บังคับทรงผม = ข่มขืน (27 พฤษภาคม 2563)

273

บังคับทรงผม   ข่มขืน

คอลัมน์  :  คุยเรื่องเพศกับพระชาย
เรื่องโดย  :  พระชาย วรธรรม [แนะนำผู้เขียน]

          เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม ที่ผ่านมามีประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนที่สำนักข่าวต่าง ๆ ขึ้นหัวข่าวประมาณว่า  “เด็กไทยมีเฮจะได้ไว้ผมยาว”  แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเด็ก ๆ อาจไม่ได้ไว้ผมยาวอย่างที่จั่วหัวไว้ก็ได้

          ที่จริงประกาศฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ในสายตาข้าพเจ้า  เมื่อวิเคราะห์จากเนื้อหาแล้วพบว่ามีเนื้อหาเดิม ๆ ว่านักเรียนชายไว้สั้นหรือยาวได้ไม่เกินตีนผม ส่วนนักเรียนหญิงไว้สั้นหรือยาวก็ได้ ถ้าไว้ยาวให้มัดให้เรียบร้อย แต่ที่เพิ่มเติมแบบผิดสังเกตก็คือ  ห้ามดัด ห้ามย้อม ห้ามตัดแต่งทรงผมให้เป็นสัญลักษณ์ลวดลาย ซึ่งถ้าเทียบกับประกาศทรงผมฉบับก่อน ๆ ก็ยังไม่ “เยอะ” ขนาดนี้

          และที่รู้สึกผิดปกติคือข้อ (7) กับ ข้อ (8)ที่ทำให้ประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ดูมีเลศนัยบางอย่าง

          ข้อ (7) อ่านแล้วมีใจความว่า “ให้สถานศึกษาวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้”  คุณผู้อ่าน ๆ แล้วรู้สึกคุ้น ๆ บ้างไหม  แปลว่าที่เขียนมาทั้งหมดคือยกอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้ออกแบบทรงผมอยู่ดี  คือแทนที่กฎระเบียบจะมุ่งไปที่การควบคุมวิถีปฏิบัติของโรงเรียนที่ต้องไม่ละเมิดหรือเข้มงวดกับทรงผมของนักเรียนมากจนเกินไป  กลับกลายเป็นว่าประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้คือการมอบอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้จัดการแบบเต็มเหนี่ยว  ในขณะที่สถานการณ์ที่ผ่านมาสิ่งที่ปรากฏก็คือโรงเรียนละเมิดเส้นผมของนักเรียน  มีการไถ ตัด กร้อนโดยครูปราศจากความผิด   แทนที่ประกาศฉบับนี้จะไปควบคุมโรงเรียนว่าห้ามเข้มงวดหรือทำอะไรกับเส้นผมของนักเรียน  ประกาศฉบับนี้กลับไม่พูดอะไรเลย  หนำซ้ำกลับมอบอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้จัดการแบบเสร็จสรรพ

          ยังไม่พอ .. ตบท้ายข้อ (8) ด้วยการมอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจในการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบทรงผม กล่าวคือถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาระหว่างนักเรียนกับครู  เช่น  ครูบอกให้เกรียนแต่นักเรียนต้องการรองทรง แทนที่จะมอบอำนาจให้นักเรียนมีสิทธิต่อรองแสดงเหตุผล กลับกลายเป็นว่าไปมอบอำนาจให้ใครก็ไม่รู้ให้มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัยปัญหา เท่ากับว่าประกาศทรงผมฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อกันท่าให้โรงเรียนยังไงยังงั้น

          ประกาศกฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับนี้จึงมีอะไรหลายอย่างเคลือบแคลง ไม่โปร่งใส  มีเลศนัย  ไม่อยากเชื่อว่านี่คือประกาศกฎกระทรวงที่ออกมาจากรัฐมนตรีที่จบปริญญาจากเมืองนอก มีภริยาเป็นถึงเจ้าของโรงเรียนเอกชนอันมีชื่อเสียง  แต่ออกกฎกระทรวงควบคุมเด็กราวกับเด็กเป็นอาชญากร ไว้ผมทรงอะไรไม่ได้เลยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของโรงเรียน  ถ้าจะให้วิจารณ์กฎกระทรวงฉบับนี้ก็คือการถอยหลังเข้าคลองสู่อำนาจนิยมแบบสิ้นสภาพ

ประกาศทรงผมของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับล่าสุด วันที่ 1 พฤษภาคม 2563
ที่มา https://www.kroobannok.com/88061

         1. ประวัติศาสตร์ผมเกรียนติ่งหูมาจากไหน

          อ. นิธิ  เอียวศรีวงศ์ นักคิดนักเขียนคนดังเคยเขียนบทความกล่าวถึงทรงผมของเด็กไทยไว้ว่าผมทรงลานบินของเด็กไทยเริ่มขึ้นในยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยจอมพล ป. ไปลอกเลียนแบบผมทรงเกรียนมาจากทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกผ่านทางเข้ามาในเมืองไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นไปได้ว่าผมทรงเกรียนติ่งหูน่าจะเริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2482 ตามที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนไว้1 

          อ.นิธิ วิเคราะห์ว่าผมทรงลานบินคือการกล่อมเกลาเด็กให้มีจิตใจแบบทหาร  ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงข้าพเจ้าคิดว่า จอมพล ป. คิดผิดเสียแล้ว เพราะเด็กไม่ใช่ทหาร เด็กเพียงแค่ต้องการไปโรงเรียนเพื่อเอาความรู้ . ไม่ได้จะเอาความเป็นระเบียบแบบทหารไปรบราฆ่าฟันกับใคร  นี่อาจเป็นผลเสียประการหนึ่งหรือเปล่าที่เรามีผู้นำเป็นทหาร นโยบายต่าง ๆ จึงถูกออกแบบมาคล้ายกำลังเคลิบเคลิ้มและจินตนาการว่าประชาชนคือพลทหารที่ต้องลงฝึกภาคสนามไปเสียหมด

          2. ปี 2518 เคยประกาศอนุญาตผมยาว

          ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2556กระทรวงศึกษาธิการเคยออกประกาศเรื่องทรงผมมาแล้วครั้งหนึ่งว่า เด็กชายไว้ยาวได้ไม่เกินตีนผม  สาเหตุที่ปีนั้นกระทรวงศึกษาธิการออกมาประกาศแบบนี้ก็เพราะมีการพูดถึงการละเมิดเส้นผมที่ครูกระทำกับนักเรียนด้วยการกร้อนผมไถผมจนเสียทรง และมีการโจษขานกันในสังคมออนไลน์มากขึ้นเกี่ยวกับทรงผมเด็ก  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปควรฟังเสียงของเด็กมากขึ้น

          เวลานั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหนังสือเวียนเพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อกำชับเรื่องทรงผมของนักเรียนต้องยึดตามกฎกระทรวงฉบับ พ.ศ.2518  ซึ่งเป็นฉบับที่เคยระบุไว้ชัดเจนว่าให้นักเรียนชายไว้ยาวแบบรองทรงได้ นักเรียนหญิงเลือกไว้ผมสั้นหรือยาวได้2

          แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ นายพงศ์เทพ ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการออกหนังสือเวียนไปยังสถานศึกษาทุกแห่งเพื่อปรับเปลี่ยนทรงผมของนักเรียนชายให้ไว้รองทรงได้  ปรากฏว่ามีสถานศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่ปฏิบัติตาม  ในขณะที่สถานศึกษาหลายแห่งยังคง “ลักไก่” บังคับผมเกรียน  นักเรียนชายหลายโรงเรียนพยายามนำหนังสือเวียนที่เผยแพร่อยู่ในเว็ปไซต์ต่าง ๆ มาชี้แจงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับครูที่อ้างว่าไว้ผมยาวผิดระเบียบแต่ก็ดูเหมือนว่าหนังสือเวียนที่ออกมาจากกระทรวงจะไร้ความศักดิ์สิทธิ์เพราะในที่สุดครูก็จะบอกกับนักเรียนว่า “นี่เป็นกฎของโรงเรียน ถ้าไม่พอใจก็ไปเรียนที่อื่น”

                                  เป็นไปได้อย่างไรที่กฎโรงเรียนจะใหญ่กว่ากฎกระทรวง แต่นี่ก็เป็นไปแล้ว

               อีกประเด็นที่ควรนำมาพิจารณากันก็คือ  ถ้านำประกาศเรื่องทรงผมของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนหญิงซึ่งกล่าวไว้ลอย ๆ ว่า  “ไว้สั้นหรือยาวก็ได้” ก็มิได้บังคับว่าถ้าสั้นต้องสั้นระดับติ่งหู และไม่ได้บอกว่าห้ามซอย  แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือนักเรียนหญิงมักถูกบังคับให้ไว้สั้นได้ไม่เกินติ่งหูเท่านั้น และถ้าซอยผมมาก็ถูกลงโทษว่าผิดระเบียบ ทั้ง ๆ ที่กฎกระทรวงก็ไม่ได้ระบุว่าห้ามซอย

หนังสือเวียนจากกระทรวงศึกษาธิการออกเมื่อ 17 มกราคม 2556 อนุญาตให้นักเรียนชายไว้รองทรงได้โดยอ้างอิงกฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2518 ว่านักเรียนชายสามารถไว้ยาวได้ไม่เกินตีนผม  และนักเรียนหญิงก็ไม่ได้บังคับให้ติ่งหู
ที่มา http://www.krusmart.com/student-hair-rule/

          3. ผมเกรียนกลับมาเมื่อตุลาแพ้พ่าย

          ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์  6  ตุลา 2519  นักเรียนชายหลายโรงเรียนได้ไว้รองทรงกันทั่วหน้า  ใครจะรู้ว่าหลังจากนั้นผมเกรียนถูกนำกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนอย่างจริงจังอีกครั้งภายหลังการพ่ายแพ้ของนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

          ย้อนหลังกลับไปกับเหตุการณ์  6  ตุลาคม  2519 (ประมาณ 44 ปีที่แล้ว) ภายหลังจากที่นักศึกษาถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย  หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์มีความเคลื่อนไหวจากกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงทรงผมของนักเรียนว่าจะให้มีการเข้มงวดกับนักเรียนชายโดยไม่ให้ไว้ผมยาวอีกต่อไปโดยเริ่มปีการศึกษาใหม่ 2520

               หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2519 มีการกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนทรงผมโดยกระทรวงศึกษาธิการไว้ดังนี้

“นายจรูญ วงศ์สายัณห์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการในฐานะ รมต.กระทรวงศึกษาธิการ เรียกประชุมครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาในสังกัดทั้งโรงเรียนราษฎร์และรัฐบาลทั่วประเทศ ให้เตรียมตัวให้พร้อมไว้รับแผนปฏิรูปใหม่ ทั้งด้านการแต่งตัวและหลักสูตรการสอนตามนโยบายของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
เรื่องการแต่งตัวนั้น นายจรูญชี้แจงว่า เวลานี้นักเรียนทุกคนเหมือนคนไข้เพิ่งพักฟื้น จะเปลี่ยนแปลงทันทียังไม่ได้ คณะปฏิรูปฯจึงให้ผ่อนผันไว้ก่อน ตั้งแต่ พ.ย. จนถึงสิ้นปีการศึกษา 2519 และพอขึ้นปีการศึกษาใหม่ 2520 ก็จะออกระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักเรียนเสียใหม่ ทั้งเครื่องแบบและทรงผม ซึ่งจะบังคับให้ตัดสั้น ไม่ให้ไว้ผมยาวหรือรองทรง ขอให้ครู อาจารย์ ได้นำเรื่องที่จะปฏิรูปการแต่งกายของนักเรียนใหม่ไปชี้แจงให้นักเรียนและผู้ปกครองได้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวไว้ให้พร้อม ก่อนที่จะถึงเวลาดังกล่าว”

ที่มา : เฟสบุค บันทึก 6  ตุลา
https://www.facebook.com/6tula2519/photos/a.1206397566085729/2146429012082575/?type=3&theater

               อาจเรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นผมเกรียนติ่งหูอันเป็นคลื่นลูกที่สองมีจุดเริ่มต้นมาจากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19  (คลื่นลูกแรกทำโดย จอมพล ป.)  เมื่อขบวนการนักศึกษาพ่ายแพ้ต่อรัฐ   รัฐอาศัยช่วงเวลานี้เปลี่ยนแปลงทรงผมของนักเรียนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  รัฐบาลคงเล็งเห็นว่าวิธีการที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพต้องทำกันตั้งแต่เด็กอยู่ในวัยเยาว์ อย่าปล่อยให้เด็กมีความคิดเป็นของตนเอง ต้องให้เด็กคิดเหมือนๆ กัน ทำเหมือนๆ กัน อยู่ในระบอบเผด็จการณ์เหมือน ๆ กัน  การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น  “เผด็จการณ์เริ่มต้นในรั้วโรงเรียน”  ก็ว่าได้

          4. เนติวิทย์ต่อต้านเกรียน

          อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยของเรามีนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่ยอมจำนนต่อการล่วงละเมิดเส้นผม นั่นคือเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  ตอนที่เขาอยู่ ม.6 เขาถึงกับเขียน  “จดหมายกล่าวโทษผู้อำนวยการโรงเรียน” ที่ปล่อยให้ครูกร้อนผมนักเรียนจนเสียทรง  เนติวิทย์อ้างว่าการลงโทษด้วยการกร้อนผมมิได้มีอยู่ในกฎกระทรวง  แต่เหตุไฉนผู้อำนวยการจึงปล่อยให้ครูปฏิบัติเกินเลยกับนักเรียนได้ขนาดนี้ เขาอ้างถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายว่าถ้าครูทำกับนักเรียนได้  ถ้าเช่นนั้นวันใดครูไม่สวมชุดข้าราชการมาสอนแล้วนักเรียนจะกระทำการกลับคืนได้บ้างหรือไม่ และยังตั้งคำถามที่ท้าทายอีกหลายประการ

          ข้าพเจ้าสอบถามเนติวิทย์ได้ความว่าจดหมายฉบับดังกล่าวเขาเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559 ขณะนั้นเขาเรียนอยู่ชั้น ม.6 หลังจากยื่นจดหมายให้กับผู้อำนวยการแล้วก็ไม่มีการลงโทษนักเรียนด้วยการกร้อนผมอีกเลย  รวมทั้งนักเรียนชั้น ม.ต้น ก็ได้ไว้ผมรองทรงเช่นเดียวกับ ม.ปลาย  แต่หลังจากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการคนใหม่  กฎระเบียบผมเกรียนก็ถูกนำกลับมาใช้กับนักเรียน ม.ต้นเช่นเดิม ทำให้เห็นว่าระเบียบทรงผมของโรงเรียนขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการแต่ละคน  กฎอาจจะถูกวางไว้ดีแล้วแต่เมื่อเปลี่ยนผู้อำนวยการคนใหม่ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม กฎระเบียบไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎกระทรวงแต่อย่างใด

จดหมายกล่าวโทษผู้อำนวยการโรงเรียนเขียนโดยเนติวิทย์  ที่มา : เว็ปไซต์ Netiwit
https://www.netiwit.com/download-letter-against-haircut-violation/

          5. คนที่เป็นรัฐมนตรีเขาคิดอะไรอยู่

          28กุมภาพันธ์ 2562  ที่ จ.ระยอง เด็กชายชั้น ม.1 คนหนึ่งฆ่าตัวตายเพียงเพราะคำพูดของครูซึ่งกล่าวว่า “อาทิตย์หน้าสอบวันสุดท้าย นักเรียนที่ผิดระเบียบทั้งเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกายให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนให้เรียบร้อยเพราะเป็นการสอบวันสุดท้ายก่อนปิดเทอมใหญ่”

           แม้ครูจะมิได้บอกว่าถ้าไม่ตัดผมมาจะเกิดอะไรขึ้นแต่สิ่งที่เด็กชายรู้ดีก็คือครูไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบแน่นอน

          ก่อนวันเกิดเหตุเด็กชายได้ขอเงินแม่ไปตัดผมแต่เมื่อไปถึงร้านตัดผมเขาพบว่าร้านตัดผมปิด เด็กชายกลับมาบ้านพูดกับแม่ว่า “พรุ่งนี้คงไม่ได้ไปสอบ” ในที่สุดเด็กได้ฆ่าตัวตายในเช้าวันรุ่งขึ้นเพียงเพราะคิดน้อยใจว่าถ้าไปโรงเรียนแล้วครูคงไม่ให้เข้าห้องสอบเพราะผมยาว ถ้าเช่นนั้นฆ่าตัวตายเสียดีกว่า3

          12 มีนาคม 2562 ข้าพเจ้าเขียนจดหมายพร้อมกับล่ารายชื่อได้ 290 รายชื่อ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนั้นผู้ดำรงตำแหน่งคือ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จดหมายฉบับดังกล่าวขอให้กระทรวงมีการเข้าไปตรวจสอบและควบคุมโรงเรียน มิให้โรงเรียนเข้าไปเข้มงวดกับทรงผมของนักเรียน ให้นักเรียนมีอิสระในการไว้ผมหรืออย่างน้อยที่สุดเด็กชายสามารถไว้รองทรงได้ทุกระดับชั้น ส่วนเด็กหญิงสามารถซอยสั้นหรือไว้ยาวก็ได้  ในกรณีไว้สั้นก็ไม่มีการบังคับให้สั้นถึงติ่งหู ทั้งนี้โรงเรียน ครู อาจารย์ ต้องไม่เข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดเส้นผมของนักเรียนเพราะเส้นผมของเด็กเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก ผู้ใดจะละเมิดมิได้4

          หลังจากที่ข้าพเจ้ายื่นจดหมายไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์ให้หลังข้าพเจ้าทราบว่านายแพทย์ธีระเกียรติมีกำหนดเดินทางไปร่วมเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียนละครขุนเดช The Musical”  ในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปที่นั่นเพื่อสอบถามถึงจดหมายร้องเรียนที่ส่งไปและต้องการทราบความคืบหน้าของสิ่งที่ได้ร้องขอ

เมื่อพบตัวนายแพทย์ธีระเกียรติ ข้าพเจ้าจึงเข้าไปทักทายและเริ่มบทสนทนา

พระชาย :เจริญพร คุณหมอได้รับจดหมายร้องเรียนของอาตมาที่เขียนส่งไปถึงกระทรวงเรื่องทรงผมเด็กเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไหม ?

รัฐมนตรี :จดหมายอะไรครับ ผมยังไม่ได้รับเลย

พระชาย :คืออย่างนี้ มีเด็กคนหนึ่งฆ่าตัวตายใน จ.ระยอง สาเหตุเพราะครูบอกว่าจะไม่ให้เข้าห้องสอบเนื่องจากผมยาว เด็กคนนั้นจึงผูกคอตาย (รมว. ธีระเกียรติ ทำหน้าตกใจ) ในจดหมายฉบับนั้นต้องการให้กระทรวงเข้าไปกวดขันโรงเรียนมิให้โรงเรียนเข้าไปเคร่งครัดเรื่องทรงผมของเด็กมากนัก

รัฐมนตรี :(พูดกับเลขา) เดี๋ยวกลับไปกระทรวงคุณช่วยไปตามจดหมายร้องเรียนของหลวงพี่มาให้ผมหน่อยนะ

พระชาย :หลัก ๆ ในจดหมายฉบับนั้นต้องการให้กระทรวงเข้าไปควบคุมโรงเรียนที่เข้มงวดเรื่องทรงผม หมอคิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหมที่กระทรวงจะกำหนดให้โรงเรียนไม่เข้าไปเข้มงวดกับทรงผมของเด็กมากนัก หรืออย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้นักเรียนชายไว้รองทรงได้

รัฐมนตรี :มันเป็นอย่างนี้ครับหลวงพี่ เราจะไปบังคับโรงเรียนให้ไว้รองทรงไม่ได้ มันเป็นการกระจายอำนาจให้โรงเรียนไปจัดการกันเอง

          เมื่อรัฐมนตรีตอบมาเช่นนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรต่อเพราะดูเขาเร่งรีบที่จะเดินทางกลับและดูเขาไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึง  ข้าพเจ้ารู้สึกสะท้อนใจหลายอย่างเกี่ยวกับบทสนทนากับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านนี้

(1)  เขาไม่ได้สนใจชีวิตของเด็กว่าเด็กจะฆ่าตัวตายเพราะความเข้มงวดของโรงเรียนว่าจะไปละเมิดเส้นผมเด็กเพียงใด  เขาอาจจะตกใจเมื่อได้ยินเรื่องเด็กฆ่าตัวตาย  แต่ถ้าจะต้องเอาเรื่องเด็กฆ่าตัวตายมาแลกกับการต้องเข้าไปกวดขันโรงเรียนที่เข้มงวดทรงผมเด็กซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาละก็เขาคงไม่เสียเวลามาทำอะไรแบบนั้นเพราะมันดูเป็นเรื่องยุ่งยากไร้สาระ  เขาจะไม่เหนื่อยไปกับสิ่งนี้ . นั่นแปลว่าชีวิตของเด็กมีค่าน้อยกว่ากฎระเบียบของโรงเรียน 

               จึงมีคำถามว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเขา ๆ จะนิ่งนอนใจแบบนี้หรือไม่  . บางทีเรื่องแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเขาเพราะเขามีฐานะมากพอที่จะไม่ส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนของรัฐที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจลิดรอดสิทธิเสรีภาพ  แต่จะส่งไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ หรือไม่ก็ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่าจะได้ไม่ต้องมาเจอกับการใช้อำนาจในโรงเรียนไทยแบบนี้

               ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในต่างประเทศคนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคงไม่นิ่งดูดายเหมือนกับรัฐมนตรีบ้านเราแน่ ๆ

(2) ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีก็อาจจะแค่ดำรงตำแหน่งเฉย ๆ  แม้จะมีภูมิหลังดี มีดีกรีเรียนจบจากต่างประเทศ เป็นแพทย์ หรือมีภริยาเป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติ หรือจะมีใบประกาศสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการศึกษาอะไรก็ตาม แต่เมื่อเข้ามาสู่การนั่งเก้าอี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเขาก็อาจจะแค่ดำรงตำแหน่งเพื่อรับเงินเดือนเหยียบแสนไปวัน ๆ5

               สิ่งใดที่เขาสามารถพัฒนาได้หรือสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก่นักเรียน  ทำเพื่อให้สิทธิของเด็กไทยก้าวไปข้างหน้าเขาจะไม่ทำ  เขาคงไม่เอาตำแหน่งที่มีไปเปลี่ยนแปลงระบบอำนาจนิยมที่มีอยู่เดิมซึ่งเขาคิดว่ามันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเพราะเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้  

               เขาเองรู้สึกสะดวกสบายไปกับระบบอำนาจนิยมที่มีอยู่ในโรงเรียนไทยเขาคงไม่เอาตัวเข้าไปขัดแย้งกับระบบระเบียนเรื่องทรงผมหรือบางทีคนที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญาอะไรเลยก็ได้  เพียงแค่ดำรงตำแหน่งเพื่อรับเงินเดือนไปวัน ๆ อย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้

(3) ออก  “คำสั่งผมเกรียน”  นั้นสามารถทำได้ แต่พอขอให้ออก  “คำสั่งรองทรง” กลับทำไม่ได้             

               สมัยที่มีการออกระเบียบผมทรงเกรียนในช่วงที่จอมพล ป. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐตรี  พ.ศ. 2482  หรือหลังเหตุการณ์  6  ตุลา  19  ก็ยังสามารถกระทำได้ แต่เหตุไฉนเมื่อวันเวลาผ่านไปขอให้กระทรวงใช้อำนาจควบคุมโรงเรียนให้นักเรียนชายอย่างน้อยได้ไว้รองทรงกลับตอบว่าทำไม่ได้  มันเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไรนักหนากับการเปิดโอกาสให้เด็กชายได้ไว้รองทรง  มันเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ จะมีใครตอบคำถามที่แสนง่ายนี้ได้บ้าง ?

(4) จดหมายร้องเรียนที่ข้าพเจ้าเขียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนก่อนคือหมายเลขตามภาพข้างล่าง                      

               ข้าพเจ้าทราบดีว่าจดหมายร้องเรียนฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการเอาใจใส่ในสิ่งที่ร้องขอ หากได้รับการเอาใจใส่ก็คงมีประกาศดี ๆ เกี่ยวกับทรงผมออกมาตั้งแต่ปีที่แล้วอันเป็นสมัยที่นายแพทย์ธีระเกียรติยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  แต่ทุกอย่างก็เงียบงัน  ไม่มีอะไรให้ได้ยินกลับมา

               หากรัฐมนตรีคนปัจจุบันสนใจจะนำปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของโรงเรียนต่อทรงผมของนักเรียนไปสานต่อก็สามารถไปสืบค้นจดหมายร้องเรียนตามหมายเลขในภาพได้  ข้าพเจ้ายินดีเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาแก้ไขแม้เพิ่งจะมีการประกาศทรงผมออกไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ถือว่ายังไม่สาย  เพราะถ้าหากมีเด็กฆ่าตัวตายเพราะเรื่องทรงผมขึ้นมาอีกก็คงบอกได้คำเดียวว่ามันคือบาปกรรมของผู้มีอำนาจในกระทรวงนี้และเป็นบาปกรรมของโรงเรียนเท่านั้นเอง

บัตรรับเรื่องร้องเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ 
เลขทะเบียน 975  วันที่ร้องเรียน  12 มีนาคม 2562  เวลาที่ยื่นจดหมาย 11.43

         6. กร้อนผมเท่ากับข่มขืน

          ต้นเดือนพฤษภาคมในช่วงไล่ ๆ กันกับที่มีการประกาศกฎกระทรวงเรื่องทรงผมมีข่าวที่น่าตกใจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมอย่างน้อย 2 คนในเขตจังหวัดมุกดาหาร  เธอทั้งสองถูกครู 5 คนล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมด้วยศิษย์เก่าที่เคยเรียนโรงเรียนเดียวกันอีก 2 คนร่วมกระทำชำเรา6  มันเป็นเรื่องที่ช็อคความรู้สึกเมื่อต้องเจอข่าวอะไรแบบนี้

          การข่มขืนเป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจในเวลาเดียวกัน เป็นการทำผิดศีลข้อ 3 กาเมสุมิจฉาจารในความหมายที่ว่าเป็นการร่วมประเวณีโดยการบังคับขืนใจ  ในเมื่อไม่มีความยินยอมพร้อมใจเกิดขึ้นก็แปลว่าเป็นการล่วงละเมิดโดยอัตโนมัติ  ในข่าวบอกว่ามีการขู่บังคับเด็กว่าถ้าไม่ยอมจะให้เรียนซ้ำชั้น

          ฉันใดเรื่องทรงผมก็ฉันนั้น  ในกรณีกร้อนผมถ้าเด็กไม่ได้ยินยอมพร้อมใจที่จะให้ครูกร้อนผม นั่นเท่ากับเป็นการล่วงละเมิดเนื้อตัวร่างกายไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ก็ตาม

          คงต้องบอกว่าครูไทย (บางท่านซึ่งมีจำนวนไม่น้อย) มีความเข้าใจน้อยมากในเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กจนน่าตกใจ  เพราะครูมีความเข้าใจเรื่องนี้กันน้อยเราจึงเห็นภาพเด็กถูกไถผมปรากฏในสังคมออนไลน์จนชินตา  เพราะครูไทยไม่เข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายจึงมีการกร้อนผมนักเรียนให้เห็นตลอด

          เวลาเด็กถูกกร้อนผมเขารู้สึกทุกข์ใจไม่ต่างจากผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมีความทุกข์ใจ  เด็กรู้สึกโกรธที่ครูตัดผมของเขาจนแหว่งแต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะครูมีอำนาจเหนือกว่า  เหมือนกับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศรู้สึกโกรธมากแค่ไหนก็ต้องเก็บความรู้สึกทุกข์ใจนั้นไว้จนอยากจะระเบิดมันออกมาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม  แต่เมื่อออกมาเรียกร้องความยุติธรรมก็ต้องเจอกับความไม่เข้าใจของสังคมรอบข้าง หาว่าโกหกบ้าง หาว่าทำลายชื่อเสียงของโรงเรียนบ้าง หาว่าทำตัวเองบ้าง

ภาพนักเรียนชายถูกกร้อนผมที่แชร์กันในสังคมออนไลน์ 
จะเห็นได้ว่าผมก็สั้นเรียบร้อยดีแต่ก็ยังถูกไถจนแหว่ง

         เด็กที่ถูกกร้อนผมอยากจะออกมาบอกทุกคนว่ามันเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขา แต่เมื่อออกมาก็ต้องเจอกับการถูกบอกว่าเส้นผมเป็นเรื่องเล็กน้อย   เธอยังเด็กจะต้องไปสนใจความสวยความหล่อทำไม   เธอเป็นเด็กก็ต้องตั้งใจเรียน  กฎของโรงเรียนจะทำให้เธอมีระเบียบ  ถ้าเธอทำตามไม่ได้ก็อยู่ร่วมสังคมนี้ไม่ได้  ไปตัดผมซะนี่เป็นกฎของโรงเรียน  ถ้าไม่พอใจก็ไปเรียนที่อื่น  คำพูดต่าง ๆ นานาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กที่ถูกกร้อนผมรู้สึกดีขึ้นแต่กลับทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลงเพราะไม่มีใครมองเห็นว่านี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ แม้แต่คนที่พูดประโยคเหล่านี้ออกมาถ้าเขาถูกกร้อนผมก็ย่อมรู้สึกเช่นเดียวกัน

          การที่ครูกร้อนผมนักเรียนทำให้ความรู้สึกมีความสุขของเด็กต้องสูญหายไปไม่ต่างกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ .ในเชิงนิตินัยกฎระเบียบทรงผมของโรงเรียนได้ล่วงละเมิดเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนไปเรียบร้อยแล้ว . เมื่อครูกร้อนผมนักเรียนหรือครูข่มขืนนักเรียนถือเป็นการล่วงละเมิดเนื้อตัวร่างกายนักเรียนในเชิงพฤตินัยเป็นลำดับถัดมา 

          เป็นเรื่องเศร้าไหมที่ลูกหลานของเราถูกล่วงละเมิดทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยโดยโรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียนเป็นผู้กระทำเสร็จสรรพ ?

          เราควรตื่นรู้ว่าโรงเรียนได้ล่วงละเมิดลูกหลานของเราทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย ผู้ปกครองควรตื่นรู้แล้วลุกขึ้นมาปกป้องลูกหลานของท่านจากการถูกล่วงละเมิดโดยโรงเรียนผ่านกฎระเบียบทรงผม อย่าปล่อยให้ลูกหลานของท่านต้องถูกล่วงละเมิดผ่านกฎระเบียบโรงเรียนในเชิงนิตินัยเช่นนี้ต่อไป

          ลำพังนิตินัยเด็กยังถูกละเมิด  แล้วในเชิงพฤตินัยเด็กจะมีความปลอดภัยได้อย่างไร 

          ในทางกลับกันถ้าหากในทางนิตินัยเด็กได้รับความคุ้มครอง ในเชิงพฤตินัยก็เชื่อได้ว่าเด็กจะมีความปลอดภัยตามมาเพราะครูจะให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิ์เนื้อตัวร่างกายของเด็ก

          แต่ถ้าในเชิงนิตินัยโรงเรียนได้ละเมิดเด็กด้วยกฎระเบียบทรงผมเสียแล้ว  ถ้าเช่นนั้นเนื้อตัวร่างกายส่วนอื่น ๆ ของเด็กคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะถูกกระทำย่ำยีอย่างไร

1 บทความ “เกรียนไทยมาจากไหน ? และทำไมทรงผมจึงกลายเป็นเครื่องแบบ ?” 
   https://thematter.co/thinkers/where-is-grean-thai-from/4504

2 “สั่งปรับทรงผมนักเรียน ยกเลิกเกรียน หญิงไว้ยาว”,
   Mthai, https://news.mthai.com/general-news/211999.html)

3 เด็กชาย ม.1 เครียดแม่ไม่พาไปตัดผม คว้าเชือกผูกคอดับ, ข่าวสด, 
   https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2259641

4 จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คอลัมน์คุยเรื่องเพศกับพระชาย,
   https://www.teenpath.net/content.asp?ID=21502#.XsMXH2gzbIU)

5 เปิดอัตราเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง ครม., กะปุกด็อทคอม,
   https://money.kapook.com/view98242.html

6 ครู 5 ศิษย์เก่า 2 รุมข่มขืนนักเรียนวัย 14, คิดดี วาไรตี้,
   https://kiddeevariety9.com/archives/1287?fbclid=IwAR0ZWhykk3gASqqnmH152sFyJtp9UD7XCx1ismyxc0LvbOtALZZPF7jWIak

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here