
มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษาเพื่อเยาวชน ครั้งที่ ๗ “เพศวิถีศึกษา เดินหน้าด้วยเรา” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศวิถี การพัฒนาเยาวชน ประสบการณ์และบทเรียนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา ตลอดจนเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายการทำงานเพศศึกษาเพื่อเยาวชนระหว่างคนทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน
การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๙–๑๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีท ชั้น ๑๐ และ ๑๑ ถนนสุขุมวิท ซอย ๒๐ กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ ศึกษานิเทศก์ ผู้แทนเขตพื้นที่การศึกษา คณะทำงานเพศวิถีศึกษาจังหวัด แกนนำเยาวชน จากโครงการพัฒนาสมรรถนะสถานศึกษาในการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา ใน ๓๔ จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประมาณ ๘๐๐ คน
การประชุมเวทีวิชาการเพื่อเยาวชน ครั้งที่ ๗ “เพศวิถีศึกษา เดินหน้าด้วยเรา”
วันที่ ๙-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๘
ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีท สุขุมวิท กรุงเทพฯ
พิธีเปิดงานการประชุมเวทีวิชาการเพื่อเยาวชน ครั้งที่ ๗ “เพศวิถีศึกษา เดินหน้าด้วยเรา” เช้าวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องเพชรไพลิน ชั้น ๑๑ โรงแรมวินเซอร์ สวีท สุขมุวิท กรุงเทพฯ เริ่มต้นจากเสียงโฮร้องของทีมเยาวชนกว่าร้อยคน จาก ๑๕ จังหวัดได้แก่ เยาวชนชาติพันธุ์ เยาวชนมุสลิม กลุ่มเยาวชนจากบ้านกาญจนา และเยาวชนในระบบโรงเรียนรวมพลังส่งเสียงส่งสาสน์เยาวชนถึงผู้ใหญ่ “การเรียนรู้ แบบเก่งดี มีความสุข” ห้องเรียนต้องไม่มีบรรยากาศเดิมๆ วิธีการสอนของครูต้องเลิกบรรยาย เด็กๆ จะมีความสุขมากขึ้น ถ้าครูพาพวกเขาไปเรียนรู้ความจริง วิเคราะห์เท่าทันโลกกว้าง โลกภายนอกที่ไม่ใช่แค่กรอบสี่เหลี่ยมของห้องเรียน ไม่มุ่งพูดแต่ปัญหา อย่าตัดสินเยาวชนแค่ภายนอก ให้โอกาสเปิดใจรับฟัง เยาวชนทิ้งท้ายด้วยคำถามจากใจว่า พวกเขากำลัง “เรียนรู้เพื่อรู้หรือจะเรียนเพื่อสอบ?”บรรยากาศของงานทำชิ้นนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยหัวใจ เด็กทำด้วยใจและอยากให้ครูเปิดใจ ใช้ใจต่อใจเข้าถึงกันระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น พวกเขายังมีความหวังว่าความสุขในห้องเรียนจะกลับมา
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ, ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส.ได้ให้เกีรยติกล่าวเปิดประชุม มีใจความสังเขป ดังนี้
เวทีนี้เป็นหมุดหมายสำคัญอีกหมุดหมายหนึ่ง ช่วยให้เกิดการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย ผมทราบดีว่า การทำงานจัดให้เยาวชนได้เรียนรู้เพศวิถีศึกษาแม้ว่าจะมีการทำงานนี้ในทุกจังหวัดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนที่ดำเนินงานจะมีคุณภาพการจัดการเรียนรู้เท่าเทียมกัน และมีหลายโรงเรียนที่ยังไม่ได้ทำ ผมเชื่อว่าทุกท่านในนี้เห็นร่วมกันว่า การจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาจำเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาสุขภาวะเยาวชน สสส. เข้ามาสนับสนุนให้มูลนิธิแพธทูเฮ้าส์ได้ดำเนินงานขยาย ๓๔ จังหวัด เพื่อให้ขยายครบทั่วทุกจังหวัดในประเทศ จากที่งบกองทุนโลกได้ดำเนินการไป๔๓ จังหวัดแล้ว
เพราะเราคิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกจังหวัดจะต้องมีกลไกและผู้ปฏิบัติงานหลักที่เข้าใจ ที่ตระหนัก และสามารถสร้างความร่วมมือ ความร่วมใจที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำให้เกิดโรงเรียนต้นแบบที่สนับสนุนโรงเรียนอื่น ผมรู้สึกยินดีมากที่จะได้รู้ว่า ขณะนี้ ได้มีคณะทำงานเพศวิถีศึกษาในทุกจังหวัด และมีคนทำงานขับเคลื่อนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา แม้ว่าในแต่ละจังหวัดจะมีระดับความเข้มข้นในการทำงานที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน่ออ่อนที่จะทำให้เติบโตในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาให้กับเยาวชนของเรา
ทุกท่านคงทราบดีว่า ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับเยาวชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การพนัน ซึ่งพัวพันไปถึงเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการใช้ความรุนแรงและอุบัติเหตุผลบนท้องถนนและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เหล่านี้ถ้าพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นว่าถ้าเราจะทำงานป้องกันให้ได้ผล มันมีสาเหตุร่วมกันอยู่ และมีปัจจัยร่วมที่จะทำให้เกิดป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้อย่างดี คือ การสร้างการเรียนรู้ที่ช่วยให้เยาวชนของเรามีทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะในการใช้ชีวิต
แน่นอนว่า พื้นที่ใหญ่ในการสร้างทักษะชีวิตของเยาวชนเรา มีสองพื้นที่ใหญ่ หนึ่ง บ้าน ครอบครัว สองก็คือที่สถานศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้ว เวลาส่วนใหญ่ของเยาวชนก็อยู่ที่สถานศึกษา ดังนั้น ผมก็รู้สึกดีใจนะครับที่ทราบว่า หลายๆ ท่านที่อยู่ที่นี่ก็ได้ทำงานกับครอบครัวด้วย การพัฒนาทักษะให้กับผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ สามารถสื่อสารเรื่องทั่วไปและเรื่องเพศกับลูกได้ ในสองวันนี้เราคงจะเน้นบทบาทของโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งเป็นที่ที่เยาวชนใช้เวลาอยู่เยอะ และเป็นพื่นที่ๆ ที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ทักษะ และปลูกฝังทัศนะ พฤติกรรมที่จะช่วยให้เขามีทักษะชีวิตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะชีวิตทางเพศที่รับผิดชอบและปลอดภัย แน่นอนว่าการทำงานเรื่องนี้ยังไปได้ไม่เร็ว และไม่ทันต่อสถานการณ์ที่รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจากสถิติท้องในวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโรคติดต่ทางเพศสัมพันธ์ และเอชไอวี ที่ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น เรายังต้องเถียงกันว่า ต้องมีถุงยางอนามัยในโรงเรียนหรือเปล่า ควรจะเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดไหม เยาวชนสามารถเค้าถึงบริการคุมกำเนิดโดยไม่ต้องปรึกษาหรือได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองได้หรือเปล่า
เราคงทราบกันดีว่า ที่ประเทศอังกฤษใช้เวลา ๑๒ ปีในการลดจำนวนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครึ่งหนึ่งจากจำนวนที่ใกล้ๆ กับเราตอนนี้ แต่อย่าลืมว่าเค้ามีการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษามาก่อน ๒๐ ปีแปลว่าเรายังตามหลังอยู่ ๓๒ปี ที่ประเทศสวีเดน และเนเธอร์แลนด์มีการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษา อัตราวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ต่ำกว่าเราประมาณ ๖เท่า ประเทศไทยมีวัยรุ่นตั้งครรภ์แซงหน้าประเทศเหล่านั้น ทั้งๆ ที่เราก็กล่าวหาว่า ประเทศเหล่านั้นมีวัฒนธรรมทางเพศที่เสรีเกินไป
คำถามหลักก็คือว่า เราพร้อมกันหรือยังที่จะแก้ปัญหา เรายอมรับกันได้ไหมว่า เราไม่สามารถทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอายุ 18 ปี เพราะนี่เป็นความจริง และประเทศไทยเราขณะนี้เป็นแบบนี้ ถ้าเช่นนั้นเราจะทำอะไรได้บ้าง ให้เด็กของเรา เยาวชนของเราไม่ตั้งท้อง เป็นแม่ที่ไม่พร้อม เสี่ยงต่อการติดโรค และโรงเรียนที่ทุกท่านท่านทำงานอยู่จะมีส่วนช่วยเหลือและสามารถช่วยให้เด็กที่พลาดพลั้งสามารถเรียนได้จบ ช่วยให้เค้าสามารถเลี้ยงดูลูก ครอบครัว รวมทั้งตัวเค้าเอง ให้อยู่รอดปลอดภัยและก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เราคงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คงต้องถกเถียงและทำงานกันอีกนาน ก็ต้องเริ่มทำ ทำไปเถียงไปก็ได้
ผมขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ และก็หวังว่าเวทีในสองวันนี้จะมีส่วนช่วยเปิดโลกทัศน์ สร้างการเรียนรู้ เสริมกำลังใจ และสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ในฐานะที่สสส. มีภารกิจในการสนับสนุนการขับเคลื่อนสุขภาวะสังคม สสส.ยินดีที่จะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในการปฏิบัติการเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้เยาวชน และพร้อมร่วมขบวนเพศวิถีศึกษาเดินหน้าด้วยเรา ขอเปิดประชุมเวทีสองวันนี้ครับ
|