มาช่วยกันชี้โพรงให้กระรอก (ปลอดภัย) 2

260

โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข โดยการดำเนินการขององค์การแพธและองค์กรภาคี เพื่อส่งเสริมการจัด

กระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและการป้องกันเอดส์ในกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา โครงการฯ นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย (Global Fund) รอบที่ 1 ให้ดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2546 – กันยายน 2551 ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทุนโลกพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินงานต่ออีก 6 ปี คือ ตุลาคม 2551 – กันยายน 2557

เมื่อสิ้นสุดการดำเนินการใน 5 ปีแรก โดยภาพรวมพบว่านักเรียนในกลุ่มโรงเรียนในโครงการฯ มีความรู้เรื่องการป้องกันและทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเพศวิถี เพศสภาวะ และสัมพันธภาพต่อผู้อื่น ในระดับดีกว่านักเรียนในกลุ่มโรงเรียนนอกโครงการฯอย่างไรก็ตาม ทัศนะเชิงบวกในบางเรื่องของนักเรียนก็ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

แม้ว่านักเรียนในโครงการฯ ทั้งอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี แต่ระดับการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องยังไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมเชิงบวก เช่น การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยการใช้ถุงยางอนามัยในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ทัศนคติต่อการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ

ความรู้ความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อของนักเรียนอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษา ในและนอกโครงการฯ ยังไม่ดีเพียงพอ การจัดการเรียนรู้เพศศึกษาไม่ได้มีผลให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดโดยประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียนอาชีวศึกษาในและนอกโครงการฯ ในการสำรวจรอบสุดท้ายไม่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม นักเรียนชายในโครงการฯ มีเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มชายนอกโครงการฯ แต่กลุ่มนักเรียนหญิงในใครงการฯ มีเพศสัมพันธ์ต่ำว่าหญิงนอกโครงการฯ ส่วนในกลุ่มมัธยมศึกษากลุ่มนอกโครงการฯ มีประสบกรณ์มีเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มในโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สำหรับเรื่องการสื่อสารเรื่องพฤติกรรมความเสี่ยงและการป้องกันกับคู่พบว่า กลุ่มนักเรียนในโครงการฯ มีแนวโน้มสื่อสารกับคู่มากกว่ากลุ่มนอกโครงการฯ โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาในโครงการฯ มีการใช้ถุงยางอนามัยสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจทั้งสองรอบ

ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ที่ไม่ต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อทัศนคติความเข้าใจ ความตระหนักในการป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนซึ่งผลการสำรวจเห็นชัดเจนในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่ได้รับการเรียนรู้เพศศึกษาเพียงหนึ่งเทอมเท่านั้น ทำให้ผลลัพธ์ของนักเรียนกลุ่มนี้ในการสำรวจรอบถัดมาหลังการเรียนรู้แล้วลดน้อยลง

* การประเมินผลโครงการฯ ดำเนินการโดย Health Counterparts Consulting ใช้วิธีการประเมินทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพโดยสำรวจในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษา 10 แห่งและกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาในสถานศึกษา 16 แห่ง ที่ผ่านการเรียนรู้เพศศึกษาตามหลักสูตรโครงการฯ เปรียบเทียบกับกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาในสถานศึกษานอกโครงการฯ 9 แห่ง และนักเรียนมัธยมศึกษาในสถานศึกษานอกใครงการฯ 10 แห่ง และติดตามเก็บข้อมูลนักเรียนกลุ่มเดิมต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here