บทเรียนการสร้างครูเพศศึกษารุ่นใหม่ในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ

169

เมื่อพูดถึงการผลักดันให้เพศศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งหวังให้เด็กที่ผ่านระบบโรงเรียนได้เกิดการเรียนรู้วิถีเพศอันเป็นสวนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์อย่างเข้าใจ ตามวัย พัฒนาการ และวุฒิภาวะ เพื่อจะได้ถูกบ่มเพาะให้กลายเป็นพลเมืองที่มีสุขภาวะทางเพศ และดำเนินชีวิตทางเพศอย่างรับผิดชอบ ปลอดภัย มีความสุข คำถามสำคัญก็คือ “ครู” ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้จะถูกเตรียมการอย่างไร

โครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” (Teenpath) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในหลักสูตรสถานศึกษา โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากโครงการกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria-GFATM)ผ่านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และมีองค์การแพธ (PATH) เป็นผู้ดำเนินการหลักร่วมกับภาคีในภาคการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาเยาวชน ทั้งที่เป็นองค์กรในภาครัฐ และเอกชน และมีภาคีสำคัญ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๑๐ แห่ง ซึ่งประสานงานโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องในการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาเพื่อเป็นวิชาหนึ่งในคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ร่วมโครงการ

จากความร่วมมือกว่าสามปีที่ผ่านมา บทเรียนของการดำเนินงานที่ได้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ บอกให้เรารู้ว่า การที่จะเห็นการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเป็นระบบ ทั้งในหลักสูตรของสถานศึกษา และในหน่วยที่มีหน้าที่เตรียมครูผู้สอน ยังเป็นเส้นทางยาวไกลที่มีอุปสรรคมากมายรออยู่ แต่สิ่งที่ได้ปรากฏขึ้นแล้ว ก็คือหน่วยเล็กๆ ที่แตกกอจากการเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจ และความปรารถนาดีที่จะได้เห็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้รับการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา เพื่อจัดการกับเพศวิถีของตนอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้โอกาสแก่นักศึกษาครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎจำนวนไม่น้อยได้มีโอกาสออกฝึกสอนเพศศึกษากับนักเรียนควบคู่กับวิชาเอกของตน

องค์การแพธ (PATH) ขอแสดงความชื่นชม ต่อทีมงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๑๐ แห่งที่ได้ร่วมโครงการ โดยเฉพาะทีมของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ร่วมผลักดันให้เกิดสำนึกของหน่วยงานที่สำคัญของการผลิตครู ให้ได้เห็นความจำเป็น และแนวทางของการส่งเสริมการเรียนรู้เพศศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฎ และขับเคลื่อนให้เกิดความตระหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาไปเป็น “ครู”ให้สามารถส่งต่อการเรียนรู้ในเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ในมนุษย์แก่เยาวชนในสถานศึกษา แม้ในระยะแรกนี้ อาจไม่เกิดผลที่ยั่งยืนได้ในทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ร่วมโครงการ แต่ส่วนที่สามารถหยั่งรากสร้างทีมก็สามารถจะขยายผลต่อรุ่นกันได้อย่างต่อเนื่อง

หวังว่าบทเรียนที่ปรากฏในเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในสังคมไทยต่อไป

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here