 | ทองเดี่ยว |
|
 | นพมาศ |
|
ทองเดี่ยว พินิจ ครูวิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มแรกที่เขาสอนเพศศึกษาให้กับนักเรียนนั้น เด็กก็หัวเราะ คิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว ต่อมาเมื่อนักเรียนเห็นกระบวนการ ก็เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่เป็นการดูแลร่างกาย ซึ่งก็มีทั้งที่ให้ความร่วมมือ และไม่สนใจ ไม่ให้ความร่วมมือ
ครูทองเดี่ยว อธิบายว่า เขาสอนเพศศึกษาตามแผนการสอน ซึ่งนักเรียนจะสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง
“อย่างการคุมกำเนิด นับหน้า ๗ หลัง ๗ เด็กก็จะสนใจว่ามันจะเป็นยังไง ตอนแรกๆ ก็ให้ลองนับ แล้วเขาก็นับผิด พอเราสอนเขาก็เข้าใจ”
ขณะที่ นพมาศ วงศ์ใหญ่ ครูวิชาคณิตศาสตร์ และเพศศึกษา กล่าวว่า เขาสอนเพศศึกษาให้กับนักเรียนชั้น ม.๑ โดยจะปูพื้นก่อน เช่น เรื่องสุขอนามัย เพื่อให้เด็กรู้จักดูแลตัวเอง และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ทองเดี่ยว บอกว่า เขาสอนเพศศึกษาเพียงเพื่อต้องการให้นักเรียนเข้าใจวิธีการป้องกันตัวเอง ว่าควรทำอย่างไร การดูแลความสะอาดของร่างกาย หรือว่าเสื้อผ้าของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม และการวางตัวกับเพื่อน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นักเรียนของโรงเรียนบ้านร่องส้านไม่ได้มีเพียงคนพื้นเมืองเท่านั้น แต่มีที่เป็นชนเผ่าด้วย ซึ่งในความรู้สึกของครูผู้สอนอย่างทองเดี่ยว บอกว่า การสอนเพศศึกษากับกลุ่มชาติพันธุ์ง่ายกว่าการสอนคนพื้นเมือง เพราะเขาเปิดรับได้ดีกว่า พูดแล้วก็เข้าใจโดยง่าย
“คือเขารับฟัง ยอมรับ และมีปฏิกิริยาโต้ตอบ ตอนที่เราถามมากว่าคนพื้นเมือง” ทองเดี่ยวอธิบายเพิ่ม
“อย่างสังคมพื้นเมือง บางทีทางบ้านก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้ เขาจะมองว่าไม่ควรที่จะมาสอน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่ถ้าเป็นสังคมชนเผ่า เขาเปิดรับได้ดีกว่า คนพื้นเมืองจะไม่ค่อยพูดเรื่องนี้ ไม่กล้าพูด” นพมาศ เสริม
ทั้งนี้ วิธีการสอนเพศศึกษาแบบที่ทำให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มเข้าใจบทเรียนไปพร้อมๆ กัน นพมาศ ให้ความเห็นว่า ต้องเปิดให้เด็กซักถาม และเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน
“เราก็จะสร้างความคุ้นเคย เป็นกันเองกับเด็ก แล้วเขาจะกล้าพูดมากขึ้น” ครูวิทยาศาสตร์ บอกและว่า การสอนเพศศึกษานั้นไม่ยาก หากครูกล้าพูด เพราะมันมีเนื้อหาของวิชาอยู่แล้ว
ทองเดี่ยว ให้ความเห็นว่า เมื่อก่อนที่เขายังไม่ผ่านการอบรมทำความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้าน ก็คิดว่ามากไปหรือเปล่าที่จะสอนเรื่องนี้ เช่น การนับระยะปลอดภัย หน้า ๗ หลัง ๗ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นความกังวลใจของครู และกลัวเด็กอาย ทั้งที่ต้องบอกว่าเป็นประโยชน์ที่เด็กสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้
และผลจากการสอนเพศศึกษานี่เอง ที่ครูวิทยาศาสตร์ บอกว่า นักเรียนชายก็จะมาขอถุงยางอนามัย มากขึ้น แล้วก็กล้าพูดกล้าถามเรื่องเพศมากขึ้น โดยไม่อาย ซึ่งเขาไม่รู้สึกตกใจเวลาที่นักเรียนเข้ามาขอถุงยางอนามัย
“เพราะสังคมของเขามันเปิดอยู่แล้ว เป็นสังคมชนเผ่า อย่างนักเรียนชาย ม.๓ ก็จะมีเพศสัมพันธ์แล้ว”
ขณะที่ครูคณิตศาสตร์ บอกว่า จากการสอน ม.๑ นักเรียนก็จะดูแลความสะอาด ร่างกายดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องส่วนใหญ่ที่สอนจะเป็นเรื่องของพัฒนาการทางเพศ
เมื่อถามว่ามีข้อแนะนำอะไรให้กับครูที่ยังไม่กล้าสอนเพศศึกษาบ้าง นพมาศ กล่าวว่า ควรจะให้ความรู้เกี่ยวกับการสอนเพศศึกษาก่อนว่าไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียว เพราะครูบางคนคิดว่าเพศศึกษาคือเรื่องเพศสัมพันธ์ ไม่ได้มองด้านอื่นด้วย
“คือให้ความรู้ก่อน และเปิดใจรับว่ามันเกี่ยวกับทั้งร่างกายนะ ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์อย่างเดียว การเปิดใจเข้ารับการอบรมจะได้รู้ อย่างครูที่นี่ก็กล้าสอนหมด ไม่ค่อยมีปัญหา คือทุกคนก็ยอมรับมากขึ้น หลังจากอบรมมาแล้ว”
|