ความจำเป็นของการสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา เริ่มได้รับการเห็นพ้องต้องกันในหมู่คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลหลักคือต้องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเอดส์ และสร้างสุขภาวะทางเพศแก่เยาวชนไทย แต่ความขัดแย้งในแนวคิดที่มีต่อสาระ และกระบวนการสร้างการเรียนรู้ยังคงมีปมหลายประการที่รอการคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นของ”อุดมคติ” และ “มายาคติ” นานาประการในเรื่องเพศ อำนาจของผู้ใหญ่ที่ต้องการ “ควบคุม” เพศวิถีของเยาวชน และปมเงื่อนขนาดเขื่อง ก็คือสถานการณ์การศึกษาไทย ที่เผชิญปัญหาสาระพันของการพัฒนาความรู้เจตคติ และความสามารถของครู ในฐานะของผู้สร้างการเรียนรู้ ที่จะจัดการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการเรียนรู้เพศศึกษาที่ “รอบด้าน”ฝ่ามายาคติเรื่องเพศที่ครอบงำสังคม ผ่านระบบการศึกษาทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญของการสืบทอดระบบคุณค่าของสังคม
บทความคัดสรรจากเวที่วิชาการ และวารสาร S-exchange ที่ “โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ” นำมารวบรวมไว้เป็นสามชุดแนวคิดที่เกี่ยวพันกับสามแนวคิดหลักที่โครงการใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอวิธีคิด สาระหลัก และการออกแบบกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอันได้แก่ เพศวิถี (Sexuality) การพัฒนาเยาวชนในด้านบวก (Positive Youth Development) และการสร้างการเรียนรู้ (Learning) โดยเล่มที่ท่านถืออยู่ในมือ “ชวนกระรอกเข้าโพรง: ว่าด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้าน” คือ ชุดที่ ๓ ที่ว่าด้วย การจัดการเรียนรู้ในระบบการศึกษา
โครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อคิดเห็น ข้อถกเถียง ทั้งจากมุมมองของผู้ใหญ่ และเยาวชนในหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านชวนกันทบทวนถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์และรอบด้านและกระตุ้นให้ค้นหาวิธีการสร้างการเรียนรู้แบบที่ “ให้อำนาจ” แก่ผู้เรียน