 |
มนต์สุดา เกรียงไกร “อยากเป็นโค้ชในดวงใจของนักกีฬา มากกว่าเป็นผู้นิเทศ” |
 |
มนต์สุดา เกรียงไกร |
ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง |
|
|
 |
ื“การโค้ชที่ดี ต้องทำให้ครูสบายใจขึ้น มีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ถูกโค้ชแล้วรู้สึกอึดอัดใจ...ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนมุมมองในการทำงานให้ใช้การโค้ชแทนการนิเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการสอนอย่างเดียว ยังนำมาใช้ในเรื่องการทำงานร่วมกันได้ด้วย การโค้ชจะทำให้เรากับเพื่อนร่วมงานมีความใกล้ชิด เข้าใจกันมากขึ้น” |
|
|
|
|
 |
สำหรับผู้บริหารในระดับอำเภอ ซึ่งมีภารกิจที่ต้องดูแลศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนถึง ๖ ตำบลในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง แต่สิ่งนี้กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่โค้ชแต่อย่างใด เพราะ มนต์สุดา เกรียงไกร ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอป่าโมก ยังสนุกกับการทำงาน และสามารถสร้างกระบวนการโค้ชแบบมีส่วนร่วมให้กับทีมครูผู้สอนของเธอได้อย่างเต็มที่
เคล็ดลับของเธอในการโค้ชครูเพศศึกษา ทำให้เราเห็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการทำงานโค้ชให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะเธอแยกแยะนิยามคำว่า “โค้ช” กับคำว่า “นิเทศ” ได้อย่างชัดเจน แม้ว่า กศน. ป่าโมก เพิ่งเปิดสอนเพศศึกษามาได้หนึ่งภาคเรียนเท่านั้น
“ก่อนจะมารับการอบรมเป็นโค้ชในโครงการก้าวย่างฯ เราก็ทำงานนิเทศการสอนของครูมาตลอด แต่เราลืมคำว่า “โค้ช” ไป พอเข้ากระบวนการอบรมจากก้าวย่างฯ ก็ทำให้นึกถึงการโค้ชของนักกีฬา ซึ่งมีความต่างจากการนิเทศมาก เพราะโค้ชคือคนที่ใกล้ชิดนักกีฬา เป็นขวัญและกำลังใจของนักกีฬา เพราะฉะนั้น การโค้ชจึงล้ำลึกกว่าการนิเทศ”
“เนื่องจากกระบวนการทำงานของก้าวย่างฯ นั้นเริ่มจากให้ครูผู้สอนมาอบรมก่อน จากนั้น ก็นำผู้บริหารมารับการโค้ช ดังนั้น เมื่อคนสองกลุ่มนี้ต้องกลับไปทำงานร่วมกัน พี่จึงใช้วิธีการประชุมหารือกับครูผู้สอน ให้แต่ละคนเสนอว่าใครจะสอนแผนไหน เรื่องอะไร แล้วเราก็บอกบทบาทของเรา เขาเสนอแผนการสอนอย่างไรก็ได้ เราก็ถือตามนั้น แต่พี่จะแจ้งเขาว่าพี่ขอโค้ชทุกคน คนละสองครั้ง โดยถามเขาว่าอยากให้เราโค้ชเขาในแผนการสอนเรื่องอะไรบ้าง การทำแบบนี้ก็เพื่อให้เขาประเมินตัวเองก่อนว่าเขาถนัดในแผนไหน
“แล้วพี่ก็จะกำหนดวันโดยไม่ให้ซ้ำกัน เพราะเวลาพี่โค้ช พี่จะให้ครูที่เหลือไปสังเกตการณ์ด้วย พี่มีครูที่ผ่านการอบรมเป็นครูเพศศึกษาจากก้าวย่างฯ ๔ คน หากคนที่หนึ่งสอนวันไหน อีกสามคนก็ต้องจัดตารางให้ว่าง แล้วก็ไปดูการสอนของคนที่หนึ่งพร้อมกับพี่ หรือไปเตรียมความพร้อมในการสอนร่วมกันทั้งหมด แต่คนที่หนึ่งจะมีบทบาทสำคัญในวันนั้น แล้วเราก็จะโค้ชคนที่หนึ่งตัวต่อตัวหลังจากเขาสอนเสร็จในแบบที่เราได้รับการโค้ชมา คือให้ผู้สอนเป็นคนสะท้อนความรู้สึกของตัวเองก่อน |
|
 |
“พอโค้ชครบสี่คนในรอบแรก เราก็มาประชุมพร้อมกันห้าคนอีกครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนกันถึงสิ่งที่ดีที่น่าจะนำมาเป็นแบบอย่างของคนที่หนึ่งว่ามีอะไรบ้าง เช่น หากคนที่หนึ่งนำเข้าบทเรียนได้ดี พี่ก็จะเอ่ยขึ้นมาในที่ประชุม ซึ่งจะทำให้อีกสามคนนึกออกว่าการนำเข้าสู่บทเรียนที่ดีเป็นอย่างไร เพราะเขาได้เห็นแล้ว แต่ถ้าไม่มีใครเห็น ถึงเราเอ่ยชม คนอื่นก็นึกไม่ออกว่าที่ดีนั้น ดีอย่างไร ตรงไหน แล้วพอโค้ชรอบที่สอง เราก็ทำแบบนี้อีกในทีม โดยครั้งที่สอง เราก็จะเน้นดูข้อที่ครูได้ปรับปรุงจนดีขึ้นกว่าครั้งแรก”
หลักการทำงานของมนต์สุดาที่ใช้กระบวนการจัดการความรู้ แบบที่เรียกกันว่า KM (Knowledge Management) มาผสมผสานกับการ “โค้ชนักกีฬา” สะท้อนว่า เธอเอาใจใส่และวางแผนกับการโค้ชอย่างดีเยี่ยม
การทำงานเช่นนี้คล้ายจะสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับเธอไม่น้อย เพราะในฐานะผู้บริหารย่อมมีภารกิจมาก การปลีกตัวไปทำการโค้ชให้ได้ตามตารางที่กำหนดไว้ ดูจะพบได้ยากในความเป็นจริง มนต์สุดายอมรับว่าที่เธอทำได้ตามแผนที่กำหนด เพราะก้าวย่างฯ ให้ในสิ่งที่เธอค้นมานาน |
|
|
|
 |
“ถ้าจะทำงานเรื่องเพศศึกษา คนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการผลักดันนโยบายจำเป็นต้องมีมุมมองในเรื่องเพศอย่างเข้าใจรอบด้าน เมื่อเปลี่ยนแนวคิดตัวเองให้ตรงกับของครูผู้สอน ก็ทำให้การถ่ายทอดเรื่องการสอนเพศศึกษาทำได้อย่างเข้าใจกันมากขึ้น ตัวพี่เองสนใจในเรื่องการสอนเพศศึกษามานาน อยากจะได้เรียนรู้เทคนิค พอได้รับการคัดเลือกก็รู้สึกดีใจ และก็ไม่ผิดหวังที่ได้มาเข้าร่วม เพราะเราได้เจอในสิ่งที่เรารอมานาน”
“พี่ไม่ได้บอกว่าวิธีนี้ดีหรือไม่นะ แต่มันเป็นวิธีการที่บอกเราชัดเจนกว่าโครงการอื่นๆ ที่เคยร่วมมา เพราะโครงการฯ นี้มีแผนกิจกรรมชัดเจนว่าเป็นเรื่องเพศ ขณะที่โครงการอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นการให้งบประมาณมา แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเรื่องเพศศึกษาโดยตรง มันไปอยู่ในโครงการเกี่ยวกับครอบครัวบ้าง ชุมชนบ้าง เนื้อหาก็ไม่ล้ำลึกเหมือนที่เราได้จากก้าวย่างฯ ซึ่งมีการระบุขอบเขตเนื้อหาชัดเจนกว่า มีแผนการเรียนสำเร็จรูปด้วย นำไปใช้ได้เลย ไม่ใช่ให้มาแต่หัวข้อ แล้วครูเราไปค้นคว้าต่อเอง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น มันก็ทำให้ครูต้องใช้เวลาในการค้นคว้าเนื้อหานาน และเนื้อหาที่ได้มาก็อาจคลาดเคลื่อนหากไม่มีความเข้าใจชัดเจนในเรื่องเพศ
“แต่ใครจะนำแผนการเรียนเหล่านี้ซึ่งสำเร็จรูปแล้ว ไปใช้ได้ดีขนาดไหน ก็ขึ้นกับศักยภาพของผู้บริหารและผู้สอนแต่ละที่ว่าเห็นความสำคัญมากน้อยเพียงไร”
เมื่อถามถึงความต่อเนื่องในการสอนเพศศึกษา มนต์สุดาเล่าถึงแผนที่วางไว้ร่วมกับทีมว่าเธอจะนำเนื้อหาเพศศึกษาไปแทรกไว้ในทุกค่ายที่มีการจัด
“ความตั้งใจคือ จะนำเรื่องเพศไปไว้ในค่ายต่างๆ ที่ กศน. จะจัดขึ้น เช่น ค่ายคุณธรรม เราก็จะนำเรื่องเพศไปประยุกต์แทรกกับเนื้อหาที่ต้องทำ เพราะไม่อยากให้ครูหยุดสอนเรื่องเพศ ถึงเราจะมีคนไม่มาก แต่การนำเพศเข้าไปไว้ในค่ายไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เราสามารถจัดการได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ซองคำถาม ใช้การจัดบอร์ด เพื่อไม่ให้ครูลืม”
สุดท้าย มนต์สุดาฝากข้อคิดของการโค้ช ที่เปลี่ยนมุมมองครูที่ถูกโค้ชว่าคือนักกีฬานั้น สามารถนำไปใช้ในการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่การติดตามการสอนเท่านั้น ซึ่งเธอยอมรับว่ายังต้องฝึกฝนตนเอง ให้เป็น “โค้ชในดวงใจของนักกีฬา”
“ยอมรับว่าตัวเองตอนนี้ยังโค้ชได้ไม่ดี เพราะเป็นคนใจร้อน บางที การพูดของเราก็ไม่นิ่มนวลพอ เพราะเรายังยึดติดกับการนิเทศ ยังต้องหมั่นหยิบตำรามาศึกษาบ่อยๆ เรายังติดคำพูดบางคำที่พูดออกไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนิ้สิ เป็นต้น แทนที่จะเปลี่ยนเป็นการใช้คำถาม แต่ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวครูว่า เขามั่นใจมากขึ้นหลังจากที่เราโค้ชเขาแบบนักกีฬา
“เลยอยากฝากบอกว่า ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนมุมมองในการทำงานให้ใช้การโค้ชแทนการนิเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการสอนอย่างเดียว ยังนำมาใช้ในเรื่องการทำงานร่วมกันได้ด้วย การโค้ชจะทำให้เรากับเพื่อนร่วมงานมีความใกล้ชิด เข้าใจกันมากขึ้น”
|
|
 |