คู่มือหลักสูตร “เพศศึกษารอบด้าน” สำหรับนักศึกษาสาขาครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ

309

จากการรายงานข้อมูลสภาวการณ์เด็กและเยาวชนของสถาบันรามจิตติ ภายใต้โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด ปี ๒๕๔๘ ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จำนวน ๑๔๙,๙๑๙ คน เป็นเด็กที่ศึกษาอยู่ระดับประถมศึกษา ๓๒,๕๗๒ คน ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และอุดมศึกษาจำนวน ๑๑๗,๑๔๗ คน ในด้านสภาวะสังคม ประเด็นการมีเพศสัมพันธ์ พบว่า ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และอุดมศึกษา ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์แล้วร้อยละ ๑๖.๐๘ มีเด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี มาทำคลอด จำนวน ๕๒,๐๐๘ คน คิดเป็น ๓๙๑.๑๖ ต่อประชากรแสนคน หรือวันละ ๑๔๒.๒ คน หรือชั่วโมงละ ๕.๙ คน และมีทารกถูกทอดทิ้งคิดเป็นจำนวน ๒.๖๑ คนต่อประชากรแสนคน และประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวน ๓,๔๒๕ คน คิดเป็น ๖.๔๒ คนต่อประชากรแสนคนหรือวันละ ๑๐.๔๘ คน

องค์การแพธ (PATH) ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อป้องกันเอดส์ในกลุ่มเยาวชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมานาน ได้นำเสนอโครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” เพื่อดำเนินงานกับเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา ภายใต้การสนับสนุนของโครงการกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria-GFATM) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดพันธสัญญาในการพัฒนานโยบายและการดำเนินงานด้านเพศศึกษา สู่การจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในสถานศึกษา ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้การศึกษาระบบโรงเรียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมีหน้าที่หลักคือ ผลิตบัณฑิตสาขาการศึกษา และให้บริการวิชาการกับบุคลากรประจำการทางการศึกษา กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการตามหน้าที่ทั้งสองประการคือ นักศึกษาครุศาสตร์และครูประจำการ หลักสูตรสาขาการศึกษาไม่ได้บรรจุรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเพศศึกษาไว้ ดังนั้น เพื่อให้บัณฑิตครุศาสตร์ได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๑๐ แห่ง โดยความร่วมมือกับองค์การแพธ (PATH) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาให้คณาจารย์คณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้เรียนรู้และฝึกทักษะการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาให้กับนักศึกษาครุศาสตร์ในหลักสูตรปกติ และจัดอบรมให้กับครูประจำการที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา โดยคาดหวังว่าผู้ที่ได้รับการเรียนรู้จะสามารถนำความรู้ไปใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา ตลอดจนให้คำแนะนำ/ให้คำปรึกษากับเยาวชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะทำงานได้จัดทำหลักสูตรโดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศึกษามาร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ สาระเนื้อหา กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลแหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำร่างคู่มือหลักสูตร “เพศศึกษารอบด้าน” การทดลองใช้หลักสูตรเพศศึกษารอบด้าน ได้ทดลองใช้กับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ ๓ จำนวน ๓๐ คน ใช้เวลาทดลอง ๔๕ ชั่วโมง ผลการประเมินพบว่า ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษารอบด้านทั้งในด้านพัฒนาการของมนุษย์ ความสัมพันธ์ในมิติของครอบครัว พฤติกรรมทางเพศที่พัฒนาไปตามช่วงชีวิต สุขภาพทางเพศ สังคมเชิงวัฒนธรรม ที่สำคัญคือผู้เรียนมีทักษะเกี่ยวกับการสื่อสาร การตัดสินใจ การจัดการกับแรงกดดันเมื่อเกิดปัญหา รวมทั้งได้มีโอกาสฝึกการยอมรับคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต

ภาคเรียนที่ ๒/๒๕๔๙ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้นำหลักสูตร “เพศศึกษารอบด้าน” ไปทดลองกับนักศึกษาชั้นปีที่ ๓ จำนวน ๙๘๓ คน โดยนักศึกษาจะนำความรู้และทักษะต่างๆ ไปจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในระดับขั้นพื้นฐาน ในช่วงเวลาออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามหลักสูตรครุศาสตร์

เครือข่ายคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๑๐ แห่ง หวังว่าเอกสารเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ผู้ที่สนใจจะจัดการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน ขอขอบคุณองค์การแพธ (PATH) ที่ให้โอกาสกับเครือข่ายคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๑๐ แห่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “เพศศึกษารอบด้าน”

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here