พอพูดถึง ‘เรื่องเพศ’ ที่ไม่ใช่แค่การพูดทีเล่นทีจริงในการสนทนา คนจำนวนมากจะพบว่าตนเองเกิดความ ‘กระอักกระอ่วนใจ’ ที่จะต้องมีการสนทนาในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ใด้สนิทชิดเชื้อกันจริงๆ หรือแม้กระทั่งในหลายครอบครัว ‘เรื่องเพศ’ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาสนทนากันได้แม้เราจะยอมรับกันว่า ‘เรื่องเพศ’ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และอยู่ในห้วงความคิดหลายขณะในแต่ละวัน แต่ ‘เรื่องเพศ’ ก็ได้ถูกทำให้เป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ ที่ไม่ควรจะถูกนำมาเปิดเผย หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนได้เช่น เรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราทั้งหลาย ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ต่างก็เติบโตมาโดยเรียนรู้เรื่องเพศด้วยตนเอง หรือจากเพื่อนสนิท
น้อยคน และสิ่งที่เรียนรู้ก็มักไม่พ้นเรื่อง ‘การร่วมเพศ’ มากกว่าจะเป็นเรื่องของพัฒนาการด้านความรู้สึก ด้านอารมณ์ ความคิด ความเข้าใจ ที่มีต่อสิ่งเร้า และสัมพันธภาพทางเพศ โดยเฉพาะในมิติของสังคมวัฒนธรรม ที่บ่มเพาะปลูกฝังความเชื่อทั้งหลายที่มีต่อเรื่องเพศ และบทบาทชายหญิง
บทความคัดสรรจากเวทีวิชาการ และวารสาร S-exchange ที่”โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ” นำมารวบรวมไว้เป็นสามชุดแนวคิด ที่เกี่ยวพันกับสามแนวคิดหลักที่โครงการใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอ วิธีคิดสาระหลัก และการออกแบบกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา อันได้แก่ เพศวิถี (Sexuality) การพัฒนาเยาวชนในด้านบวก (Positive Youth Development) และการสร้างการเรียนรู้ (Learning) โดยเล่มที่ท่านถืออยู่ในมือ “เติมความให้เต็มคำ: เพศศึกษารอบด้านในสังคมไทย” คือ ชุดที่ ๑ที่ว่าด้วย ความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี โดยมุ่งหวังให้เป็นการขยายความคิดที่จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ในความคิดเห็น มุมมองที่หลากหลาย เพื่อสร้างการเติบโตทางความคิดของสังคมไทย
ในเล่ม สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ภาพความคิดเกี่ยวกับเพศของคนสมัยก่อนในบทความ เรื่องเพศ ของไทย ของใคร ว่าไม่ใช่เรื่องทำนอง “คอขาดบาดตาย” โดยยกตัวอย่างนิยามของการให้คุณค่าพรหมจรรย์ว่า เดิมผู้คนเข้าใจร่วมกัน คือ หมายถึงการสละแล้วซึ่งทางโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาและไม่ใด้ขีดจำกัดว่าต้องเป็นเพศใด แต่ปัจจุบัน เมื่อพูดถึงคำว่าพรหมจรรย์ คนส่วนมากนึกถึงแต่เพศหญิงและ “เยื่อบางๆ” ที่อยู่ในอวัยวะเพศ
นอกจากนิยามต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้ว โครงสร้างของวัฒนธรรมไทยเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารเรื่องเพศมากน้อยอย่างไร ดังเช่นที่ ดร. วิลาสินี พิพิธกุล กล่าวไว้ในบทความวัฒนธรรมไทยกับเรื่องเพศ ว่า “การที่สังคมไทยยอมรับการมีอำนาจเหนือกว่าในเพศชายทำให้ผู้หญิงไม่ต้องเรียนรู้เรื่องเพศ เรื่องเพศเป็นเรื่องของผู้ชาย ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถิติในคู่รักวัยรุ่น ผู้หญิงส่วนมากถูกกระทำทางเพศเช่น ต้องยอมมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเพระกลัวผู้ชายเลิก ไม่กล้าต่อรองให้ผู้ชายสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์”
คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการยอมรับในเรื่องอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสั่งคมไทย และการให้บทบาทแก่เพศชายในการแสดงออกทางเพศมากกว่านั้น ไม่ได้มีเพียงการ “ห้าม” เพียงอย่างเดียว แต่สังคมมีวิธีและกระบวนการควบคุมให้คนในสังคม “มีวินัยในเรื่องเพศ” ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเศรษฐกิจอย่างไร ตามที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความการเมืองเรื่องเพศ ว่าด้วยตัวตนมนุษย์เพศหญิง ว่าเรามักห้ามนักเรียนไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร “ขณะที่สาวโรงงานซึ่งจบ ม.๓ กลับสามารถทำอะไรต่ออะไรได้ทั้งนั้น”
จริยธรรมทางเพศของสังคมที่ถูกยอมรับว่าเป็นวัฒนธรรม เป็นเรื่องหนึ่งที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งคำถามให้เราคิดต่อในบทความ จริยศึกษาและเพศศึกษา ว่าอาจเป็นผลมาจากการไกล่เกลื่ยของสังคม และส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของสื่อส่งผลให้เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศกลายเป็นเรื่อง “ปกติ”
แม้สื่อจะมีผลต่อการกำกับความคิดของคนในสังคมก็ตาม แต่จากบทความ เพศในวรรณกรรม กวีซีไรต์ปี ๒๕๓๕ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ แสดงความเห็นไว้ว่า “คนส่วนใหญ่มองเรื่องเพศ แค่ส่วนเดียวว่าน่ากลัว และรุนแรง เพราะในข่าวหรือสื่อต่างพูดถึงเรื่องเพศในแง่มุมของพฤติกรรมที่ไม่
เหมาะสม แต่วรรณกรรมทำให้คนเห็นเรื่องเพศที่ลึก มีการอธิบายเรื่องราวมีบริบท เบื้องหลัง รายละเอียดต่างๆ ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ คนที่อ่านวรรณกรรมจะไม่พิพากษาคนง่ายๆ แต่พิจารณาว่ามนุษย์แต่ละคนกำลังเผชิญกับอะไร มีเหตุอย่างไรให้ทำเช่นนั้น”
นอกจากนั้น ยังมีแง่คิดที่หลากหลายมิติของชีวิตกับเรื่องเพศในทุกช่วงวัยที่เราควรช่วยกันค้นหาคำตอบ เช่น ความคิดของสังคมต่อคนที่มีความเชื่อและพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเพศกับศาสนา และนิยามของครอบครัว เป็นต้น
โครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านชวนกันทบทวนถึงการสร้างบรรยากาศการสื่อสารเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ ด้วยความเข้าใจว่าเหตุใดเรื่องเพศจึงมีนิยามที่หลากหลาย รวมทั้งเกี่ยวพันกับทุกด้านของชีวิต เพื่อตั้งคำถามต่อแนวทางการจัดการศึกษาเรื่องเพศและเพศวิถีให้กับเยาวชน ตลอดจนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศในสังคมไทยว่าเรา “เกาถูกที่คัน” มากน้อยเพียงใด