 |
กระบวนการสอนเพศศึกษา ในปรัชญาการทำงานของ กศน. |
 |
จุรีรัตน์ โพธิ์วิจิตร |
ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ |
|
 |
“...ปรัชญาการทำงานของ กศน. คือ การสอนให้ผู้เรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งสอดคล้องกับหัวใจของหลักสูตรก้าวย่างฯ อยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่พี่ยืนยันได้คือ จะยังใช้หลักสูตรพัฒนาทักษะชีวิตสอนนักเรียนต่อไปแน่นอน” |
|
|
|
 |
 |
 |
“การโค้ช ต่างจากการนิเทศ เพราะการโค้ชเป็นกระบวนการถ้อยที ถ้อยอาศัย เป็นกัลยาณมิตรต่อกันมากกว่าการนิเทศ ซึ่งเป็นการติดตามประเมินผล การโค้ชไม่ใช่การมาตำหนิ แต่เป็นการมาช่วยให้ผู้สอนจัดกิจกรรมได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น” |
|
 |
จุรีรัตน์ โพธิ์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเหนือคลอง (กศน. เหนือคลอง) จังหวัดกระบี่ ให้ภาพความแตกต่างของนิยามคำว่า “โค้ช” และ “นิเทศ” จากประสบการณ์การร่วมงานในฐานะโค้ชเพศศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของผู้บริหารที่ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้ใช้ทักษะการจัดการเรียนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการทำงานในโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ
จุรีรัตน์ย้อนความหลังว่าแรกที่ได้รู้จักโครงการก้าวย่างฯ นั้น เป็นเพราะสำนักงานบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ได้คัดเลือกจังหวัดที่พร้อมเปิดสอนวิชาหมวดทักษะชีวิต ๑ และผู้บริหาร กศน. ของกระบี่ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๑๕ จังหวัดนำร่องของ กศน. ก็คัดเลือก กศน.อำเภออ่าวลึกซึ่งเธอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ในขณะนั้นเป็นอำเภอแรกให้ส่งครูไปเข้าร่วมอบรม ครั้นเมื่อเธอย้ายมาอยู่ที่ กศน. เหนือคลองในปัจจุบัน ทางจังหวัดก็คัดเลือกให้อำเภอที่เธอดูแลส่งครูไปเข้าร่วมอบรมอีกครั้ง
เธอจึงเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ กศน. ที่ได้รู้จักโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจตั้งแต่ครั้งที่ กศน. เข้าร่วมเป็นภาคีหนึ่งของโครงการฯ เมื่อปี ๒๕๔๙
แม้จะเป็นน้องใหม่ของโครงการฯ และเพิ่งเริ่มจัดการสอนได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา แต่จุรีรัตน์พบว่า กศน. ได้ประโยชน์จากการนำกระบวนการเรียนรู้แบบก้าวย่างฯ ไปใช้อย่างมาก
เริ่มตั้งแต่การทำงานร่วมกับเครือข่าย ซึ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.
“เวลาจัดกิจกรรม หรือเวลาสอบ เราในฐานะ กศน. ไม่มีสถานที่เป็นของตัวเอง ก็ต้องไปใช้สถานที่ในโรงเรียนที่ถือเป็นเครือข่าย ทำให้เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกันกับโรงเรียนใน สพฐ. พอเขารู้ว่าเราจัดอบรมเรื่องนี้ ครูในโรงเรียนก็สนใจขอเข้าร่วมด้วย แล้วเราก็พบว่าครูสนใจกระบวนการเรียนรู้แบบนี้มาก เพราะเขาได้มีโอกาสแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ได้เห็นกระบวนการสรุปบทเรียน ซึ่งทำให้เขามีความสุขกับการสอนมากกว่ารูปแบบเดิมที่ใช้การบอกความรู้”
ไม่เพียงแต่จะสามารถขยายกระบวนการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางออกไปสู่ผู้สอนในโรงเรียนที่อยู่ในระบบ แต่จุรีรัตน์เห็นข้อได้เปรียบอีกอย่างของการเรียนแบบ กศน. ซึ่งต่างไปจากการเรียนในโรงเรียนคือ มีกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลาย ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศการแลกเปลี่ยนที่ทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนล้วนได้เติมเต็มให้กันและกันตลอดเวลา |
|
 |
“ที่ กศน. เหนือคลอง เรามีการสอนเพศศึกษาแก่ผู้ปกครองด้วยในรูปแบบค่าย ที่เคยจัดไปแล้ว คือ การอบรมแบบไปกลับ ๒ วัน เราพบว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ปกครองนั้น ทำได้เยอะมากกว่ากับนักศึกษา แล้วเราก็เห็นอีกว่า ครูเราไม่ได้รู้ทั้งหมด ความรู้ใหม่ๆ เราสามารถได้จากผู้เรียนด้วย”
ในความเห็นของจุรีรัตน์ การจัดการสอนเพศศึกษาให้แก่ผู้ปกครองในรูปแบบค่าย ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในหมวดกิจกรรมพัฒนาชีวิตนั้นลงตัวกว่าการสอนในชั่วโมงพบกลุ่มทั้งเรื่องเวลาและความต่อเนื่อง
“เวลาพบกลุ่ม แต่ละอาทิตย์ครูจะมีเวลาไม่มาก ซึ่งครูมีเรื่องต้องพูดคุยกับนักเรียนเยอะ ก็เลยต้องแบ่งเวลาสอน แต่การจัดกิจกรรมในรูปแบบค่าย ทำให้ผู้เรียนเห็นภาพของเพศศึกษาได้รอบด้าน ในความเห็นของพี่ คิดว่ารูปแบบที่เราใช้สอนเพศศึกษาแก่ผู้ปกครองนั้นจึงลงตัวกว่ามาก”
นอกจากได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และได้รับความรู้เพิ่มเติมแล้ว การสอนเพศศึกษาให้แก่ผู้ปกครองยังทำให้จุรีรัตน์เห็นถึงหัวอกพ่อแม่มากขึ้น
“จากประสบการณ์ที่ไปจัดกิจกรรมกับผู้ปกครอง มีหลายคนที่ ‘อิน’ มาก จนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาเลย เรารู้สึกว่าการจัดกิจกรรมแบบนี้ ทำให้ผู้ปกครองได้ระบายความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพ่อแม่ และแต่ละคนก็ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นด้วย”
จุรีรัตน์ยังพบอีกว่า ผู้ปกครองหลายคนเปลี่ยนทัศนคติต่อลูกวัยรุ่นของตนไปพอสมควรหลังจากที่ได้มาเรียนรู้เรื่องเพศจากการเข้าค่ายกับ กศน. |
|
|
|
|
 |
|
“เรายังไม่เคยประเมินผลเป็นทางการกับผู้ปกครอง แต่ก็มีผู้ปกครองมาเล่าว่าเขาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้กับลูกได้ดี ทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น”
นอกจากจะได้ใช้เพศศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้และพบปะของผู้ปกครองร่วมกันแล้ว หลังจากนำกระบวนการมาใช้สอนในห้องเรียนของ กศน. ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้สอนอย่างสัมผัสได้ชัดเจนในความเห็นของจุรีรัตน์คือ ความสามารถของครู กศน. ที่นำกระบวนการชวนคิดชวนคุยไปใช้สอนในวิชาอื่นได้อย่างต่อเนื่อง
“ไม่ว่าเนื้อหาอะไร เราก็สามารถนำกระบวนการชวนคิด ชวนคุยเข้าไปใช้ ก่อนหน้านี้ ครูของเราไม่เคยลองใช้กระบวนการนี้เลย แต่พอไปอบรมมาแล้ว ครูก็นำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง ล่าสุดคือเรื่องส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พี่ว่าหลังจากอบรมมาแล้ว ครูเขามีความสุขกับการสอนมากขึ้นนะ จากเดิมที่เคยกังวลว่า ไปพบกลุ่มคราวนี้ ไม่รู้จะเอาอะไรไปสอนดี มาตอนนี้ ครูก็รู้วิธีการที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน เช่น จากเดิมที่พอพบหน้า ก็เขียนโจทก์ขึ้นกระดานเลย เดี๋ยวนี้ ครูก็จะชวนผู้เรียนเล่นเกม ร้องเพลงกันก่อนเพื่อเป็นการเกริ่นนำเข้าสู่บทเรียน รวมทั้งรู้ว่าจะสรุปการเรียนรู้อย่างไร”
จุรีรัตน์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของครูผู้สอนจากการที่เธอได้ลงโค้ช ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญและเป็นประโยชน์ยิ่งในความเห็นเธอ
“ประโยชน์ของการโค้ชนั้นดี เพราะทำให้ครูได้สะท้อนตัวเอง พี่ยอมรับว่าครูเรายังไม่มีประสบการณ์ลื่นไหลเหมือนวิทยากรของโครงการฯ ซึ่งพี่ว่าเรื่องนี้ขึ้นกับประสบการณ์ ถ้าได้สอนบ่อยๆ ก็น่าจะคล่องขึ้น อีกอย่าง วิธีการที่เราไปเติมเต็มให้ครู โดยนั่งดูหลังห้องก็สร้างความเครียดให้ผู้สอนอยู่บ้างนะ ทำให้ครูตื่นเต้น ลืมตรงโน้น ตรงนี้ ไปบ้าง พี่ก็พยายามปรับรูปแบบการโค้ช เช่น ไม่ถือกระดาษไว้ในมือเวลาที่เราไปสังเกตการณ์สอน หรือบางทีก็ทำตัวเป็นสมาชิกคนหนึ่งของผู้เรียนไปด้วย ไม่นั่งแยกวงต่างหาก ซึ่งเราใช้รูปแบบนี้ได้ถ้าไปสังเกตในชั่วโมงที่มีผู้ปกครองเป็นผู้เรียน แต่ถ้าเป็นการโค้ชในวิชาทักษะชีวิต ๑ ซึ่งเป็นวิชาที่มีแต่เยาวชนลงเรียน ก็ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้”
และด้วยประโยชน์ทั้งหมดที่กล่าวมา จุรีรัตน์จึงยืนยันว่าแม้โครงการฯ จะจบลง และอาจไม่ได้ดำเนินการต่อ แต่ กศน. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเธอจะเกิดความยั่งยืนในการสอนเพศศึกษาและการนำกระบวนการชวนคิด ชวนคุย ไปใช้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากคำตอบของตัวเองต่อไป
“พี่ประทับใจกับคู่มือการจัดกิจกรรมที่ก้าวย่างฯ ออกแบบมา พี่เห็นว่าแม้คนที่ไม่ได้ผ่านการอบรม ก็สามารถศึกษาด้วยตนเองและนำไปใช้สอนได้ ดังนั้น เราจึงสามารถถ่ายทอดให้กันและกันได้โดยคนที่ผ่านการอบรมมาแล้ว ก็มาจัดการอบรมต่อให้กับครูคนอื่น
“และเพราะปรัชญาการทำงานของ กศน. คือ การสอนให้ผู้เรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งสอดคล้องกับหัวใจของหลักสูตรก้าวย่างฯ อยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่พี่ยืนยันได้คือ จะยังใช้หลักสูตรพัฒนาทักษะชีวิตสอนนักเรียนต่อไปแน่นอน”
|
|
 |