โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อจะสร้างสุขภาวะในเรื่องเพศแก่เยาวชน ผ่านการสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเยาวชนทั้งในแวดวงการศึกษา การสาธารณสุข และการพัฒนาเยาวชนเพื่อขยายความเข้าใจเรื่องเพศวิถี และส่งเสริมการใช้ชีวิตทางเพศอย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ โดยเฉพาะการบ่มเพาะเยาวชนแต่เยาว์วัย ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางเพศ ให้ได้รับการเรียนรู้ ทั้งในสถานศึกษาครอบครัว ชุมชน พื้นที่สาธารณะ และสื่อสารมวลชน
โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจมีระยะเวลาในการดำเนินงานห้าปี ( พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๑) ภายใต้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกองทุนโลกเพื่อการแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย(The Global Fund to Fight AIDS, Tuberculisis and Malaria-GFATM) ผ่านทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การแพธกับภาคีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๑๔๙ หน่วยงาน หน่วยงานภายใต้กำกับกระทรวงสาธารณสุข องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรธุรกิจ รวมกันกว่า ๓๐ หน่วยงาน โดยร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตร พัฒนาผู้ฝึกอบรมหลัก (Master Trainers-MT) และฝึกอบรม และติดตามพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน หรือผู้จัดการเรียนรู้เพศศึกษา และพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาแก่เยาวชนในสถานศึกษากว่าหกร้อยแห่งทั่วประเทศ
โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ได้พัฒนาชุดแนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปฏิบัติงานด้านเพศศึกษาสำหรับเยาวชน และคู่มือฝึกอบรมผู้จัดการเรียนรู้เพศศึกษาแบบรอบด้านสำหรับสถานศึกษานี้ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ในการฝึกอบรมผู้จัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และครูที่จะสอนเพศศึกษาในสถานศึกษา นำไปใช้ประกอบกับหลักสูตรเพศศึกษาต่าง ๆ ที่โครงการฯ ได้พัฒนาขึ้นสำหรับสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานบริหารการศึกษานอกโรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม คู่มือนี้อาจเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติงานด้านเพศศึกษา และการพัฒนาสุขภาวะทางเพศของเยาวชนที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาด้วยเช่นกัน
คู่มือเล่มนี้เป็นการร่วมกันเขียนขึ้นโดยคนหลายคน โดยถอดบทเรียนจากการดำเนินการในช่วงกว่าสิบปี ที่องค์การแพธและภาคีที่ได้เคยร่วมมือกันจากงานป้องกันเอดส์ จนมาเป็นการผลักดันเรื่องเพศศึกษาในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการอ้างอิงประสบการณ์ แนวคิด และงานวิจัยในต่างประเทศที่มีการพัฒนางานเพศศึกษามาอย่างจริงจังยาวนานกว่าบ้านเรา รวมไปถึงการหยิบยืมบทเรียนประสบการณ์ของการพัฒนาบุคลากรที่ใช้กันอยู่ในแวดวงธุรกิจ หากคู่มือนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานด้านเอดส์ เพศศึกษา และการพัฒนาสุขภาวะของเยาวชน องค์การแพธ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนในการถ่ายทอดบทเรียนของ “ผู้ใหญ่ใจดี” และ “เยาวชนใจงาม” ทั้งหลายที่ทุ่มเททำงานในด้านเอดส์ และเพศศึกษา แก่มิตรสหาย ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีหน้าที่ที่ยังมุ่งมั่นทำงานสร้างสรรค์สุขภาวะทางเพศแก่สังคมไทย
องค์การแพธ ขอน้อมรับข้อผิดพลาดที่มีในคู่มือ พร้อมยินดีรับฟังความคิดเห็น และมุมมองที่แตกต่าง หรือตรงกันข้ามกับแนวคิดที่คู่มือนี้นำเสนอ