ธัญรัตน์ ล้อสินคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เล่าถึงการเรียนเพศศึกษาว่า เรียนครั้งแรกแล้วรู้สึกไม่อยากเรียน เหมือนว่าจะไม่สนุก อาจารย์ให้ทำอะไรก็ไม่รู้ พอเรียนได้ประมาณ ๓ คาบถึงรู้สึกสนุก
อรอุมา กันอินทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เสริมว่า แรกๆ รู้สึกว่าก็เคยเรียนมาแล้ว เช่น เรื่องร่างกาย วิธีการทำความสะอาด หรือรู้ว่าคนเราโตมาได้อย่างไร ก็สงสัยว่าทำไมต้องมาเรียนอีก
“คือตอน ม.ต้นก็เคยเรียน แต่ไม่เรียนเยอะขนาดนี้ บอกแค่ว่ามีประจำเดือนเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้ครูสอน แล้วเราพูดได้ว่าเราคิดยังไง รู้สึกยังไง” อรอุมาบอก
|
 | อนินทร์ อรอุมา และธัญรัตน์ |
|
|
เมื่อถามถึงความแตกต่างของการเรียนเพศศึกษากับวิชาอื่นๆ ธัญรัตน์ ให้ความเห็นว่า แตกต่างอย่างมาก เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็จริง แต่เพศศึกษาเอามาใช้ได้ตลอด และเป็นเรื่องที่เกิดในชีวิตประจำวัน ทั้งยังทำให้กล้าพูดในสิ่งที่ไม่เคยพูด ได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก
“น่าจะแตกต่าง เพราะถ้าเรารู้ไว้ ก็จะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน” อนินทร์ นฤภัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ประธานชมรม Young Counsellor บอกและว่า ความรู้ที่เขาได้รับจากการเรียนเพศศึกษา เช่น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การนับระยะปลอดภัย หน้า ๗ หลัง ๗ เป็นต้น
อรอุมา กล่าวว่า ถ้าให้เขาเรียนเพศศึกษาทุกชั่วโมงยังได้เลย เพราะถ้าเป็นวิชาทั่วๆ ไป เขามักจะง่วงนอน แต่วิชานี้ไม่ง่วงเลย รู้สึกสนุก
“แถมอาจารย์ยังน่ารักทุกวันที่สอนเพศศึกษาด้วย” ธัญรัตน์ ให้ความเห็นและว่า การทำกิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อยนั้นไม่น่าเบื่อ เพราะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ซึ่งทำให้เขาจำได้
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงพวกเขาทั้ง ๓ คนจะได้เรียนเพศศึกษาในห้องเรียนแล้ว พวกเขายังเป็นแกนนำเยาวชน ที่ตั้งชมรม Young Counsellorเพื่อจะให้คำปรึกษาเพื่อนๆ ในปัญหาต่างๆ โดยจะตั้งกล่องรับปรึกษาปัญหาเอาไว้ และหากใครไม่กล้าถามปัญหาตรงๆ ก็สามารถหย่อนคำถามไว้ได้ โดยคำถามเหล่านี้จะถูกตอบทุกๆ วันศุกร์หน้าเสาธง
|