“ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” วาดโดย พระวรธรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคลิปพระหลุดที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อพระภิกษุที่ตกเป็นข่าวได้ออกมายอมรับและลาสิกขาทันทีหลังจากที่คลิปดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวได้เพียงวันเดียว
เราน่าจะใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เรื่องเพศของพระสงฆ์ไปด้วยกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเพื่อที่เราจะได้ไม่เข้าใจผิดแล้วตัดสินท่านไปเสียก่อน
เวลาบ่ายของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จู่ ๆ ก็มีVideo Call จาก Facebook ของชายคนหนึ่งส่งสัญญาณเข้ามาทักทายบนมือถือของพระสมทัดผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ทันทีที่พระสมทัดใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอก็ปรากฏภาพบุรุษผู้โทรเข้ากำลังโชว์อวัยวะเพศปรากฏขึ้นมาพร้อมเชิญชวนให้พระสมทัดร่วมโชว์ของลับไปด้วยกัน พระสมทัดขณะนั้นอาจจะไม่ทันได้คิดอะไรจึงทำตามคำเชื้อเชิญของบุรุษแปลกหน้าที่เพิ่งรับเป็นเพื่อนทาง Facebook ได้เพียงไม่กี่วันทั้งยังไม่เคยสนทนาทำความรู้จักกันมาก่อน ฝ่ายบุรุษนิรนามขอให้พระสมทัดทำปากเลียอวัยวะเพศให้ตน คงเป็นเพราะพระสมทัดเห็นว่าทำไปก็ไม่มีใครเห็นและไม่ได้เสียหายอะไรจึงทำตามคำขอ มีการทำหน้าหยอกล้อกันผ่านกล้องมือถือ
เพียงเสี้ยววินาทีพระสมทัดสังเกตเห็นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หน้าจอจึงถามขึ้นว่า “จะบันทึกภาพหรือ ?” เท่านั้นเองการสนทนาที่แฝงไปด้วยการเย้ายวนทางเพศผ่านกล้องวิดีโอในโทรศัพท์มือถือก็ยุติลงทันที
วันถัดมาเพื่อนฆราวาสของพระสมทัดเปิดคลิปวิดีโอที่กำลังแพร่กระจายในสังคมออนไลน์ให้ท่านดู เป็นภาพพระภิกษุรูปหนึ่งหน้าตาคล้ายพระสมทัดกำลังโชว์อวัยวะเพศปรากฏในสังคมออนไลน์ เท่านั้นเองท่านจึงรู้ตัวว่าท่านโดน “ปล่อยคลิป” เสียแล้ว
วันที่ 15 พฤศจิกายน คลิปภาพพระสมทัดกระจายออกไปในวงกว้าง และกลายเป็นข่าวอื้อฉาวทางทีวีและหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในเวลาอันรวดเร็ว ชาวบ้านรอบ ๆ วัดพากันศรัทธาตกพร้อมกับลงความเห็นว่าพระสมทัดไม่สมควรบวชต่อไปแม้ท่านจะเป็นเจ้าอาวาสและบวชมานาน 18 พรรษาในขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มเห็นว่าพระสมทัดยังไม่ถึงกับทำอะไรผิดไปมากมายนักน่าจะบวชต่อไปได้
ในวันเดียวกันสำนักข่าวโทรทัศน์เดินทางมาสัมภาษณ์ท่านถึงวัด ท่านยอมรับแต่โดยดีไม่มีปิดบัง ท่านไม่ได้หนีไปไหน ท่านยอมรับว่าท่านได้ทำเช่นนั้นจริง นั่นเป็นครั้งแรกที่กระทำลงไปและจะไม่ทำอีก พร้อมกับกล่าวว่ารู้สึกใจไม่ดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เช้าวันที่ 16พฤศจิกายนพระสมทัดตัดสินใจลาสิกขาเพื่อยุติข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายเพราะเวลานี้ชาวบ้านข้างวัดบางกลุ่มรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นคลิปดังกล่าวและลงความเห็นว่าท่านไม่สมควรอยู่เป็นพระต่อไป หลังจากท่านลาสิกขาข่าวนี้ก็ค่อย ๆ เงียบหายไปอย่างรวดเร็วจากสังคมออนไลน์
ทั้งหมดคือประมวลเหตุการณ์ “ปล่อยคลิปพระ” ที่เกิดขึ้นและจบไปในชั่วเวลา 4 วัน
1. พระจิตตก
ไม่ว่าใครก็ตามหากทำพลาดในเรื่องเพศแล้วจิตตกกันทุกคนไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์
พระสมทัดให้สัมภาษณ์ว่าตนรู้สึก ใจไม่ดี และรู้สึกกลัวหลังจากที่เห็นภาพตนเองกำลังโชว์อวัยวะเพศปรากฏในสังคมออนไลน์ ท่านรู้สึกอับอายและทราบดีว่าเรื่องจะต้องลุกลามไปใหญ่โตแน่ๆ และต้องมีผลกับสถานภาพการเป็นพระของท่านอย่างแน่นอน ญาติโยมต้องมองว่าท่านทำอะไรน่าบัดสีและเข้าใจผิดในตัวท่าน ๆ จึงรู้สึกใจไม่ดีกับอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตท่าน
เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นที่รู้ตัวว่าท้องก็ต้องจิตตกทันทีเพราะรู้ว่าอนาคตของตนต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงชายหญิงและเพศสภาพอื่น ๆ ที่รอฟังผลการตรวจเลือดและพบว่าตนเองมีเชื้อ HIV ย่อมจิตตกไปด้วยกัน มันเป็นสถานการณ์ที่ใคร ๆ ก็ไม่ต้องการเผชิญ
ความผิดพลาดที่มีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไขมักทำให้เราจิตตกไปโดยอัตโนมัติ เป็นเพราะสังคมที่เราอยู่มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศว่าเพศเป็นเรื่องสกปรกแปดเปื้อน สังคมเราไม่ได้เป็นสังคมที่พยายามจะเข้าใจว่า “เกิดอะไรขึ้น” เป็นสังคมที่ “ไม่พร้อมจะทำความเข้าใจในเรื่องเพศ” สังคมเราไม่ได้เป็นสังคมที่มองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องที่ควรให้อภัยเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อต้องเผชิญกับการพลาดในเรื่องเพศจึงเผชิญกับภาวะจิตตกด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุนี้ในเบื้องต้นเราควรมองคนที่พลาดเรื่องเพศด้วยความกรุณา ยุติการตีตราคนด้วยเรื่องเพศที่เขาหรือเธอกำลังประสบอยู่ อย่างน้อยนี่คือทางออกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประสบเหตุไม่รู้สึกแย่จนเกินไปกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญเป็นการช่วยให้เขาไม่ตัดสินใจสั้น ๆ ให้กับชีวิตตนเอง
2. เบี่ยงเบนทางเพศ : อคติที่ซ้อนทับเข้ามา
หากข่าวที่เกิดขึ้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นพฤติกรรมของเพศเดียวกัน คำถามที่มักจะได้ยินกันเสมอกับการถามผู้ที่ตกเป็นข่าวก็คือ “เป็นเกย์หรือเปล่า ? เบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า ? นี่เป็นอีกอคติหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับความฮอทของตัวข่าวที่แพร่กระจายออกไป เช่นเดียวกับพระสมทัดก็ถูกตั้งคำถามในแบบเดียวกัน
ข่าวที่มีการเปิดเผยวิถีทางเพศของผู้ตกเป็นข่าวว่ามีพฤติกรรมทางเพศกับเพศเดียวกันโดยที่คน ๆ นั้นอาจจะไม่ได้มีวี่แววว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันมาก่อน น่าจะทำให้ผู้คนเข้าใจได้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วคนเราสามารถมีSexually กับเพศเดียวกันได้ แต่เนื่องจากการให้การศึกษาเรื่องเพศในบ้านเรายังจำกัดอยู่ที่การนิยามว่าความพึงพอใจทางเพศ (Sexual Orientation) ของคนเราแบ่งคนออกเป็น 4 หมวดหมู่ คือ รักต่างเพศ รักเพศเดียวกัน รักได้ทั้งสองเพศ และรักได้ไม่จำกัดเพศ และถูกสอนว่ามันเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว เราเลยมองไม่ออกว่าคนทุกคนสามารถมีพฤติกรรมทางเพศ (Sexually) กับเพศเดียวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในหมวดใดหมวดหนึ่งใน 4 หมวดดังกล่าว
คำถามในกรณีพระสมทัดก็คือ ถ้าพระสมทัดเป็นเกย์แล้วยังไงต่อ ? เราควรจะเพิ่มอคติความรังเกียจต่อท่านเป็นสองเท่าแล้วตัดสินลงโทษท่านเป็นสองเท่าดีไหม ? เพราะลำพังการโชว์อวัยวะเพศก็ถือว่าผิดในระดับหนึ่งแล้วและนี่เป็นการโชว์อวัยวะกับเพศเดียวกันด้วย มันยังไงกัน ? ถ้าพระสมทัดโชว์อวัยวะเพศกับสตรีล่ะจะยังไง ? เราเริ่มเห็นหรือยังว่าว่าอคติเรื่องเพศในใจเรามันทำงานเป็นขั้น ๆ ได้แนบเนียนเพียงใด
ในกรณีนี้สมมติว่าพระสมทัดจะเป็นเกย์ก็ไม่ได้แปลว่าพระสมทัดจะมีความผิดเป็นสองเท่า ท่านก็ยังคงผิดเท่าเดิม เราไม่ควรใส่อคติของเราเพิ่มเข้าไป แต่พยายามมองให้เห็นว่าประเด็นของเรื่องราวมันอยู่ตรงไหน แค่นั้นเอง
3. ต้องอาบัติอะไร จำเป็นต้องสึกไหม สึกแล้วบวชต่อได้ไหม
อาบัติของพระนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ หนัก (มีชื่อว่าปาราชิก), กลาง (มีชื่อว่าสังฆาทิเสส) และเบาซึ่งมีชื่อเรียก 5 ชื่อ (ถุลลัจจัย, ปาจิตตีย์, ปาฏิเทสนียะ, ทุกกฎ, ทุพภาสิต) -ขั้นหนักคือขาดจากความเป็นพระ ขั้นกลางคือความผิดที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการ “อยู่กรรม” ขั้นเบาคือความผิดที่หลุดพ้นได้ด้วยการ “ปลงอาบัติ” คือการสารภาพความผิดกับพระสงฆ์ด้วยกัน
ในกรณีของพระสมทัดจัดอยู่ในประเภทการปฏิสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลในเชิงวาจาและการแสดงอวัยวะแบบไม่ถึงตัว เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ถึงขั้นปาราชิก แต่กำลังจัดอยู่ในขั้นสังฆาทิเสสคืออาบัติอย่างกลาง แต่ก็ถือว่าเป็นอาบัติอย่างกลางที่วิเคราะห์แล้วจัดอยู่ในประเภทอาบัติอย่างเบาซึ่งจะได้อธิบายต่อไป
อาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ 1 กล่าวว่า “ภิกษุจงใจทำน้ำอสุจิเคลื่อนต้องอาบัติสังฆาทิเสส” สำหรับกรณีพระสมทัดเปิดโชว์อวัยวะเพศกับบุรุษเพศแต่ยังไม่ถึงขั้นหลั่งน้ำกามจึงยังไม่ถึงกับต้องอาบัติสังฆาทิเสส พระสมทัดจึงต้องอาบัติตัวรองลงมาคือ “ถุลลัจจัย”
พระสมทัดกับบุรุษนิรนามอาจจะมีการใช้วาจาพูดคุยหยอกล้อยั่วยวนทางเพศให้กันและกันก็จะเข้ากับอาบัติสังฆาทิเสสอีก 2 ข้อ คือ :
อาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ 3 ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส
อาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ 4 ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส
แต่เนื่องจากเป็นการพูดคุยกับบุรุษเพศ มิใช่สตรีเพศ อาบัติจึงลดลงเป็น “ทุกกฎ”
ดังนั้น พระสมทัดต้องอาบัติอย่างเบา 3 ตัว คือ ถุลลัจจัย 1 ตัว กับ ทุกกฎ 2 ตัว สามารถพ้นจากอาบัติได้ด้วยการปลงอาบัติกับภิกษุด้วยกัน
แต่การที่พระสมทัดถูกสัมภาษณ์ออกสื่อและยอมรับว่าตนเองทำผิดจริงและตนจะไม่ทำซ้ำอีก อันนี้ก็ถือได้ว่าพระสมทัดได้สารภาพความผิดกับสาธารณะแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมากกว่าการสารภาพกับพระสงฆ์ด้วยกันเสียอีกเพราะเป็นการสารภาพกับสาธารณะผ่านสื่อเลยทีเดียว และเชื่อว่ามีพระสงฆ์หลายรูปที่ดูรายการข่าวที่พระสมทัดได้ให้สัมภาษณ์ นั่นก็แปลว่าพระสมทัดได้ “ปลงอาบัติ” กับพระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ในเชิงปฏิบัติถือว่าท่านพ้นจากอาบัติไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ด้วยสถานการณ์ที่กดดันทำให้พระสมทัดต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการลาสิกขาโดยไม่มีใครมาบังคับ เมื่อท่านได้ลาสิกขาก็ถือได้ว่าท่านพ้นจากอาบัติและข้อกล่าวหาไปโดยอัตโนมัติ หากท่านปรารถนาจะเข้ามาบวชใหม่ก็สามารถทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร
4. การรังแกผ่านโซเชียล (Social Bullying)
หลายปีก่อน ไทเลอร์ คลิเมนตี้ (Tyler Clementi) นักศึกษาวัย 18 ชั้นปี 1 จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ แห่งรัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา มีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายในห้องพักของเขา เพื่อนคนหนึ่งแอบตั้งกล้องบันทึกภาพแล้วออนไลน์ไปในอินเตอร์เน็ท ไทเลอร์ทราบภายหลังเขารู้สึกเครียด เป็นทุกข์ อับอาย และจิตตก ในที่สุดเขาทนไม่ไหวกระโดดสะพานลงไปในแม่น้ำเพื่อปลิดชีวิตตัวเอง แต่ก่อนที่เขาจะทำเช่นนั้นเขาโพสต์ข้อความอำลาผ่าน Facebook ว่า “กำลังจะกระโดดสะพาน ผมขอโทษ” อีกหนึ่งสัปดาห์เจ้าหน้าที่จึงพบศพ นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553เจ็ดปีมาแล้ว
ภาพจาก http://edition.cnn.com/2010/OPINION/09/30/spaulding.rutgers.suicide/index.html
แม้จะเป็นคนละเหตุการณ์ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างสถานที่ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม และเกิดขึ้นคนละซีกโลก แต่มันคือเรื่องเดียวกัน ผู้ถูกกระทำถูกบันทึกภาพส่วนตัวแล้วภาพนั้นถูกส่งผ่านไปยังสื่อสาธารณะโดยเจ้าตัวไม่ทราบ เมื่อภาพนั้นเป็นภาพส่วนตัวในขณะที่ผู้กระทำรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ “ภาพลับ” ที่ตนปล่อยออกไป สิ่งนี้เรียกว่าCyber Bullying หรือ “การรังแกกันในโลกออนไลน์”
เราไปดูกันว่าหลังจากภาพของพระสมทัดกระจายออกไปแล้วเกิดปฏิกิริยาอะไรในสังคมออนไลน์บ้าง
เพ็จสำนักข่าวเจริญพวง ได้แชร์ภาพนิ่งของพระสมทัดออกไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.30 น. มีคนกดไลค์ 985 กดแชร์ 514 แสดงความเห็น 404 (เข้าชม 30 พฤศจิกายน 2560)
ตัวอย่างความคิดเห็นในเพ็จเจริญพวง
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ “นักเลงคีย์บอร์ด” ที่เข้ามาโพสท์ข้อความต่าง ๆ นานาต่อกรณีพระสมทัด พวกเขาอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรังแก (Bully) พระสงฆ์รูปหนึ่ง ทั้งหมดนั้นอาจไม่ใช่ผู้ร้ายรายสำคัญเท่ากับชายนิรนามต้นเหตุผู้กระทำการบันทึก Video Call แล้วเป็นคนปล่อยคลิปนั้นออกไป
ถ้าคุณรู้ว่าการเขียนข้อความด่าทอใครคนหนึ่งคือกลลวงให้คุณกลายเป็นเครื่องมือในการการรังแกคน ๆ นั้นที่ “ใครบางคน” ได้วางเป้าเอาไว้ คุณจะร่วมเขียนข้อความนั้นหรือไม่
หากชาวบ้านรอบวัดเข้าใจกระบวนการเกิดขึ้นอย่างรอบด้านของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องของการ “กลั่นแกล้งกัน” (Bullying) โดยไม่รีบตัดสินเสียก่อนเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าชาวบ้านต้องมีวิจารณญาณในการพิพากษาพระสมทัดมากขึ้น เพราะการได้เห็นกระบวนการจะทำให้เข้าใจสถานการณ์อย่างกระจ่างแจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น
สิ่งที่ปรากฏในสังคมออนไลน์มิได้เป็นเรื่องจริงเสมอไป ภาพของบุคคลที่ปรากฏในสังคมออนไลน์อาจเป็นภาพที่เจ้าตัวถูกถ่ายโดยไม่รู้ตัวแล้วถูกนำมาเผยแพร่ การเสพสื่อโซเชี่ยลจึงจำเป็นต้องมีความตระหนักรู้ก่อนที่จะแสดงความเห็นอะไรลงไป มิเช่นนั้นเราจะตกเป็นเหยื่อของการเข้าไปมีส่วนร่วมในเป้าประสงค์ของใครบางคนที่วางหมากเอาไว้ . . . อย่างที่ ไทรเลอร์ คลินมินตี้ ได้ถูกวางหมากให้ถูกโจมตี
5. สำนึกของความเป็นพระ
เวลาที่พระสงฆ์ทำผิดพลาด สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือสำนึกว่าตนเองเป็นพระไม่ดีมักเกิดในใจของพระภิกษุรูปนั้น มันเป็นความรู้สึกผิดในตัวเอง ความรู้สึกของฆราวาสก็เช่นเดียวกัน เมื่อฆราวาสทำผิดก็จะเกิดสำนึกว่าตนเป็นคนไม่ดี ตนเป็นคนมีมลทิน อันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกัน เมื่อทนไม่ได้หรือทนไม่ไหวก็อาจจบชีวิตลงเหมือนกับที่ ไทเลอร์ คลิมินตี้ ตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเพื่อกระทำอัตตวินิบาตตนเอง
ความรู้สึกว่า “เป็นพระที่ดี” ก็เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง เป็นมายาของจิต เมื่อเราปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย คนชื่นชมว่าเราเป็นพระดี เราก็ว่าดีไปตามจิตที่ปรุงแต่ง ถ้าเราทำพลาดใครว่าเราเป็นพระเลว เราก็ว่าเลวไปตามจิตที่ปรุงแต่ง จิตเราจะฟูหรือจิตเราจะตกก็เป็นไปตามจิตที่ปรุงแต่ง
ดังนั้น ไม่ว่าจะปรุงแต่งตัวเองไปในทิศทางไหนก็เป็นมายาด้วยกันทั้งคู่ ถ้าเราตามดูรู้จิตอย่างเท่าทันเราก็จะรู้ว่าไม่ว่ามันจะปรุงไปในทางดีหรือทางร้าย มันก็คือมายาทั้งสิ้น เราจึงไม่ควรรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองนานจนเกินไปไม่เช่นนั้นจิตเราก็จะซึมเศร้า จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการรู้เท่าทันจิตของตนเอง
ในกรณีของพระสมทัด ต้องชื่นชมที่ท่านพยายามออกมาต่อสู้ เราไม่ได้ชื่นชมที่ท่านออกมายอมรับเพราะท่านไม่ได้ผิด 100% หากแต่ท่านคือ “ผู้ถูกรังแก” แท้จริงแล้วพระสมทัดควรได้รับการปกป้องด้วยซ้ำ แต่ด้วยหลักฐานที่ปรากฏทำให้ท่านตกเป็นผู้ผิดไปโดยปริยาย ท่านจึงต้องออกมายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะต้องเผชิญกับความอับอายก็ตาม
หากดูคลิปรายการ “ต่างคนต่างคิด” หลังจากท่านลาสิกขาแล้วมาร่วมรายการให้สัมภาษณ์ ท่านต้องเล่าเหตุการณ์ซ้ำ ๆ อันเป็นเหตุการณ์ที่ท่านไม่อยากจะเล่าอีก คำถามบางคำถามก็ไม่ได้ถูกถามด้วยท่าทีที่สุภาพจากผู้ดำเนินรายการ ไม่ต่างอะไรกับคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องออกมาเล่าเรื่องของตัวเองให้คนทั้งประเทศฟังซ้ำ ๆ หากแต่นี่ก็คือ “ศักดิ์ศรี” ที่ท่านต้องออกมากอบกู้ให้กับตนเองเพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านคงไม่ต้องการให้พุทธศาสนาต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยพระที่ไม่ดี ท่านจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการกลั่นแกล้งอย่างไร
เราจึงมองว่าพระสมทัดมีความเป็น “พระแท้”ทำอะไรไว้ก็ยอมรับแต่โดยดีไม่มีการบิดพริ้ว ถ้าสังคมพุทธต้องการพระแท้ชาวพุทธก็ควรหันกลับมามองในมุมใหม่ว่า พระสมทัดนี่แหละพระแท้ เพราะท่านไม่ได้ออกมาแก้ตัว พลาดอะไรไปก็ออกมายอมรับตรง ๆ แม้จะรู้ว่าถูกรังแกจากชายแปลกหน้าก็ไม่เรียกร้องอะไรยอมสึกออกไปจากศาสนาภายในวันเดียว ชาวพุทธควรหันกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า “พระแท้” ที่ตนต้องการคือพระแบบไหน ? พระที่รู้ตัวว่าพลาดไปแล้วออกมายอมรับผิดแล้วสึกไปภายวันเดียวแบบนี้ถ้าไม่เรียกว่าพระแท้แล้วจะเรียกว่าพระอะไร ?
ถ้าเป้าประสงค์ของชายนิรนามคนนั้นต้องการทำลายพระสงฆ์รูปหนึ่งด้วยการปล่อยคลิปอนาจารออกไป หากชุมชนพุทธมีความเข้มแข็งมากพอพร้อมจะให้โอกาสพระสมทัดดำเนินชีวิตสมณะต่อไปก็เป็นเรื่องที่ท้าทายว่า “มารทำงานไม่สำเร็จ” ไม่มีใครต้องสูญเสียพระดี ๆ ไป สังคมพุทธก็มีความมั่นคงไม่อ่อนไหวหรืออ่อนแอเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยเข้ามาสะกิด
ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะเราไม่คุยเรื่องเพศในศาสนากัน เราจึงไม่รู้ว่าจะวางจิตวางใจต่อประเด็นเหล่านี้อย่างไร เอะอะขึ้นมาก็เรียกร้องให้พระลาสิกขาไปก่อนโดยไม่ศึกษาว่าพระวินัยกล่าวไว้อย่างไร ? สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดระดับไหน หนัก กลาง หรือเบา ? เป็นกลลวงของคนแปลกหน้าหรือเป็นความผิดพลาดจริง ๆ ที่พระรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ?
ตกลงแล้วใครที่พลาดไป ?
“พลาด” วาดโดย พระวรธรรม
6. ชาวพุทธอย่าตั้งความหวังในตัวพระมากจนเกินพอดี
เราอาจจะต้องกลับมาเรียนรู้กันใหม่ว่าพระสงฆ์ก็เป็นมนุษย์ที่ทำผิดได้ พระสงฆ์ก็ทำพลาดได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงย่อมมีมารมาผจญก็ย่อมผิดพลาดกันไป เพียงแต่ว่าเราจะวางใจอย่างไรเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง เราจะมีท่าทีและมุมมองที่จะเข้าใจต่อเรื่องนี้อย่างถูกต้องอย่างไร
ถ้าเราสามารถเข้าใจได้เราก็จะไม่จิตตกไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องจิตตกว่าทำไมพระสงฆ์ที่เราศรัทธาจึงทำผิดพลาดได้ขนาดนั้น ไม่ต้องกังขาว่าพระที่เราศรัทธาทำไมจึงลาสิกขา เข้าใจในธรรมดาของโลกมองเห็นความเป็นไปของโลก ยึดเอาการปฏิบัติธรรมเป็นที่พึ่งภายใน ไม่ยึดเอาพระสงฆ์เป็นสรณะล้วน ๆ แต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่แล้วมา ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของพระสงฆ์ว่าท่านก็ไม่ต่างจากเรา เพียงแต่ท่านมีวิถีชีวิตอยู่ในกรอบ อยู่ในเครื่องแบบที่ต้องดูแลควบคุมตนเอง จึงเป็นไปได้ที่ท่านจะทำผิดพลาดได้เพราะท่านยังมีความเป็นมนุษย์อยู่
พระสงฆ์ก็คือกัลยาณมิตรที่เดินเคียงข้างไปกับฆราวาส การมีพระสงฆ์ขึ้นมาก็เพื่อเป็นพื้นที่ที่ฆราวาสสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตนเองเข้าไปใช้ชีวิตเป็นนักบวชอย่างเต็มเวลาเพื่อที่จะได้มีเวลาเรียนรู้คำสอนอย่างลึกซึ้ง แล้วนำคำสอนนั้นไปสั่งสอนฆราวาส นักบวชก็คือฆราวาสที่เข้าไปใช้ชีวิตในศาสนานั่นเอง
พระสงฆ์จึงเป็นกัลยาณมิตรของฆราวาส ที่เมื่อเวลาฆราวาสไม่เข้าใจหัวข้อธรรมใด ๆ มีความขัดข้องสงสัยในข้อปฏิบัติใด ๆ พระสงฆ์ก็ช่วยให้ความกระจ่างได้ ทำความมืดให้สว่างได้ เป็นเนื้อนาบุญที่หว่านเมล็ดบุญลงไปก็เกิดผลบุญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้แปลว่าพระสงฆ์จะไม่มีโอกาสทำผิดพลาดอะไรเลย พระสงฆ์ก็ย่อมมีโอกาสทำผิดพลาดได้
เมื่อพระสงฆ์ทำผิดพลาด หน้าที่ของฆราวาสก็คือให้อภัยกันในฐานะกัลยามิตรที่ต้องดูแลความรู้สึกให้กันและกัน มีความกรุณาต่อท่านเมื่อท่านตกอยู่ในห้วงทุกข์ เราก็พร้อมจะเข้าใจ ยอมรับ และให้อภัยท่าน สังคมประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายประเภทย่อมเป็นไปได้ที่พระสงฆ์จะถูกทำร้าย เมื่อท่านถูกทำร้ายเราควรเข้าไปช่วยเหลือเพราะการอยู่ในสังสารวัฏแห่งนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่โดนคนพาลทำร้ายหรือไม่มีโอกาสผิดพลาด
บางท่านเห็นพระทำผิดก็รู้สึกผิดหวังในตัวพระสงฆ์เลิกนับถือพระเพราะคิดว่ากำลังโดนหลอก เลิกนับถือพุทธศาสนาเพราะคิดว่าไม่ใช่ของจริง นั่นเป็นเพราะว่าเขายังไม่เข้าใจอย่างรอบด้านว่าพระสงฆ์มิใช่พระพุทธศาสนา พระสงฆ์เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสอน ในเมื่อผู้ปฏิบัติตามคำสอนยังเป็นมนุษย์ก็ย่อมผิดพลาดกันได้ พระสงฆ์จึงไม่ใช่ตัวศาสนาทั้งหมด ศาสนาเป็นเรื่องของคำสอนที่ทุกคนต้องเดินเข้าไปศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง มิใช่ว่าคำตอบทุกอย่างจะอยู่ที่พระสงฆ์ทั้งหมด
บางทีเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าเรานับถือและปฏิบัติอะไรในพุทธศาสนา
ในขณะที่คำสอนทิ้งท้ายของพระพุทธองค์ก่อนปรินิพพานได้ตรัสไว้ว่า
“เมื่อเราล่วงไป “ธรรมและวินัย” จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย”
แล้วเราเดินทางสู่การปฏิบัติในคำสอนของพระพุทธองค์จนเข้าใจคำสอนนั้นบ้างแล้วหรือยัง ?
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=CriEthMdWmQ
https://www.youtube.com/watch?v=dbyb3RZ50H8
https://health.kapook.com/view150050.html