สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ชื่อ ศศิสุภา ปราบภัย ชื่อเล่นปุ๊กค่ะ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี ๑
ปุ๊กเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนไทยต้านภัยเอดส์ หรือ TTAA กลุ่มฯ ทำงานให้ความรู้กับเพื่อนๆ เยาวชนในเรื่องเพศและการป้องกันเอดส์ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ จนถึงปัจจุบันนี้
ในการประชุมวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชนครั้งที่ ๔ เมื่อเดือนตุลาคมปี ๒๕๕๑ ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ปุ๊กได้มีโอกาสร่วมงานกับโครงการ เลิฟแคร์ “กล้ารัก กล้าเช็ค” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น ซึ่งบริหารโครงการโดยองค์การแพธ
ในโครงการเลิฟแคร์ ปุ๊กมีหน้าที่ออกบูธตามพื้นที่ในชุมชน โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อบอกให้ผู้คน โดยเฉพาะวัยรุ่นได้รู้จัก และไปใช้บริการของโครงการ เช่น การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งวางแผนครอบครัว และเรื่องการคุมกำเนิดด้วย
กิจกรรมนี้อาจจะดูธรรมดาในสายตาหลายๆ คน แต่โครงการนี้ให้บริการฟรีทั้งหมด ตอนนี้มีบริการในกรุงเทพฯ ๑๔ แห่ง สามารถดูรายละเอียดได้จาก www.lovecarestation.com ค่ะ
ที่สำคัญบริการที่จัดไว้นี้จะเป็นการบริการที่เป็นมิตร ไม่มีการใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงในการเข้าไปรับการตรวจรักษา ใช้เพียงแค่เลขประจำตัว ๑๓ หลักเท่านั้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อดีของโครงการที่จะทำให้วัยรุ่นสามารถเข้าไปใช้บริการได้ง่าย
ในการทำงานตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ ปุ๊กมีโอกาสได้ทำงานในส่วนของการให้บริการปรึกษากับวัยรุ่น ซึ่งทำให้ปุ๊กพบว่า ปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่นสามารถเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุ ๑๓-๑๔ ปี เรื่อยไปจนถึงเป็นนักเรียนมัธยมและนักศึกษา
ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ก็คือ วัยรุ่นมักจะมีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทางเพศ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้ แต่ไม่มีใครสอนหรือแนะนำวิธีที่ถูกต้องให้ ซึ่งบางทีต้องไปเรียนรู้เองแบบผิดๆ ถูกๆ
สำหรับในกลุ่มผู้หญิง คำถามที่เจอเยอะที่สุดก็ไม่พ้นเรื่องการคุมกำเนิด ซึ่งส่วนมากจะถามถึงเรื่องการนับหน้า ๗ หลัง ๗ ซึ่งมักจะนับกันไม่ค่อยถูก หรือปัญหาเรื่องการกินยาคุมกำเนิดว่า เริ่มกินยาเม็ดแรกเมื่อไหร่ และถ้าลืมกินควรทำอย่างไร
นอกจากนี้ยังสนใจเรื่องมะเร็งปากมดลูก ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างไร ลักษณะเป็นอย่างไร มีส่วนน้อยมากที่รู้ว่าถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะอยู่ในขั้นอันตรายแล้ว
คำถามต่างๆ ของวัยรุ่นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า วัยรุ่นยังไม่ได้รับการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการที่มีข้อมูลความรู้ที่ไม่ถูกต้อง เมื่อนำไปใช้ในชีวิตจริงจึงมักเกิดปัญหาได้
สำหรับตัวปุ๊กคิดว่า เพศศึกษาเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรมีการจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพราะว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว อีกทั้งความรู้ที่ได้ในการเรียนเพศศึกษาก็ควรสามารถทำให้นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันด้วย
แต่ในความเป็นจริง เยาวชนไทยเพิ่งได้รู้จักร่างกายของตัวเองผ่านการเรียนเพศศึกษาเมื่อตอน ม.๑ นี่เอง นอกจากนี้หลักสูตรก็ไม่ค่อยต่อเนื่องกันในแต่ละระดับ ขณะที่วัยและสังคมผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เมื่อพวกเขาออกไปเจอสถานการณ์จริงขึ้นมาก็อาจจะไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์นั้นได้
การสอนเพศศึกษาจึงควรจะจัดแบบต่อเนื่องและเหมาะกับช่วงอายุ ที่สำคัญคือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ เพราะจะทำให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่าการมานั่งท่องจำ
ถ้าเยาวชนไม่มีการเรียนรู้ที่ถูกต้องในวันนี้ วันข้างหน้าพวกเขาจะสามารถมีชีวิตทางเพศที่ปลอดภัยได้อย่างไร