ามเพศที่ผ่านการแปลงเพศมาแล้ว
แล้วด่านตรวจฝั่งไทยมีปัญหาอะไรบ้างไหม ?
ไม่มีครับ
นอกจากจีนแล้วมีประเทศอะไรที่ไปแล้วมีปัญหา
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ผมเริ่มกระบวนการข้ามเพศ ผมไม่กล้าไปต่างประเทศเลย เพราะบางทีมันก็ต้องแลกกับอะไรหลาย ๆ อย่าง กลายเป็นว่าเรากำลังขังตัวเองอยู่ในประเทศไทยรึเปล่า เพราะมันเป็นไปได้ว่าถ้าเราไปเราอาจจะถูกส่งกลับหรืออาจจะถูกค้นตัวอะไรแบบนี้ ยังไม่ทันเข้าประเทศเขาเลย อาจจะติดอยู่แค่สนามบินถ้าเราไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ คือไม่ใช่ว่าคนข้ามเพศจะพกเอกสารอะไรตลอดเวลา
ล่าสุดมีกรณีชาวออสเตรเลียคนหนึ่งถูกค้นตัว เขารู้สึกว่ามันเป็นการตีตราเขาอย่างมากทั้ง ๆ ที่เขาพยายามอธิบายว่าเขาเป็น Transsexual เขาไปเที่ยวประเทศอะไรผมไม่แน่ใจ แต่คนที่ร้องเรียนเรื่องนี้ให้เขากลับเป็นผู้โดยสารที่ไม่รู้จักกันแต่อยู่ในเหตุการณ์พอดี มันทำให้เห็นว่าสังคมก็ยังมีคนที่เปิดและคนที่ยังปิดอยู่
แล้วจิมมี่ไม่กล้าไปประเทศไหนบ้าง ?
แทบจะทุกประเทศเลยครับ ผมแทบไม่อยากออกจากประเทศไทยเลย ไม่อยากเจอปัญหา บางทีผมมานั่งคิดดู ถ้าอย่างนั้นแล้วความอิสระของเราอยู่ที่ไหน ถ้าเราจะแฮปปี้ตื่นมาแล้วเป็นในสิ่งที่เราเป็นแต่เราไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มันก็ยังไปไม่ถึงไหน
มีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอย่างไร
จริง ๆ แล้วผมเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ผมไม่เชื่อแม้กระทั่งเรื่องนรกสวรรค์ ผมจะรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นขีดขั้นที่สอนคนให้ทำดีละเว้นชั่วโดยการเอาอะไรที่น่ากลัวมาสอน มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ คล้าย ๆกับหลอกเด็กว่านอนกินจะเป็นงู แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีเหตุผลว่าเดี๋ยวจะสำลักตายแค่นั้นเอง ผมจะมองประมาณนี้ แต่เวลาที่ใครมาคุยกับผม ผมจะบอกว่าอย่าเชื่อผมนะ เพราะถ้าทุกคนเชื่อแบบผมแน่นอนว่ามันก็จะไม่มีใครละเว้นการทำชั่วแน่นอน
แล้วจิมมี่เชื่ออะไรในศาสนา
สิ่งที่ผมเห็นคือคนที่เข้าวัดเข้าวาแต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม ผมเห็นคนธรรมะธรรมโมแต่ทำไมมีอารมณ์ร้อน เห็นแล้วก็มักมีคำถามว่าทำไมคุณไปทำวิปัสสนามาทำให้คุณดูเป็นคนมีธรรมะแต่ก็ยังโหวกเหวกโวยวายมีอารมรณ์โกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรง ในขณะที่บางคนไม่เคยเข้าวัดเข้าวาแต่เขาก็เป็นคนใจเย็น
คิดว่าจะเขียนเรื่องราวของตัวเองออกมาเป็นหนังสือไหม ?
จริง ๆ ก็อยากเขียนนะ แต่กำลังคิดอยู่ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตผมมีอะไรน่าสนใจบ้าง หลายคนก็สนใจในชีวิตผม แต่ด้วยความที่ผมใช้ชีวิตของผมเอง ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของผม ผมยังไม่แน่ใจว่าผมจะมีอะไรไปบอกคนอื่นได้ดีหรือเปล่า หรือว่าผมอาจจะสั่งสมประสบการณ์มากกว่านี้อีกสักหน่อย เพราะหลายคนก็บอกว่าอยากอ่านนะ ช่วยเขียนหน่อยได้ไหม
ในที่สุดการพูดคุยกับจิมมี่ก็ต้องยุติลงภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงเมื่อชุดคำถามของเราก็หมดพอดีเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของ จิมมี่ กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุลผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราและคนอื่น ๆ บนโลกใบนี้
เราหวังว่าบทสัมภาษณ์ยาว ๆ ชิ้นนี้คงให้แง่คิดที่หลากหลายแง่มุมกับผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นคนข้ามเพศ หรือสงสัยว่าบุตรหลานของท่านอาจเป็นคนข้ามเพศ ท่านจะได้เข้าใจได้ทันท่วงทีโดยไม่เผลอบังคับให้เขาต้องเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็นโดยหลงลืมไปว่าชีวิตของเด็กแต่ละคนต้องเจริญเติบโตด้วยตัวของเขาเอง เราเป็นเพียงแค่คนคอยสนับสนุน คอยรับรู้ และคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ และเฝ้าดูเขาเจริญเติบโตด้วยตัวเอง
หากท่านสามารถทำได้ตามนี้ก็ถือว่าท่านเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูกอย่างที่สุด เพราะเรื่องเพศ – เพศสภาพ - เพศภาวะ - เพศวิถี เป็นเรื่องเฉพาะที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน
หรือถ้าคุณมีเพื่อนเป็น “คนข้ามเพศ” ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็น “ชายข้ามเพศ” หรือ “หญิงข้ามเพศ” หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วคุณก็จะเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น ไม่เผลอไปตั้งคำถามหรือทำอะไรที่เป็นการละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเขาเหมือนอย่างที่จิมมี่ได้เล่าไว้ในประสบการณ์ว่าเขาไม่ได้รู้สึกสนุกไปกับการถูกปฏิบัติเช่นนั้นเลย
สุดท้าย ต้องขอขอบคุณ “จิมมี่” ที่สละเวลาให้เราได้พูดคุยในเรื่องราวที่จิมมี่อาจจะไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน แต่เขายินดีเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยซักถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อที่เราหรือใคร ๆ จะได้ไม่เผลอใช้ทัศนคติของเราไปทำร้ายใครที่แตกต่างโดยความไม่รู้เหมือนอย่างที่ผ่านมา
และถึงแม้เขาจะถ่อมตัวว่ายังไม่พร้อมจะเขียนเรื่องราวตัวเองออกมาเป็นหนังสือ แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งเราคงได้เห็นหนังสือประวัติและประสบการณ์ชีวิตของเขาออกมาแน่นอน.