สาระจากงานประชุม-กิจกรรม : กิจกรรมเยาวชน
แกนนำเยาวชนกรุงเทพฯ ตบเท้าเข้าค่ายพัฒนาทักษะการเป็นที่ปรึกษาเรื่องเพศให้เพื่อน
วันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ วีเทรน อินเตอร์เนชั่นแนลเฮ้าส์ กรุงเทพฯ

                แกนนำเยาวชนจาก ๗ โรงเรียนในกรุงเทพฯ เข้าค่ายฝึกเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเพศให้เพื่อน โดยคาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้รับกลับไปดำเนินกิจกรรมต่อ

               องค์การแพธ ร่วมกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ นำร่องโครงการ School Healthอบรม "ค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชน : สุขภาวะทางเพศวัยรุ่น " เมื่อวันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ วีเทรน อินเตอร์เนชั่นแนลเฮ้าส์ (บ้านพักฉุกเฉิน) ย่านทุ่งสีกัน กรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนมัธยมสังกัดกรุงเทพมหานคร ๓ แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ๓ แห่ง และสังกัดสำนักบริหารคณะกรรมการส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน ๑ แห่ง มีเยาวชนเข้าร่วม ๔๒ คน ครูและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ๒๓ คน 

               เด็กมัธยมต้นและปลายส่วนใหญ่มาจากชมรมเพศศึกษา หรือเป็นแกนนำในโรงเรียน ๗ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ โรงเรียนเสสะเวชวิทยา และโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร มาทำกิจกรรมพร้อมกับครูในค่ายฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของแนวคิด School Healthที่สร้างวัยรุ่นให้เป็นแกนนำช่วยเพื่อนและครู เพื่อส่งต่อเด็กมีปัญหาเรื่องเพศสู่ระบบสุขภาพ ซึ่งองค์การแพธ ได้ริเริ่มและนำร่องดำเนินการไปแล้วใน ๓ จังหวัดคือ ชัยภูมิ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ

               ตลอดการอบรม เยาวชนได้ทบทวนเป้าหมายชีวิต วิเคราะห์ตัวเองและเพื่อน ฝึกสังเกต ฝึกทักษะการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีให้กับเพื่อน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่กลมกลืนไปกับกิจกรรมสนุกๆ อาทิ ให้จินตนาการถึงตัวเองใน ๕ ปีข้างหน้าด้วยเส้นสีบนกระดาษ หลับตาสำรวจ “ใจ” ที่มีต่อเหตุการณ์ “ชอบ-ไม่ชอบ” บอกความรู้สึกท่าทางที่แสดงออกต่อสิ่งนั้นแล้วเขียนลงบนกระดาษ “การไม่คิดแทน” จากกิจกรรมป้อนอาหารเพื่อนโดยไม่สื่อสารกัน หรือกิจกรรม  “เลือกข้าง” ที่ทำให้เข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางความคิด  ค่านิยม  ความเชื่อ  โดยเด็กๆ ต้องเลือกยืนในกลุ่ม “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” เมื่อได้อ่านข้อความ เช่น “หากได้รับคลิปโป๊หรือตบตีของคนรู้จัก ฉันจะส่งต่อ” “ถ้ารู้ว่าแฟนที่คบกันอยู่ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น ฉันจะเลิกทันที” เป็นต้น

               ช่วงแนะนำแหล่งบริการสุขภาพที่เป็นมิตรได้เชิญเจ้าหน้าที่คลินิกวัยรุ่นจากโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี มาพูดคุยตอบข้อซักถาม ซึ่งคุณครูและเด็กชอบกันมากเพราะเจ้าหน้าที่เป็นกันเอง ครูสะท้อนว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์ เพราะช่วยเพิ่มช่องทางให้เด็กรู้จักแหล่งบริการ และข้อมูลบางอย่างครูก็ไม่เคยทราบ เช่น คลินิกวัยรุ่นเปิดทำการ ๑ วันต่อสัปดาห์เฉพาะวันที่กำหนด (ในเวลาราชการ) บริการให้คำปรึกษาในเรื่องใกล้ตัว เช่น เป็นสิว เครียดจากการสอบ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไปจนถึงตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยค่าบริการครั้งละ ๕๐ บาทในการตรวจทุกรายการ กิจกรรมนี้ยังช่วยให้เด็กมองภาพสถานพยาบาลต่างไปจากเดิมโดยดูเป็นมิตรมากขึ้น นำไปสู่การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นด้วย

               ในวันสุดท้าย เด็กๆ ได้นำเสนอกิจกรรมที่จะกลับไปทำต่อในโรงเรียน เช่น สร้างเฟซบุ๊กให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา นำเสนอความรู้ด้านเพศศึกษาผ่านเสียงตามสายหรือหนังสือพิมพ์โรงเรียน วางแผนตั้งชมรมเพศศึกษา (ในโรงเรียนที่ไม่เคยมีชมรมนี้มาก่อน) การแสดงละครรณรงค์ด้านเพศศึกษาในช่วงพักกลางวัน ฯลฯ โดยครูบางคนตั้งข้อสังเกตว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่จะนำเด็กไปถึงเป้าหมาย เช่น แรงผลักดันของครูที่เข้าร่วม ความชัดเจนของโครงการและการติดตามที่ต่อเนื่อง ความพร้อมในการสนับสนุนของโรงเรียน รวมถึงการคัดเลือกเด็กที่มีจิตอาสา เพื่อกลับไปทำงานต่อในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ ยังไม่รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในโรงเรียนที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ที่ต้องคำนึงถึงด้วย  อย่างไรก็ดี  ขณะนี้มีเด็กที่กลับจากค่ายร่วมกันสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กไว้ตอบคำถามเรื่องเพศให้กับเพื่อนในโรงเรียนแล้ว ๑ แห่ง คือ  www.facebook.com/HelpClub.BKKโดยมีเครือข่ายเพื่อนต่างโรงเรียนช่วยกันแนะนำกลุ่มดังกล่าวนี้ด้วย นับเป็นสัญญาณที่ดีในการแตกยอดแนวร่วมรุ่นเยาว์เพื่อสานต่อโครงการต่อไป

แนวคิดโครงการ School Healthมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนให้ครอบคลุมถึงการดูแลสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น โดยสร้างแกนนำเยาวชนที่มีทักษะในการให้คำปรึกษาเรื่องเพศ  ครู และเครือข่ายบริการสุขภาพใกล้โรงเรียนคอยเป็นแหล่งให้คำปรึกษา ดูแล รักษา และส่งต่อสู่แหล่งบริการด้านสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกลุ่มเครือข่ายเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน หัวใจสำคัญคือ  พัฒนาครูในโรงเรียน ให้เป็นจุดเชื่อมต่อที่จะช่วยบูรณาการการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาให้สมบูรณ์ทั้งการป้องกัน และรักษาเยียวยา นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต 
ความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
I'm raelly into it, thanks for this great stuff!
Claudious
(22 กันยายน 2555  เวลา 07:11:30)
ความคิดเห็นที่ 5
ทราบปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน โรงเรียนพยายามหาทางแก้ไขโดยได้อบรมครูสอนเพศศึกษา อบรมแกนนำเยาวชน และทำกิจกรรมต่าง ๆ มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ข้มแข็ง ตลอดปี แต่ก็ยังจะมีปัญหามาสู่เด็ก ในฐานะครูไม่รู้จะทำอย่างไร ที่จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กลดน้อยลง หนูอยากได้ข้อชี้แนะ ให้การดำเนินงานนี้ยั่งยืน
สมพร  ไชยจักร
(8 สิงหาคม 2555  เวลา 17:34:02)
ความคิดเห็นที่ 4
โครงการ School Health มีแนวคิดที่ดีมากครับ เยาวชนถ้าเราฝึกทักษะให้กับเขาดี ๆ และถูกต้องเหมาะสม ก็เกิดประโยชน์กับตัวเขาเองเป็นเบื้องต้น นอกจากนั้นกลุ่มเยาวชนสามารถเข้าถึงกันได้โดยง่าย กรุณานำโครงการดี ๆ
อย่างนี้ เข้าสู่โรงเรียนในชนบทบ้างครับ
Lung Po Santa
(29 กรกฎาคม 2555  เวลา 12:14:55)
ความคิดเห็นที่ 3
เรียนคุณกิตติพงษ์  แหยมนก รพ.วิหารแดง
 สามารถโทรเข้ามาสอบถามได้ที่เบอร์ 0-2611-3001-5
ติดต่อ คุณกันทิมา เพชรคง (ผู้จัดการทีมสื่อ) ได้เลยครับ
admin
(25 กรกฎาคม 2555  เวลา 15:58:05)
ความคิดเห็นที่ 2
เรียน เจ้าของโครงการทราบครับ ผมขอรายละเดียวที่ทำกับแกนนำเยาวชนได้ใหมคับเพราะอาจจะจัดอบรมให้กับเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่อำเภอวิหารแดงครับ ขอขอบคุณมา ณ.โอกาสนี้
                                       กิตติพงษ์  แหยมนก
 
กิตติพงษ์  แหยมนก รพ.วิหารแดง
(25 กรกฎาคม 2555  เวลา 15:26:56)
ความคิดเห็นที่ 1
สวัสดีคับพี่ๆๆๆๆ  teenpath  เเละ  เลิพเเคร์ ทุกคน

ีูรูปภาพทั้งหมดดูที่ไหนหรอคับ
ปรีชา หงษ์สีดา
(8 กรกฎาคม 2555  เวลา 20:52:25)
ร่วมแสดงความคิดเห็น
จาก*
 
อีเมล
ความคิดเห็น*