มานุษยวิทยากับการศึกษา “พฤติกรรมข้ามเพศ” และ “รักเพศเดียวกัน” โดย: นฤพนธ์ ด้วงวิเศษณ์  [14 ธันวาคม 2554]

129

 เรื่องเพศเป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยาไม่ค่อยกล้าศึกษา และพยายามเลี่ยงที่จะไม่รุกล้ำเข้าไปอยู่ในกิจกรรมทางเพศของมนุษย์ สิ่งที่ทำได้จึงเป็นเพียงการสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น การแต่งกาย กิริยาท่าทาง การพูด และวิธีปฏิบัติตัวในสังคม จากบันทึกของนักเดินทางและมิชชันนารีชาวตะวันตกที่พบเห็นพฤติกรรมทางเพศของชนพื้นเมืองในหลายๆ วัฒนธรรม มักจะกล่าวถึงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ซึ่งชาวยุโรปมองว่า “สกปรก” และ “ผิดกฎธรรมชาติ” การตัดสินพฤติกรรมทางเพศของคนพื้นเมืองด้วยทัศนะของชาวยุโรปสะท้อนให้เห็นว่าระบบคิดและวิธีการจัดจำแนกเพศของมนุษย์มีผลต่อการ “ยอมรับ” และ “ไม่ยอมรับ” พฤติกรรมทางเพศบางแบบ

          นักมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ มักจะนำเอาวิธีคิดแบบตะวันตกติดตัวไปด้วย และเมื่อพบเห็นพฤติกรรมทางเพศของคนพื้นเมือง เช่น เพศชายแสดงท่าทางและแต่งกายเหมือนผู้หญิง ก็จะตัดสินพฤติกรรมเหล่านั้นในเชิงอคติ และดูหมิ่นเหยียดหยาม เนื่องจากใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ และความเชื่อของศาสนาคริสต์เป็นตัวอธิบาย ทั้งนี้ วิทยาศาสตร์มองว่า “ธรรมชาติ” เป็นผู้กำหนดบทบาทและพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ และมีเพียงเพศชายและเพศหญิงเท่านั้นที่สามารถดำรงอยู่ในสังคม ดังนั้นพฤติกรรมทางเพศใดๆ ที่ไม่ตอบสนองความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง สถาบันครอบครัว และการสีบเผ่าพันธุ์จะถูกมองในเชิงลบ

          ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาเริ่มตระหนักว่าวิธีคิดเรื่องเพศของตะวันตกเป็นผลผลิตทางสังคมวัฒนธรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ โดยเฉพาะความคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality) เป็นทฤษฎีที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องเชิงชีววิทยาและมองพฤติกรรมทางเพศในฐานะเป็นเครื่องบ่งชี้ตัวตนและอัตลักษณ์ที่เป็นมาแต่กำเนิด การนำเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ และอัตลักษณ์ทางเพศไปผูกติดกับ “อวัยวะเพศ” และการจัดเพศเป็นคู่ตรงข้ามชายหญิงเป็นสิ่งที่สังคมตะวันตกยกย่องเชิดชู ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีคิดเรื่องเพศที่พบเห็นในวัฒนธรรมอื่นๆ

          นักมานุษยวิทยารุ่นหลังพยายามกลับไปทบทวนวิธีการศึกษาเรื่องเพศในอดีต ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์กระบวนทัศน์ตะวันตกที่แผ่ขยายไปในดินแดนต่างๆ ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมเป็นต้นมา เพื่อที่จะสำรวจตรวจสอบว่าวิธีคิดเรื่องเพศของชนพื้นเมืองต่างจากวิธีคิดของตะวันตกอย่างไร รวมทั้งค้นหาว่าความรู้วิทยาศาสตร์มีผลอย่างไรต่อการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันของชนพื้นเมือง ปัจจุบันนี้ พฤติกรรมทางเพศหลายๆ แบบที่เคยมีคุณค่าในเชิงสังคมและสัมพันธ์กับการแสดงสถานะพิเศษทางสังคมค่อยๆ สูญหายไป ชนพื้นเมืองหลายแห่งรับเอาความคิดตะวันตกไปใช้เพื่อควบคุมสมาชิกของตนเอง ให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศเท่านั้น

          การเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเพศที่มุ่งไปสู่ระบบเพศแบบคู่ชายหญิง และสถาบันรักต่างเพศ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาประเด็นเรื่องเพศต่างตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับการแบ่งแยกกีดกัน การสร้างอคติ การดูหมิ่นเหยียดหยาม และการลดคุณค่าของพฤติกรรมทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับสถาบันรักต่างเพศ ซึ่งครั้งหนึ่งการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน เคยเป็นพื้นที่ทางสังคมของบุคคลที่มีบทบาทและสถานะทางเพศที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง บทเรียนสำคัญก็คือวิธีคิดเรื่องเพศแบบไหนที่ยอมให้มนุษย์สามารถแสดงพฤติกรรมและบทบาททางเพศได้มากกว่าชายและหญิง และสังคมสมัยใหม่อนุญาตให้วิธีคิดเรื่องเพศแบบไหนปรากฏอยู่ในสังคมบ้าง

          อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัยพหุวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางเพศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)   

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here