ผู้ใหญ่เปิดใจ ลูกหลาน (รัก) ปลอดภัย

286

เคยมีการสำรวจความเห็นวัยรุ่นไทยว่าคิดอย่างไรกับพ่อแม่ พบว่าแม้กว่าร้อยละ ๙๐ ยืนยันว่า “แม่” คือบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็ยอมรับว่าตนเองมีความลับกับแม่เรื่องความรัก และเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศมากที่สุด ดังนั้น วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่จึงไม่กล้าสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทั้งที่พ่อแม่คือคนที่วัยรุ่นอยากพูดคุย ปรึกษาเมื่อมีปัญหาในเรื่องความรัก เรื่องแฟนมากที่สุด อาจเพราะกลัวพ่อแม่เสียใจกับพฤติกรรมของตน กลัวถูกดุด่าว่ากล่าวหรือไม่ชอบให้นำพฤติกรรมของตนไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น หรือกระทั่งเปรียบเทียบกับสมัยที่พ่อแม่เป็นวัยรุ่นก็ตาม

ในต่างประเทศ มีการศึกษพบว่าบทบาทของพ่อแม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ของลูกวัยรุ่นอย่างมาก โดยจากรายงานที่ดีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๑ เมื่อถูกถามว่า ใครคือคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดหากตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ ครึ่งหนึ่งของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอบว่า “พ่อแม่” ขณะที่นักเรียนระดับอุดมศึกษาซึ่งโตกว่าตอบว่า “เพื่อน”

ในรายงานฉบับเดียวกัน ยังมีการศึกษาพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่มักนึกไม่ถึงว่า ลูกวัยรุ่นของตนมีพฤติกรรมทางเพศแล้ว “

นอกจากนั้น รายงานผลการวิจัยเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๔๗ ซึ่งทำการศึกษาถึงการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นว่าสัมพันธ์อย่างไรกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่น พบว่า วิธีการพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นที่มีปัญหาในการคุมกำเนิด และเอชไอวีนั้นส่งผลต่อการชะลอการมีเพศสัมพันธ์ของลูก

การพูดคุยเรื่องเหล่านี้ในครอบครัวก็ส่งผลเช่นกัน เพราะแม้จะมีการพูดคุยกันบ่อย แต่รูปแบบการพูดคุยของครอบครัวที่ลูกวัยรุ่นต้องจำยอมเห็นด้วยกับพ่อแม่ทุกเรื่องในระหว่างการพูดคุยกลับมีแนวโน้มที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศสูงกว่าครอบครัวที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยในบางเรื่องระหว่างการสนทนา และเมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวที่มีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ลูกวัยรุ่นในครอบครัวกลุ่มหลังมีแนวโน้มที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศน้อยกว่ากลุ่มแรก

สำหรับสังคมไทย เนื่องจากวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่เลือก “เพื่อน”เป็นที่ปรึกษาอันดับแรก เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ  การเลือกที่จะไม่สื่อสารกับพ่อแม่ในเรื่องเพศ เรื่องแฟน หรือเรื่องความรัก กำลังส่งผลให้วัยรุ่นไทยได้รับความรู้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่รอบต้าน หรือเกิดค่านิยมที่ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ

ความเชื่อของพ่อแม่ในเรื่องเพศถูกถ่ายทอดมาจากการสั่งสอนอบรมในครอบครัวซึ่งมักไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกัน การแสดงออกของคนเราส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งอย่างหลังนี้มักเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยี การสื่อสารของโลก จึงทำให้เกิดช่องว่างของการสื่อสารระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น และนำไปสู่ความขัดแย้ง จนกลายเป็นปัญหาเช่นที่กล่าวมา

ในเมื่อพ่อแม่เป็นคนที่ลูกอยากเรียนรู้เรื่องเพศด้วยมากที่สุดพ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการกล่อมเกลา ชี้แนะ สั่งสอนในเรื่องเพศตั้งแต่ลูกยังเล็กเป็นเด็กทารกจนโตเป็นวัยรุ่นและอาจจะถึงขั้นเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น นอกจากการทำความเข้าใจและรู้เท่าทันความรู้สึกของวัยรุ่นว่า วัยนี้ต้องการพื้นที่ส่วนตัว จึงต้องการความเป็นอิสระสูง แต่ก็ยังต้องการคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดไปพร้อมกันด้วย พ่อแม่เองก็ต้องทบทวนความเชื่อของตนในเรื่องเหล่านี้รวมถึงวิธีการบริหารอำนาจกับวัยรุ่นว่าควรใช้อย่างไร เมื่อไหร่ และขนาดไหนจึงจะได้ผลเมื่อเกิดการเผชิญหน้า และกลายเป็นการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

ด้วยเหตุนี้ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนโลกฯ จึงได้พัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองกับบุตรหลาน เพื่อเสริมสร้างบทบาทครอบครัวในการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในเยาวชนควบคู่ไปกับการดำเนินการในสถานศึกษา โดยมุ่งให้พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น มีความรู้ความเข้าใจมีทัศนคติที่ดีในเรื่องเพศ และมีทักษะในการสื่อสารเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ภายในครอบครัว

และเมื่อปี ๒๕๔๘ มีการรณรงค์โครงการ คุยเปิดใจ รักปลอดภัยซึ่งเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างผู้ใหญ่กับเยาวชนเพื่อป้องกันเอดส์ โดยมีการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ คู่มือ คุยเปิดใจ รักปลอดภัย คำแนะนำเพื่อการสื่อสารเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ระหว่างพ่อแม่และบุตรหลานในครอบครัวแจกจ่ายให้ผู้ที่สนใจ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม ซึ่งปัจจุบันได้หมดลงแล้ว

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here