Insects in the Backyard(แมลงรักในสวนหลังบ้าน)
ครอบครัวฉันพังเพราะสังคม
คอลัมน์ คุยเรื่องเพศกับพระชาย
พระชาย วรธรรม เรื่อง [แนะนำผู้เขียน]
Insects in the Backyardหรือในชื่อภาษาไทย “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่เพิ่งถูกนำออกฉายเมื่อปี 2560 สาเหตุเพราะหนังเรื่องนี้มีฉากการร่วมเพศปรากฏในจอทีวี 3 วินาที ผู้กำกับ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พยายามต่อสู้ฟ้องศาลอย่างสุดฤทธิ์ว่าไม่ควรมีหนังเรื่องใดที่ต้องโดนแบนโดยอาศัย พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เพิ่งออกบังคับใช้สด ๆ ร้อน ๆ เพียง 2 ปี ซึ่งเวลานั้นธัญญ์วารินเข้าใจว่า พ.ร.บ. นี้มีเนื้อหากำหนดให้ใช้ระบบจัดเรตภาพยนตร์แทนการเซ็นเซอร์ . แปลว่าจะไม่มีหนังเรื่องไหนถูกตัดฉากใด ๆ ออกไปนอกเสียจากแค่ถูกจัดให้อยู่ในเรตที่ผู้ใหญ่สามารถดูได้เท่านั้น
ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนังเสื่อมเสียศีลธรรม
แต่ในที่สุดสิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น . เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกส่งให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมตรวจสอบ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแบนทันทีด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความรักของเพศเดียวกัน มีตัวละครอยู่ในชุดนักเรียนแต่ไปขายบริการทางเพศ มีฉากสูบบุหรี่ดื่มสุราในชุดนักเรียน
เมื่อเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลกลับมีข่าวดีคือศาล “ยกฟ้อง” ซึ่งภายใต้การยกฟ้องนั้นศาลให้เหตุผลว่าภาพยนตร์ของธัญญ์วารินมิได้มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยใด ๆ รวมทั้งมิได้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เพียงแต่ศาลให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าถ้าตัดฉากโป๊ 3 วินาทีนั้นออกไปภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่มีฉากไหนที่ผิดศีลธรรม
ธัญญ์วารินจึงยอมตัดฉากความยาว 3 วินาทีดังกล่าวออกไปทำให้ภาพยนตร์ได้เรท ฉ 20- แปลว่าคนที่จะดูหนังเรื่องนี้ได้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น อย่างน้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็นหนังที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเสียที
จึงสามารถพูดได้ว่า Insects in the Backyard เป็นหนังที่มีเนื้อหาท้าทายต่อระบบความคิดความเชื่อเรื่องเพศในสังคมไทยไม่น้อยทีเดียว ถ้าใครยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้แนะนำให้ไปหาชมดูก่อนแล้วท่านจะพบว่าตัวหนังมีเนื้อหาที่น่าสนใจชวนให้ศึกษาตัวตนของมนุษย์ไม่น้อย (บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)
กะเทาะ 5 ประเด็นในหนัง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน”
หนังเรื่องนี้มี 5 ประเด็นที่ชวนให้ขบคิด เป็น 5 ประเด็นที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกเริ่มจาก ...
1. เป็นหนังครอบครัว
ใครจะไปรู้ว่าหนังที่มีประเด็นเรื่องเพศที่ข้ามเส้นศีลธรรมจนถูกห้ามฉายด้วยคำตัดสินว่ามันเป็นหนังที่บ่อนทำลายศีลธรรมอันดีของสังคมกลับกลายเป็นหนังที่สนับสนุนเชิดชูความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว . ถ้าคุณได้ดูจนจบคุณจะรู้ว่าหนังเรื่องนี้ชูประเด็นเรื่องครอบครัวมาเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นการนำเสนอภาพปรักหักพังของครอบครัวครอบครัวหนึ่งที่สมาชิกในบ้านกำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งนั่นคือการไม่พูดไม่จากันเหมือนกับที่หลาย ๆ ครอบครัวในปัจจุบันกำลังเผชิญ
ฉากแรก ธัญญ่า เดินโซซัดโซเซไปในป่าละเมาะ สักพักเธอเดินลุยโคลนจนเสื้อผ้าที่สะอาดต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อนโคลน ฉากนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าธัญญ่ากำลังเผชิญกับความยากลำบากของชีวิต . ธัญญ่าอยู่ในบ้านเดียวกับเด็กวัยรุ่นอีกสองคนแต่เด็ก ๆ ไม่พูดจากับเธอ แม้เธอจะพยายามเอาใจใส่ สอบถาม พูดคุย ทำอาหารให้กิน อย่างมากเด็กสองคนก็แค่ถามคำตอบคำแบบไร้หางเสียง . เด็ก ๆ ดูไม่แยแสกับธัญญ่า มันเกิดอะไรขึ้นกับคนในบ้านนี้ ?
เจนนี่พี่สาว จอห์นนี่น้องชาย ทั้งสองคนเป็นน้องของธัญญ่า เด็ก ๆ ดูเหินห่างกับพี่สาว ไม่ค่อยเอาใจใส่ความรู้สึกของพี่สาว ไม่ว่าพี่สาวจะเอาอกเอาใจอย่างไร ทำอาหารให้ทาน แต่เด็ก ๆ กลับเมินเฉย
2. เป็นหนังที่พูดถึงประเด็นLGBT
แท้จริงแล้ว เจนนี่ กับ จอห์นนี่ เป็นลูกสาวและลูกชายของธัญญ่า . ทำไมเจนนี่กับจอห์นนี่เรียกธัญญ่าว่าพี่สาว เพราะเด็ก ๆ ไม่สามารถยอมรับได้ว่านี่คือ พ่อ ของเขา ทำไมพ่อจึงแต่งตัวเป็นหญิง ไว้ผมยาว วัน ๆ เอาแต่เขียนหนังสือไม่ออกไปทำมาหาเงินเหมือนพ่อคนอื่น ๆ จนเจนนี่และจอห์นนี่รู้สึกไม่ภาคภูมิใจที่มีพ่อเป็นกะเทยแบบนี้ . เวลาใครถามว่าธัญญ่าเป็นใคร . เจนนี่กับจอห์นนี่จะตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “ธัญญ่าเป็นพี่สาว”
ทำไมความสัมพันธ์ของคนในบ้านเป็นแบบนี้ . เพราะเด็ก ๆ รู้สึกรังเกียจที่มีพ่อเป็นกะเทย . มันคือความรู้สึก Transphobia(ความรู้สึกรังเกียจคนข้ามเพศ) . เด็ก ๆ ไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจที่พ่อเป็นกะเทย . เด็ก ๆ รู้สึกอายที่จะแนะนำคนอื่น ๆ ให้รู้ว่านี่คือพ่อของพวกเขา . ตอนที่จอห์นนี่พาเพื่อนมาเที่ยวบ้าน จอห์นนี่แนะนำเพื่อนว่าธัญญ่าคือพี่สาว . แฟนของเจนนี่ถามว่าเจนนี่อยู่กับใคร . เจนนี่ตอบว่าอยู่กับพี่สาว . แล้วเด็ก ๆ รับเอาทัศนคติการรังเกียจกะเทยมาจากไหน . เด็ก ๆ รับเอาอคติมาจากสังคมข้างนอกบ้าน อคติจะมาจากในบ้านได้อย่างไรในเมื่อพวกเขาอยู่กันแค่สามคน ไม่ได้มีคนอื่นนอกจากนี้
เราลองคิดดูว่าเรามีมุมมองอย่างไรต่อกะเทย ? เราไม่ชอบกะเทยใช่ไหม . เพราะอะไรเราจึงไม่ชอบกะเทย . เพราะสังคมมีวิธีคิดที่ไม่ดีต่อกะเทย . สังคมบอกว่ากะเทยดูไม่แมน . สังคมบอกว่ากะเทยเป็นเพศที่ไม่สมบูรณ์เหมือนผู้ชายผู้หญิง . สังคมบอกว่ากะเทยเป็นพวกวิปริตผิดเพศ . ในห้องเรียนครูอาจารย์มักพูดถึงกะเทยในแง่ลบต่าง ๆ นานา . พอเราไปวัดพระก็บอกว่ากะเทยเป็นกรรมและห้ามบวช . สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสังคมที่เราอยู่ . มันเป็นอคติที่สังคมมีต่อกะเทย . เมื่อกลับมาบ้านทำให้เจนนี่และจอห์นนี่ปฏิบัติกับพ่อของเขาแบบนั้น. พวกเขากลายเป็นเด็กที่มีความรู้สึก Transphobia กับพ่อตัวเอง
.
สำหรับจอห์นนี่อาจจะเป็นหนักกว่าเพราะเขาเก็บเอาพ่อไปฝันร้ายถึงสองครั้ง . มันเป็นฝันร้ายที่รบกวนสุขภาพจิตของเขา . เขาฝันว่าเขาฆ่าพ่อด้วยมือของเขาเอง
มันเป็นความบังเอิญของจอห์นนี่ด้วยที่บางครั้งจอห์นนี่เห็นธัญญ่ากำลังสำเร็จความใคร่ตนเองในห้องน้ำและยังเห็นธัญญ่ากำลังจะจูบเพื่อนผู้ชายของตนที่พามาเที่ยวบ้าน . จริง ๆ แล้วเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าพ่อกับลูกเปิดใจคุยกันถึงเรื่องเพศวิถี . พูดต่อกันด้วยความเข้าใจ . เมื่อลูกเข้าใจพ่อแล้วเวลาอยู่บ้านเดียวกันหากลูกบังเอิญเห็นพ่อกำลังทำอะไรในห้องน้ำก็ไม่ต้องเขินอายหรือรู้สึกประดักประเดิด . เมื่อลูกพาเพื่อนมาเที่ยวบ้าน ลูกก็สามารถแนะนำเพื่อนได้ว่า “เฮ้ย .. นี่พ่อของเรา” เมื่อนั้นเพื่อนก็จะเข้าใจว่านี่คือพ่อจะได้ไม่ทำตัวข้ามเส้นไปจูบพ่อเพราะเข้าใจผิดว่านี่คือพี่สาวเพื่อน
ฉากความฝันว่าจอห์นนี่ฆ่าพ่อจึงถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าจอห์นนี่รู้สึกเกลียดพ่อจนเก็บเอาไปฝันร้ายแบบนั้น
มันเป็นความเลวร้ายหากสังคมทำให้ครอบครัวหนึ่งถึงกับแตกหักพังทลายลงด้วยทัศนคติรังเกียจกะเทยของสังคมเองที่กระจายอยู่ทั่วไปโดยไม่มีใครลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
3. เป็นหนังที่พูดถึงเรื่องเพศ
ในที่สุดหนังก็พาคนดูไปสู่จุดเปลี่ยนเมื่อเจนนี่ทราบว่าบอย แฟนหนุ่มของเธอมีอาชีพขายบริการ เธอจึงสนใจอยากจะลองทำดูบ้าง. บอยมักจะขายบริการให้กับเกย์กะเทย (หนังบอกเราตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่าธัญญ่าเป็นลูกค้าคนหนึ่งของบอย นั่นแปลว่าพ่อกับลูกสาวมีความสัมพันธ์กับชายคนเดียวกัน)
เมื่อเจนนี่ไปขายบริการ เธอพบเจอคนซื้อหลากหลายรูปแบบ ทั้งเสี่ย ทั้งผู้หญิง . หรือกะเทยที่ต้องการเป็น “คนดู” โดยให้เจนนี่แสดงเป็น “ฝ่ายรุก” กับบอยแสดงเป็น “ฝ่ายรับ” และแต่งหญิง ส่วนกะเทยที่เป็นลูกค้าก็นั่งชมการแสดงของเธอกับแฟนหนุ่มปฏิบัติกามกิจบนเตียง
อีกฟากฝั่งหนึ่ง จอห์นนี่มีเพื่อนพาไปเรียนรู้เรื่องวิธีการหาเงินผ่านการมีเซ็กส์ (คือการขายบริการทางเพศนั่นเอง) จอห์นนี่ผ่านประสบการณ์กับลูกค้าผู้ชายที่มีครอบครัว หรือลูกค้าเกย์ที่ต้องการการกอดเพื่อความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง
4. เป็นหนังที่พูดถึงการเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น หรือ Coming of Age
เมื่อผ่านประสบการณ์การขายบริการ เจนนี่จึงเข้าใจพ่อของเธอมากขึ้นว่าที่จริงมันเป็นเรื่องของ “เพศวิถี” ที่แตกต่างกันแค่นั้นเอง . เจนนี่พูดกับบอยว่า “ไม่มีใครผิดหรอก . ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตัดสินต่างหาก . บางทีเราอาจจะผิดก็ได้ที่เกิดเป็นลูกของเค้า” (คำว่า “เค้า” หมายถึง ธัญญ่า)
หลังจากผ่านการขายบริการจอห์นนี่เข้าใจความรู้สึกของธัญญ่ามากขึ้นว่าแท้จริงแล้วพ่อของเขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง . พ่อของเขาก็เหมือนลูกค้าคนหนึ่งที่มีครอบครัวแล้วยังเอาเงินมาซื้อความสุขบนตัวเขา . พ่อของเขาก็คงเหมือนพ่อคนอื่น ๆ ที่มีเพศวิถีที่แตกต่าง เป็นพ่อที่ต้องการความรัก ต้องการการกอดเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า
ในที่สุดเด็ก ๆ ทั้งสองก็เปลี่ยนผ่านจากความไม่เข้าใจในเรื่องเพศของพ่อไปสู่ความเข้าใจมากขึ้น . ธัญญ์วารินบอกว่า “ไม่มีใครในโลกนี้ที่มีเพศสัมพันธ์ครบทุกแบบ ถ้าคนเรามีเพศสัมพันธ์ครบทุกแบบเราคงมีความเข้าใจในเรื่องเพศเหมือนกับที่เจนนี่และจอห์นนี่เข้าใจความเป็นตัวตนของพ่อหลังจากที่ทั้งคู่เรียนรู้เรื่องเพศผ่านการขายบริการ”
ถ้าอย่างนั้นคนที่เข้าใจเรื่องเพศและยอมรับเรื่องเพศได้น่าจะเป็น “คนขายบริการทางเพศ” เพราะคนขายบริการทางเพศต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีหลากหลาย พวกเขาคงไม่มีอคติกับเรื่องเพศเพราะพวกเขาทำงานให้บริการที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีหลากหลายรูปแบบ
5. กะเทยมาก่อนกาล
ตัวละคร “ธัญญ่า” ที่ธัญญ์วารินสร้างขึ้นมาก็มาจากชีวิตของเธอเอง . เธอแสดงเป็นธัญญ่าเอง ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ “มาก่อนกาล” เพราะเป็นตัวละครกะเทยที่มีครอบครัว .
แม้ธัญญ์วารินจะไม่เคยมีลูกแต่เธอเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเลี้ยงหลาน หลังจากอาบน้ำให้หลานเสร็จก็เอาเสื้อยืดของตัวเองให้หลานใส่แต่หลานกลับพูดขึ้นมาว่า “ไม่เอาเสื้อตุ๊ด ไม่ใส่เสื้อตุ๊ด” เวลานั้นธัญญ์วารินเข้าใจได้ทันทีว่าหลานรับเอาความคิดนี้มาจากโรงเรียนเพราะที่ผ่านมาหลานไม่เคยพูดกับตัวเองแบบนี้มาก่อน
ธัญญ์วารินเล่าว่านอกจากเธอจะเอาคาแรคเตอร์ “ธัญญ่า” มาจากความเป็นตัวเธอเองแล้วเธอยังเอาคาแรคเตอร์กะเทยมีครอบครัวมาจาก “อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์” . ย้อนหลังกลับไปก่อนปี 2553 อาจารย์ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการกับสื่อว่าตนเองมีครอบครัว แต่อาจารย์ก็ไม่เคยปฏิเสธว่าอาจารย์มีภริยาและลูกอีกสองคนต่อมาอาจารย์เพิ่งให้สัมภาษณ์ออกสื่อถึงชีวิตครอบครัวเมื่อต้นปี 2559 (คอลัมน์ “คุยเรื่องเพศกับพระ” เคยเขียนถึงอาจารย์ยิ่งศักดิ์ในบทความชื่อ “กะเทยมีเมีย กะเทยเลสเบี้ยน กะเทยรักผู้หญิง มีอะไรมากกว่าแค่กะเทยที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า” สามารถอ่านได้จากที่นี่ https://www.teenpath.net/content.asp?ID=21343 )
และเมื่อประมาณกลางปี 2560 “พินิจ งามพริ้ง” ประธานเชียร์ฟุตบอลได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็น “พอลลีน งามพริ้ง” เมื่อนั้นความเข้าใจเรื่องพ่อกะเทยจึงค่อย ๆ ถูกเปิดเผยออกมาให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น (อ่านบทความ “คิดถึงพอลลีน” ได้ที่นี่ https://www.teenpath.net/content.asp?ID=21443)
อาจจะเรียกได้ว่า Insects in the Backyardเป็นหนังไทยที่นำเสนอภาพกะเทยมีครอบครัวที่ “มาก่อนกาล” เพราะย้อนหลังกลับไป 10 ปีที่แล้วผู้คนยังไม่มีการรับรู้ว่ากะเทยก็สามารถสร้างครอบครัวได้
ธัญญ่า เป็นตัวละครที่มีความสามารถในการในการขีดเขียน . เธอเป็นนักเขียนเธอนั่งเขียนนิยายอยู่ในบ้านที่ทาผนังสีเขียวจัดจ้าน เธอออกนิยายอิโรติคไปแล้วสองเล่ม คือ “ประสบการณ์ผู้หญิงเฉียดเสียตัว” กับ “ฉันไม่อยากเป็นฮิททีเรีย”
ธัญญ่าชอบดาราฮอลลิวู้ด เธอใฝ่ฝันอยากเป็นดารา เธอแขวนรูปดาราฮอลลิวู้ดเก่า ๆ ไว้เต็มบ้าน เธอยังชอบแต่งตัวเป็นออร์เดรย์ แฮปเบิร์น ดาราในยุคหนังขาวดำผู้มีความสวยเป็นอมตะ
ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ลูกสองคนของเธอไม่ได้ยอมรับ . ธัญญ่ารู้สึกผิดหวังในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ สุดท้ายมีคนโทรมาหาเธอ ๆ ตอบว่า “ที่นี่ไม่มีคนชื่อธัญญ่า”มันแปลว่าเธอปฏิเสธตัวเองที่เป็นแบบนี้แต่เธอก็ทำอะไรไม่ได้ ในขณะที่เธอก็ยังสำเร็จความใคร่ด้วยมือกับองคชาติของเธอ
ซาร่า เป็นตัวละครที่ปรากฏในตอนจบของเรื่อง ซาร่าคือภริยาของธัญญ่า ซาร่าเสียชีวิตหลังจากคลอดจอห์นนี่ออกมาดูโลก คนดูอาจจะสงสัยว่าธัญญ่าแต่งหญิงหลังจากซาร่าตายหรือธัญญ่าแต่งหญิงแบบนี้มาตั้งแต่ซาร่ายังมีชีวิตอยู่ . คำตอบคือธัญญ่าแต่งหญิงมาตั้งแต่มีความสัมพันธ์กับซาร่าแล้ว . ตอนที่เจนนี่เกิดมาเจนนี่ก็เห็นธัญญ่าแต่งเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว นั่นแปลว่าซาร่าเป็นหญิงที่ยอมรับในตัวตนของธัญญ่าแล้วทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตร่วมกันจนให้กำเนิดบุตรสองคน
.
ฉากสุดท้ายธัญญ่าเข้ามาในบ้านทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านอยู่ในสภาพระเกะระกะ เหมือนใครทำให้บ้านสกปรกรกรุงรัง . บนพื้นที่สกปรกเลอะเทอะมีดอกกุหลาบหลายดอกกระจายเกลื่อนกลาดอยู่บนพื้น
.
ธัญญ่าก้มลงหยิบดอกกุหลาบขึ้นมา ... ดอกกุหลาบเปรียบเหมือนความรักในบ้านได้ถูกทำลายลงเพราะทัศนคติของสังคมที่เกลียดกะเทย ....
.
ถูกแล้วที่ศาลตัดสินว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อหาหรือฉากไหนทำลายศีลธรรมอันดี มีแต่สังคมเท่านั้นที่ทำลายคุณค่าในครอบครัวของธัญญ่าให้พังพินาศลงไป ...