อันเนื่องมาจาก…ติดเอดส์เพราะเราจูบกัน?โดย: ธิติพร  ดนตรีพงษ์   มูลนิธิเข้าถึงเอดส์     [30 พฤศจิกายน 2554]

252

 สืบเนื่องจากข่าว  “จูบคนแปลกหน้าอันตราย!!ติดเอดส์สายพันธุ์ใหม่ลูกผสม…เติบโตได้ในน้ำลาย!”ที่ลงในมติชนออนไลน์เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเนื้อข่าวระบุว่านักวิจัยได้ทดสอบการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์เอชไอวีและพบความผิดปกติจากตัวอย่างเลือดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ๒ รายจากทั้งหมด ๔๔ ราย พร้อมตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ผสม ซึ่งมีที่มาจากแอฟริกัน

          ประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือ มีการระบุว่าเอชไอวีสายพันธุ์ผสมสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำลายของคน แปลว่าถ้าจูบกันก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้

          ในฐานะคนทำงานประเด็นเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ผู้เขียนมีความไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อข่าวดังกล่าว

          ประการแรก โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามเนื้อข่าว เรื่องเอชไอวีสายพันธุ์ผสมยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ผลการวิจัยยังไม่ออกมาแน่ชัดว่า ความผิดปกติของเลือดผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นเพราะเอชไอวีสายพันธุ์ผสม ซึ่งมีที่มาจากแอฟริกัน และสามารถติดต่อทางน้ำลายได้จริง การนำเสนอข่าวดังกล่าวจึงสร้างความตระหนกให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง

          ประการที่สอง ความตื่นตระหนกของประชาชนต่อข่าวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และความเข้าใจเรื่องเอดส์ของประชาชน กล่าวคือ การสร้างความเข้าใจว่า “จูบคนแปลกหน้า” ก็มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้นั้นทำให้คนไม่กล้าสร้างสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า (ซึ่งก็มีส่วนทำให้ลดโอกาสเสี่ยงได้) แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนไม่คำนึงถึงคู่ของตัวเอง ซึ่งเหมือนกับเรื่อง “ความไว้ใจ” ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่และทำให้การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ยังคงมีอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากคำนึงถึงความจริงก็จะพบว่า เราคงไม่ค่อยมีโอกาสจูบหรือมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้บ่อยนัก ที่มีได้บ่อยๆ ก็คู่ของเรานี่แหละ

          อีกอย่างหนึ่ง การบอกว่าจูบกันทำให้ติดเอดส์ จะยิ่งจะทำให้คนกังวลแบบ “ครอบจักรวาล” ว่า กินข้าวร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน จะทำให้ติดเชื้อไหม  เผลอๆ แปรงฟัน บ้วนปาก ล้างหน้าในอ่างเดียวกัน ก็อาจจะกังวลว่าน้ำลายของผู้ติดเชื้อที่ติดอยู่ที่อ่างล้างหน้าจะถูกน้ำที่เราบ้วนลงไปกระเด็นย้อนกลับเข้าตา เข้าปากเราหรือเปล่า (ถ้าถึงขนาดนี้ก็เรียกว่าจินตนาการสูงส่ง) แต่สรุปว่า ความกังวลเหล่านี้ย่อมทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไปแน่ๆ

          นอกจากนี้ การระบุว่าน้ำลายเป็นแหล่งที่อยู่ของเอชไอวี ก็จะยิ่งไปตอกย้ำความเข้าใจผิดที่มีอยู่เดิมว่าจูบกันติดเอดส์ได้ ซึ่งปรากฏในคำถามบนเว็บบอร์ดของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ว่า “พี่ครับ จูบกันติดเอดส์ไหม?” หรือ “จูบแบบแลกลิ้น กลืนน้ำลายของอีกฝ่ายเข้าไปด้วย แบบนี้จะติดเอดส์หรือเปล่า?” ซึ่งโดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกก็ระบุว่า การจูบกัน ไม่ว่าจะจูบแบบไหนก็ตาม ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีเพราะในน้ำลายไม่ใช่แหล่งที่อยู่ของเชื้อ ความกังวลของผู้ที่สอบถามเข้ามาทางเว็บบอร์ดสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า องค์ความรู้เรื่องเอดส์ของคนไทยยังไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของตัวเองได้ ดังนั้น การนำเสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเอดส์ ผู้นำเสนอจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ไม่เพิ่มความกังวลและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนทั่วไป

          ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้นราว ๕๐๐,๐๐๐ ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละกว่า ๑๒,๐๐๐ ราย หากเราต้องการหยุดตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวีไว้ที่ ๕๐๐,๐๐๐ ราย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ความถูกต้องที่ยืนยันได้ด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงว่ากว่า ๘๐% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย (ส่วนประเด็นที่ว่าไม่ใช้เพราะอะไรก็ว่ากันไปตามเหตุผลของแต่ละคน)

          ความถูกต้องของข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่ว่า การแพทย์สมัยนี้ก้าวหน้าจนผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ด้วยการกินยาต้านไวรัสเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อ หรือหากเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสก็สามารถรักษาให้หายได้ คนทำงานเอดส์จึงพยายามรณรงค์ให้ทราบกันว่า “เอชไอวีควบคุมได้ เอดส์รักษาได้” และทุกสิทธิการรักษาไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง สิทธิประกันสังคมหรือข้าราชการ ก็ครอบคลุมการรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์

          แต่…ข้อเท็จจริงก็พบอีกว่า มีผู้ติดเชื้อราว ๒๐๐,๐๐๐ รายเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบการรักษา อีก ๓๐๐,๐๐๐ รายที่ยังไม่เข้าสู่ระบบอาจเป็นไปได้ว่ายังไม่ทราบข้อมูลนี้ หรือบางรายก็อาจจะยังไม่ทราบผลเลือดของตัวเองเนื่องจากประเมินไม่ได้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี    

          ไหนๆ ก็ใกล้วันเอดส์โลก ๑ ธ.ค.นี้ ผู้เขียนจึงขอฝากให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญประเด็นเอชไอวี/เอดส์และร่วมกันรณรงค์ให้คนสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะตราบใดที่เราเห็นความเสี่ยงของตัวเอง ตราบนั้นเราก็จะสามารถจัดการเรื่องความเจ็บป่วยได้

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here