คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษา ประกอบการจัดการเรียนรู้วิชาเพศศึกษา รหัสวิชา ๒๐๐๐-๑๖๑๒ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.๒๕๔๕ (ปรับปรุง พ.ศ.๒๕๔๖)

418

คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้วิชาเพศศึกษาตามหลักสูตรรายวิชา “เพศศึกษา” (รหัสวิชา ๒๐๐๐-๑๖๑๒) กลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา หมวดวิชาสามัญ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๕ (ปรับปรุง พ.ศ.๒๕๔๖) โดยการสนับสนุนของโครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” อันเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ภาคีจากองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์และภาคธุรกิจ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria-GFATM) ผ่านทางกระทรวงสาธารณสุข บริหารโครงการโดยองค์การแพธ (PATH) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน มีสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” และมีการจัดการเรียนรู้ “เพศศึกษา” จำนวนทั้งสิ้น ๒๓๓ แห่ง ใน ๖๐ จังหวัด

จากการประเมินผลโครงการเพื่อวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษาในโครงการ และนอกโครงการ (ที่ไม่ได้เรียนเพศศึกษาในหลักสูตรก้าวย่างฯ) พบว่า ผลการสำรวจในรอบที่ ๒ เมื่อระหว่างภาคการศึกษา ๑/๒๕๕๐ กลุ่มนักเรียนในโครงการมีพัฒนาการทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติดีกว่ากลุ่มนักเรียนนอกโครงการ เช่น นักเรียนในโครงการมีความมั่นใจที่จะพูดคุยเรื่องเพศหรือปรึกษากับครูมากขึ้น และนักเรียนหญิงในโครงการมีการพูดคุยกับคู่มากขึ้นในเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงและการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น  อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอแนะว่า ครูควรกระจายเนื้อหาการเรียนรู้เพศศึกษาให้ครอบคลุมทุกหน่วยการเรียนรู้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่จะช่วยให้ผู้เรียนปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

คู่มือฯ เล่มนี้จึงมีการปรับปรุงเนื้อหาแผนการเรียนรู้ และมีจำนวนแผนแตกต่างจากเดิมบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเยาวชนและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งให้เป็นไปตามระบบการจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนใหม่จาก ๒๐ สัปดาห์ เป็น ๑๘ สัปดาห์ โดยประกอบด้วย ๕ หน่วย/๑๗ แผนการเรียนรู้

หน่วยที่ ๑ รู้จักตนเอง (๔ แผน): ก้าวแรก ร่างกายของฉัน ตัวฉันเอง และคุณค่าในตัวฉัน

หน่วยที่ ๒ รู้จักคนอื่น (๒ แผน): ใจเขาใจเรา และเธอคิด ฉันคิด

หน่วยที่ ๓ แสวงหาข้อมูล (๕ แผน): แลกน้ำ รู้ไหมเอ่ย ซองคำถาม ขอซื้อความปลอดภัยและ QQR

หน่วยที่ ๔ ฝึกฝนตนเอง (๔ แผน): เพศสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่น สารพัดโอกาสเสี่ยง ตันกับอ้อและเมื่อแฟนมีกิ๊ก

หน่วยที่ ๕ รู้เท่าทัน (๒ แผน): รู้เท่าทันสื่อ นักข่าวหัวเห็ด

และการประเมินผลด้วยแผนกิจกรรม “การวางเป้าหมายชีวิต”

ในการปรับปรุงเนื้อหาคู่มือฯ นี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคณะครูที่ได้สะท้อนความคิดเห็นจากประสบการณ์การสอนด้วยคู่มือเล่มเดิม รวมทั้งวิทยากรหลัก (Master Trainers) และศึกษานิเทศก์ที่ได้จัดอบรมและติดตามสนับสนุนครูเพศศึกษาร่วมกับหน่วยงานประสานงานส่วนกลางคือ สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ทางองค์การแพธ (PATH) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารและครูจะใช้ประโยชน์จากคู่มือนี้อย่างเต็มที่ในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเกิดผลดีแก่เยาวชนอาชีวศึกษาในระยะยาวต่อไป

ขอขอบคุณ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาในคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ทุกจังหวัดที่ร่วมโครงการ ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการผลักดันให้เพศศึกษาเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในหลักสูตรสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา รวมทั้งยังสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ครู และผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศมีความมั่นใจมากขึ้นในการทำงานเพศศึกษา

ขอขอบคุณ กองทุนโลก ที่เปิดโอกาสและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาขึ้นในอาชีวศึกษา

ขอขอบคุณผู้บริหารและผู้ประสานงานทุกท่านในสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ที่ได้ริเริ่ม มุ่งมั่น และสนับสนุนให้เกิดคุณภาพการเรียนการสอนเพศศึกษา และขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ขอขอบคุณคณะครูผู้สอน ศึกษานิทศก์ ที่ได้ร่วมกันเปิดใจรับฟัง คันหาและพัฒนาศักยภาพตนเอง นำประสบการณ์การสอน การนิเทศ มาร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาปรับปรุงให้คู่มือนี้สำเร็จลุล่วง

และเหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณเยาวชนอาชีวศึกษา ที่ได้แสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ อันนำมาซึ่งความมุ่งมั่นและกำลังใจแก่คณะครูอาจารย์ ที่จะร่วมเรียนรู้และพัฒนางานเพศศึกษสำหรับเยาวชนต่อไป

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here