|
 | ลำจวน พีรพล และรฤณญา |
|
|
การเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เรียนต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับนั้น ในมุมมองของครูผู้สอน อย่าง พีรพล พรหมมินทร์ หัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา และหัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียน, รฤณญา ภูมิวิสัย หัวหน้าฝ่ายบริหารวิชาการ และลำจวน พันธ์วิริยากุล หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย ทั้ง ๓ คน คิดเห็นอย่างไร
พีรพลเล่าว่า “โครงการเปิดฟ้ารัตนะ” นั้น ได้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัยของโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา จ.เพชรบุรี โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ รับนักเรียนที่มีปัญหาจากที่อื่น เช่น เรียนไม่จบ หรือนักเรียนที่ประสบปัญหาเรื่องเพศ เข้ามาเรียน โดยนักเรียนจะมารับงานที่ครูสั่งตามความสะดวก เช่น ตอนเย็น หรือเสาร์อาทิตย์ ซึ่งจากการดำเนินการก็ทำให้นักเรียนไม่พลาดโอกาส เมื่อเพื่อนจบการศึกษา เขาก็จบเช่นกัน
“เหมือนเรียนรูปแบบพิเศษ คือเรารับเด็กทุกรูปแบบที่ไม่พร้อมเรียนตามระบบปกติ” รฤณญา เสริมและว่า เด็กบางคนก็ไม่ต้องการอยู่ในระบบ ไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบสภาพแวดล้อมในโรงเรียนก็สามารถเรียนแบบนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินงานเช่นนี้ได้ ก็มีเสียงคัดค้านจากคนรอบข้างเช่นกัน อย่างที่ หัวหน้าฝ่ายบริหารวิชาการ เล่าว่า ตอนแรกครูบางคนยังไม่เข้าใจ ไม่ทราบความเป็นมาว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แต่พอผ่านไป ๑ ปี และมีเด็กจบไปแล้ว ครูก็ดีใจที่ได้ช่วยเด็กทุกคน พอมาปีนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
หัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาฯ เพิ่มเติมว่า ครั้งแรกมีปัญหาตั้งแต่ในโรงเรียนว่ามันจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มั้ย แต่พอขอลองทำดูก่อน ปัญหาที่คิดไว้ว่าจะเกิดก็แทบไม่มี และจากการประชุมผู้ปกครอง โรงเรียนจะพยายามบอกว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ คือโรงเรียนน่าจะทำอะไรให้เด็กไม่พลาดโอกาส เพราะถ้าพลาดโอกาสก็เหมือนกับชีวิตเขาทั้งชีวิต ทั้งนี้ การใช้รูปแบบพิเศษต้องยินยอมทั้งตัวผู้ปกครอง และนักเรียนเอง แต่ที่สำคัญคือ คณะครูต้องให้ความร่วมมือ
พีรพล อธิบายเพิ่มว่า โรงเรียนให้โอกาสกับเด็กทุกคน คือบางคน โอกาสพลาดมันมี และเด็กก็มีสิทธิ
“แต่เราก็จะไม่ไปว่าของที่อื่น ว่าเขาทำยังไง แต่ของเราจะพยายามทำแบบนี้ จะให้สิทธิกับเด็กที่พลาดโอกาส” พีรพลย้ำ
ลำจวน เสริมว่าคณะครูพูดคุยตกลงกัน จนเห็นพ้องด้วยกันหมดในทุกระดับชั้นที่เด็กจะเข้ามาเรียน
พีรพล อธิบายว่า นักเรียนที่เรียนในโครงการเปิดฟ้ารัตนะนั้น จะได้รับคำแนะนำให้ไปพบครูผู้สอนแต่ละรายวิชาว่า ครูจะมอบหมายงานอย่างไร ซึ่งรูปแบบของแต่ละวิชาก็จะไม่เหมือนกัน บางวิชา เขาจะให้งานเหมือนนักเรียนทั่วไป
“อย่างวิชาพละ คือ ในบางวันไม่จำเป็นต้องไปเล่นกีฬา เนื้อหาของเขาจริงๆ จะพูดเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายให้ถูกต้อง และนำไปสู่การเล่นกีฬา และจะมีตัวชี้วัดว่า อย่างน้อยต้องเล่นกีฬาที่เขาชื่นชอบ ๑ อย่าง เช่น ถามเขาว่าชอบกีฬาอะไร หากดูแล้วมันไปสู่เนื้อหาตรงไหน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวยังไง พัฒนาตัวคุณยังไง นั่นคือพลศึกษา”
หัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาฯ ให้ความเห็นว่า บางคนเข้าใจว่าพลศึกษาจะต้องลงสนาม ต้องเล่นกีฬา แต่กีฬาต่างๆ คือสื่อที่จะทำให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกต้อง
หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย เสริมว่า ในรายวิชาภาษาไทยก็จะให้งานตามปกติ ให้ไปค้นคว้า หาหนังสืออ่านเพิ่มเติม และตอบใบงานมา ก็จะมีการทำรายงาน ทำโครงงานแล้วนำมาส่ง และมาสอบ ก็เป็นข้อสอบทั่วไป แต่หากพูดถึงงานกลุ่มก็คงจะขาดในเวลาเรียนตามปกติ
พีรพล แย้งว่า ถ้าดูวิถีการดำเนินชีวิตของเขาจริงๆ เขาจะไม่ขาด ต้องดูสภาพชีวิต คือ ถ้ามองงานกลุ่มที่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เขาจะไม่มี แต่ถ้าเป็นกลุ่มข้างนอก เขาจะมี ที่เขาไปทำงานด้วย ซึ่งนำมาเทียบกับเกณฑ์ได้เลย
การทำงานยาก ย่อมต้องการทีมที่เห็นเป้าหมายร่วมกัน พีรพล เล่าถึงวิธีการที่ทำให้ครูทั้งโรงเรียนเห็นพ้องต้องกันในการทำงานนี้ว่า เขาพูดคุยเรื่องนี้กันที่ห้องประชุม โดยคนที่จะนำ และหนักแน่นจริงๆ คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคนที่รับผิดชอบต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการทำเรื่องนี้เป็นอย่างไร
“เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายนะ แล้วเราพยายามเทียบให้เห็นว่าที่มันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในหลักสูตรมันสอดคล้องกันตรงไหน เขาก็จะเข้าใจ แล้วที่เขายอมรับจริงๆ คือ ต้องทำเป็นตัวอย่าง อย่างน้อยราย สองราย แต่ตอนนี้ทุกคนพอจะมองเห็นทางแล้ว และเราจะไม่กำหนดเวลาเรียน เพราะถือว่ากิจกรรมทุกวันเป็นเวลาเรียนของเขา” หัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาฯ บอก
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการให้โอกาสนักเรียนที่พลาดได้เรียนต่อนั้น รฤณญา กล่าวว่า เขาต้องการให้เด็กที่พลาดเรียนจบเหมือนเพื่อน ก็เหมือนกับผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กเรียนจบ ไม่อยากให้ค้างนู้นค้างนี่
ด้านพีรพล มองว่า เป้าหมายของเขาคือ ให้เด็กมีโอกาสเท่ากับคนอื่น อยากให้เขามีชีวิตประจำวันที่ราบรื่น ไม่มีปัญหา ไม่มีปมด้อยคาใจที่เป็นตัวบั่นทอนชีวิต อยากให้นักเรียนมีชีวิตที่มีความสุขตามวิถี หรือตามโอกาสที่ได้รับ แต่ว่าถ้าเขามีโอกาส อยากให้เขาเรียนต่อสูงๆ ไปใช้ทักษะชีวิตแก้ปัญหา ที่จะเป็นแนวทางให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่อยากจะปิดกั้นเขา ถึงแม้จะมีปัญหาอย่างไรก็อยากให้เรียนจนจบ
“เราได้ดูแลช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่ เพราะว่าเด็กที่มาเรียนอย่างนี้สภาพครอบครัวมีปัญหามากมาย การแนะแนวก็ต้องมีทางด้านอาชีพ การศึกษาที่นักเรียนจะได้นำไปต่อยอด ก็ภูมิใจที่เราได้ช่วยเด็กทางด้านนี้ มีความสุขที่เห็นเด็กเข้ามาและพร้อมที่จะเปิดใจกับเรา คุยปัญหาเท่าที่เขาจะกล้าเปิด” หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย เสริม
เมื่อถามถึงกรณีของเด็กที่ท้อง ว่าครูจะรู้ได้อย่างไร ลำจวน เล่าว่า จะใช้การสังเกตถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่ร่าเริง ก็จะเงียบลง จากนั้นครูก็จะเรียกมาคุยถึงวิธีการที่เขาจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร
ขณะที่ พีรพล บอกว่า บางทีนักเรียนที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นก็มาพูดกับครูว่า “ครูไม่รู้เหรอ สามเดือนแล้วนะ”
ด้วยประโยคที่ว่า “ครูไม่รู้เหรอ...” นี่เอง ที่ทำให้ หัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาฯ รู้สึกว่า “ไอ้เรานี่ไม่สังเกตเลยเนอะว่าเด็กเป็นยังไง เราสังเกตแต่พฤติกรรม ดูแต่ผม ดูหัว ดูทักษะการตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ส่งงานไม่ส่งงาน” ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะไม่ค่อยเจอกรณีแบบนี้ นานๆ เจอที
พีรพล บอกว่า เขาเกิดแนวคิดใหม่ว่าการที่ครูไปห้ามว่าเรื่องเพศมันไม่ดี มันไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ห้ามเด็กไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขาดำเนินชีวิตตามปกติ ปลอดภัย ไม่มีปัญหา ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ และตระหนัก
“ถ้าอยากจะมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องของเขา แต่จะทำยังไงไม่ให้เกิดปัญหา มันควรจะสอนแบบนี้ได้แล้ว เพราะมันเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถห้ามเด็กได้ทุกวินาที แต่เราจะทำยังไงให้เขารู้ตัวตลอดว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วเขาปลอดภัย ไม่มีผลกระทบตามมา ต้องให้เขาคิดเป็น” พีรพล บอก
เมื่อถามว่าพอสอนเพศศึกษาแล้วยังมีเด็กที่ท้องในวัยเรียนอยู่ถือเป็นความล้มเหลวของครูหรือไม่ ครูทั้ง ๓ ท่าน และผู้อำนวยการโรงเรียน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความล้มเหลว อย่างที่ หัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาฯ มองว่า ทุกการตัดสินใจของคนย่อมมีถูก และพลาด แม้เรียนมาเหมือนกัน การตัดสินใจอาจต่างกัน นี่คือความจริงในชีวิต
“อย่างถ้าไม่มีเงิน บางคนก็อาจอดเอา บางคนก็ไปขอยืม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคน มันไม่ถือว่าเป็นการล้มเหลว” พีรพล บอก
ลำจวน เสริมว่า กระบวนการที่ให้เด็กคิด สรุป จะช่วยให้เด็กแก้ปัญหาได้ นั่นจึงไม่ใช่เรื่องล้มเหลว
ขณะที่ สังวาลย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมาร่วมให้ความคิดเห็นตอนท้าย บอกว่า โรงเรียนที่ไล่เด็กท้องออกไปเลย เขาก็จะไม่เก็บไว้เป็นข้อมูล ก็เลยดูเหมือนไม่มี
“เราภูมิใจที่เห็นเด็กจบไปและได้งานทำ”
นี่คือเสียงส่งท้ายของคุณครูที่เห็นว่า โอกาสในการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ
|