หลักการสำคัญของการให้การศึกษาเรื่องเพศและสุขศึกษา (PUBERTY AND HEALTH EDUCATION – PHE) ที่ครอบคลุมประเด็นเพศสภาพที่หลากหลาย [5 เมษายน 2562]

472

โดยทั่วไป การให้การศึกษาเรื่องเพศและสุขศึกษา (PHE) เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ลักษณะเฉพาะของเพศหญิงชาย อารมณ์ และความสัมพันธ์ แต่ประเด็น เพศสภาพ (Gender) กลับไม่ได้รับความสำคัญ หรือถูกกล่าวถึงน้อยมาก แม้กระทั่งในหลักสูตรสุขศึกษาที่มีเนื้อหาครอบคลุมรอบด้าน

การให้การศึกษาเรื่องเพศและสุขศึกษา (PHE) ที่ครอบคลุมเนื้อหาเรื่องเพศสภาพที่หลากหลายอย่างชัดเจนมีประโยชน์ต่อนักเรียนทุกคน นอกจากเป็นการแสดงถึงการยอมรับและยืนยันตัวตนของนักเรียนทุกคนแล้ว การรับรู้ถึงการยอมรับและเห็นตัวเองปรากฎหรือเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาหลักสูตรมีแนวโน้มที่จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน เยาวชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องร่างกายและเรื่องสัมพันธภาพที่จะส่งผลดีกับตนเอง นอกเหนือจากการเรียนรู้เพื่อเข้าใจพัฒนาการที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองแล้ว ความเข้าใจถึงประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายที่แต่ละคนต้องเผชิญเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยรุ่นที่นักเรียนต้องพยายามรับมือและทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งทางร่างกายและอารมณ์ความรู้สึก การไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาวิชาสุขศึกษาที่ครอบคลุมถึงเรื่องเพศสภาพที่หลากหลายในจังหวะเวลาสำคัญของชีวิตที่คนๆ หนึ่งกำลังค้นหาว่าเราคือใครและจะเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร อาจทำให้เยาวชนหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว จากการถูกทำให้รู้สึกและถูกทำให้เชื่อว่าพวกเขาไม่มีที่ทางของตนเองบนโลกใบนี้

ความรู้สึกโดดเดี่ยวและการถูกมองไม่เห็นนี้ เป็นความรู้สึกที่มักเกิดขึ้นกับกลุ่มนักเรียนที่เป็นคนข้ามเพศ หรือมีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้รวมถึงความกดดันที่เกิดจากการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป มีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่น่าตระหนกด้านสุขภาวะและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้สามารถป้องกันได้ งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนเกื้อกูลของโรงเรียนและครอบครัวที่มีต่อนักเรียนข้ามเพศช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น พลังของโรงเรียนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อชีวิตของเยาวชนด้วยการสะท้อนประสบการณ์ของเพศวิถีที่หลากหลายผ่านหลักสูตรและกระบวนการสนับสนุนอื่น ๆ มีมากกว่าที่คาด กล่าวให้ถึงที่สุด การจัดการเรียนรู้เรื่องเพศและสุขศึกษาที่คำนึงถึงเพศสภาพและความหลากหลายทางเพศเป็นการการยืนยันการมีอยู่ของตัวตนสำหรับเยาวชนทุกคน มากกว่านั้น ยังเป็นการช่วยชีวิตสำหรับบางคนอีกด้วย

หลักการสำคัญ ๕ ข้อ ของการให้การศึกษาเรื่องเพศที่คำนึงถึงเพศสภาพที่หลากหลาย

หลักการต่อไปนี้ เป็นแนวทางในการถ่ายทอดมุมมอง ภาษา และแนวปฏิบัติที่จะสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีนักเรียนคนใดถูกตีตราหรือถูกมองไม่เห็น ในช่วงที่พวกเขาเรียนรู้และเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น หลักการเหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานของการออกแบบที่คำนึงถึงทุกโรงเรียนและทุกชุมชน โดยตระหนักดีว่า การเรียนการสอนเรื่องเพศและสุขศึกษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเรื่องเพศและสุขศึกษาจะถูกสอนอย่างไร คนหนุ่มสาวทุกวันนี้ต่างเติบโตในยุคสมัยที่เห็นความซับซ้อนของเพศสภาพและเพศวิถีเป็นความจริงของชีวิต ร้อยละ ๕๖ ของเด็กอายุ ๑๓-๒๐ ปี กล่าวว่า พวกเขารู้จักคนที่ใช้สรรพนามที่เป็นกลางทางเพศ เช่น “เขา” และร้อยละ ๗๔ กล่าวว่าพวกเขายอมรับคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ “ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานเดิมของสังคม (หญิง-ชาย)” ได้มากกว่าความรู้สึกยอมรับได้ในปีที่ผ่านมา

นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ต่างเติบโตท่ามกลางโลกที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผ่านพบประสบการณ์ตรงจากครอบครัว วัฒนธรรมที่เป็นกระแสนิยม สังคมออนไลน์ และกลุ่มเพื่อน การให้การศึกษาเรื่องเพศที่คำนึงถึงเพศสภาพที่หลากหลาย (PHE) จึงให้ความสำคัญกับพัฒนาการของภูมิทัศน์ในเรื่องเพศสภาพผ่านหลักการ ๕ ข้อที่จะเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน

๑. การวางรากฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสภาพ
ความรู้เรื่องเพศสภาพช่วยให้นักเรียนมีกรอบแนวคิดพื้นฐานและคำศัพท์ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ตลอดจนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ นอกจากนั้น ยังช่วยสร้างความเข้าใจและความรู้สึกสะดวกใจกับเส้นทางการเติบโตของตนเอง รวมทั้งความแตกต่างหลากหลายของเส้นทางการเติบโตที่อาจพบเจอในกลุ่มเพื่อนๆ

๒. การแยกแยะ “แบบแผน” กับ “กฎ”
การตระหนักรู้และเข้าใจแนวคิดของ “แบบแผน กับ กฎ” ช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงประสบการณ์และการแสดงออกที่หลากหลายของเพศสภาพ หากเราให้เวลาในการคิดใคร่ครวญ กระทั่งเด็กเล็กๆ ก็สามารถมองเห็นและบอกได้ถึงการเหมารวมและมายาคติทางเพศจำนวนมาก ที่ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะกับตนเองหรือกับเพื่อนๆ ร่วมชั้น รวมทั้งมีประสบการณ์ตรงหรือเห็นประสบการณ์ของเพื่อน ที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนหรือภาพเหมารวมในเรื่องเพศ การยอมรับความแตกต่างหลากหลายตามธรรมชาติเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับตนเองและคนอื่นๆ ในสิ่งที่แต่ละคนเป็น

๓. การให้ความสำคัญกับ สรีรวิทยา มากกว่า เพศสภาพ
การให้การศึกษาเรื่องเพศที่คำนึงถึงเพศสภาพที่หลากหลาย เน้นการถ่ายทอดคำสำคัญและคำจำกัดความที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนในเรื่องการทำงานของระบบและกลไกทางร่างกายของมนุษย์ โดยปราศจากการให้ความหมายและระบุความเป็นเพศสภาพ กล่าวโดยสรุป คือ การอธิบายถึงลักษณะ องค์ประกอบ และหน้าที่ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงอวัยวะส่วนต่างๆ กับการเป็นเพศใดเพศหนึ่ง

๔. การอธิบายถึงพัฒนาการที่หลากหลายในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งในช่วงวัยรุ่นของนักเรียนหลายคน คือ การเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่าตัวเองต้องมีความผิดปกติบางอย่างเพียงเพราะร่างกายของเรามีพัฒนาการที่ต่างจากเพื่อนที่นั่งข้างๆ ดังนั้น นักการศึกษาหรือครู ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนเห็นถึงพัฒนาการและประสบการณ์ที่หลากหลายที่แต่ละคนมีในช่วงวัยของการเติบโต จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจที่ทางของตนเองภายใต้บรรทัดฐานของสังคม และช่วยลดความรู้สึก “การเป็นชายขอบ” ของนักเรียนบางคน

๕. การอธิบายถึงครอบครัวที่มีความแตกต่างหลากหลาย
การให้การศึกษาเรื่องเพศและสุขศึกษา (PHE) แบบเดิม มักมีความคิดความเชื่อพื้นฐานว่าเหตุผลเดียวที่ร่างกายมนุษย์พัฒนาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์คือ การมีลูกและสร้างครอบครัว การอธิบายถึงวิถีทางที่แตกต่างของการสร้างครอบครัวจำเป็นต้องให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการสืบพันธุ์ แต่ต้องไม่จำกัดคำอธิบายของการสร้างครอบครัวให้มีเพียงแบบเดียว การขยายความหมายของ “ครอบครัว” หมายถึง การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ที่ทำให้เห็นถึงรูปแบบที่หลากหลายของความเป็นครอบครัวในปัจจุบัน และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่านักเรียนในห้องเรียนก็มาจากครอบครัวที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน

หลักการสำคัญห้าประการในการจัดการเรียนรู้ในเรื่องเพศและสุขศึกษาที่คำนึงถึงเพศสภาพที่หลากหลาย ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนหลายแห่งแล้ว และเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนหรือครูที่ต้องการ “เปิดโอกาส” ให้ประสบการณ์ของนักเรียนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ผลลัพธ์ของการเรียนรู้แบบนี้ คือ การมี “สุขภาวะที่ดี” ขึ้นของนักเรียน และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่จะเติบโตและใช้ชีวิตในโลกที่มีความหลากหลายที่รอพวกเขาอยู่

หมายเหตุ
เอกสารนี้แปลและเรียบเรียงจาก Principles for Gender-Inclusive Puberty and Health Education ซึ่งผลิตและเผยแพร่โดยความร่วมมือขององค์กรระดับชาติ ๖ แห่ง ได้แก่ Advocates for Youth, ANSWER, GLSEN, HRC, Planned Parenthood and SIECUS ที่ร่วมกันพัฒนา “แนวปฏิบัติในเรื่องเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศกับการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา“ (A Call to Action Related to LGBTQ Youth and Sex Education) ในปี ๒๕๕๙ ความสำคัญของเอกสารนี้ คือ การระบุถึงความจำเป็นที่การให้การศึกษาเรื่องเพศและสุขศึกษา จะต้องรวมเนื้อหาที่สะท้อนถึงรสนิยมทางเพศและความหลากหลายทางเพศ

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here