มติชนออนไลน์ โดย: ขุนสำราญภักดี [2 ตุลาคม 2553]
ต้นเดือน กันยายน ผมเขียนเรื่อง ช้าก่อน… พี่น้องสื่อ ” อาชีวะ-ช่างกล “ไม่ได้แย่อย่างที่คิด !!!
สืบเนื่องจาก เด็กช่างกล ยิงคู่อริบนรถเมล์ แล้วลูกหลงไปโดนเด็กนักเรียนตาย
ผมบอกว่า ผมเสียใจที่เด็กนักเรียนต้องมารับเคราะห์ แต่ เด็กอาชีวะ และเด็กช่างกล ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด
ประเทศนี้ ขาดแคลนช่าง อย่าทำให้ภาพลักษณ์ของเด็กช่างกล เลวร้าย จนไม่มีใครกล้าส่งลูกมาเรียน
ปรากฏว่า บทความของผมถูกนำไปพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่คนที่ทำให้ หัวใจผม พองโตก็คือ คุณคำผกา คอลัมนิสต์ในมติชนสุดสัปดาห์ เธอเห็นด้วยกับผม
เธอเปิดใจมองภาพเด็กช่างที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก อย่างสิ้นเชิง
แล้ววันหนึ่ง ผมก็ถูกเชิญไปพูดในวงเสวนา “เด็กอาชีวะเหลือขอ แล้วครูจะเหลืออะไร ?” ท่ามกลางครู อาจารย์ โรงเรียนอาชีวะ และนักเรียนช่าง จำนวนมาก
ประเด็นสนทนาในห้องเสวนาน่าสนใจมาก ได้เจอทั้งครูอาชีวะ และช่างกล วัยโจ๋ที่เข้ามาฟังแน่นห้อง เพราะหัวข้อมันโดนใจ
“คุณวาด”ผู้ดำเนินรายการถามผู้ร่วมเสวนาว่า มองภาพเด็กอาชีวะ เด็กช่างกล อย่างไร
คำตอบที่ได้รับคือ กร้าวร้าว หัวแข็ง นักเลง ชอบความรุนแรง ก่อความวุ่นวาย หาเรื่อง ไม่เรียนหนังสือ ชอบกินเหล้า เด็กเหลือขอ มีพลังเยอะ แต่ใช้ไม่ถูกทาง
ส่วนใหญ่คือ เป็นภาพลักษณ์ที่ติดลบ เด็กๆ เองก็ยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของเด็กช่าง แย่จนกู่ไม่กลับ
ครูอาชีวะท่านหนึ่ง ระบายว่า ทุกเช้าขึ้นรถเมล์ ไปสอน เครียดมาก ไม่รู้ว่าเด็กมันจะตีกัน มันจะฟันกัน เมื่อใด เพราะอาจารย์ผู้นี้เคยเจอเหตุการณ์รุนแรงมาแล้ว
” บางครั้งเห็นท่าไม่ดี ลงรถเมล์ ไปขึ้นแท็กซี่เลย เครียดมากเลย” ครูอาชีวะ ระบายความในใจ
แต่อาจารย์ผู้หญิงอีกท่าน ฉายภาพว่า เด็กช่างกลที่เป็นข่าวเป็นเพียงส่วนน้อย โรงเรียนอาชีวะมีกว่า 400 โรงเรียน โรงเรียนที่มีปัญหาจริง ๆ มีไม่กี่โรงเรียน และส่วนใหญ่ล้วนเป็นโรงเรียนอาชีวะ ช่างกลในกรุงเทพ และปริมณฑล เท่านั้น ในต่างจังหวัด แทบไม่มีปัญหาตีกัน
ครูสาวอีกคนเล่าว่า เธอเป็นคนพยาบาลเด็กช่างกลหัวโจกคนหนึ่งที่ก่อเหตุมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเมาแล้วขับจนประสบอุบัติเหตุ และไปถูกฟันมาที่แขน เธอบอกให้เด็กมาพบทุกวันเพื่อทำแผล แล้วก็สอบถามเรื่องราวจากปากของเด็ก เธอพบว่า เด็กช่างกลที่ดูภายนอกเป็นเด็กกร้าวร้าว แต่หัวใจของเด็กหนุ่มพวกนี้ เปราะบางและอ่อนไหวมาก เป็นพวกรักเพื่อนมาก
“เด็กยอมรับว่า ไปเมามาแล้วขับรถมอเตอร์ไซต์ เจอรถเบนซ์ เบรกไม่อยู่ ถ้าชนรถเบนซ์ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อมรถเบนซ์ จึงตัดสินใจ หักลงข้างทาง ผลก็คือ เลือดโชก บาดเจ็บไปทั้งตัว แต่ไม่มีเงินไปหาหมอ ต้องรอจนเช้าแล้ว ไปให้ครูทำแผล “
การได้เปิดใจคุยกันทุกวัน ๆ ทำให้พฤติกรรมของเด็กที่เคยกร้าวร้าว เปลี่ยนไป
อาจารย์ผู้ชาย ยกมือ ขอพูดบ้าง ว่า ภาพของเด็กช่างกลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ เป็นภาพลบล้วนๆ
ทำไมเด็กอาชีวะ เด็กเทคนิค ทำดี ไปสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ประสบภับสึนามิ ไม่เห็นมีใครชื่นชมบ้าง หรือว่า ข่าวดีมันขายไม่ได้ ต้องข่าวร้ายๆ สื่อจึงสนใจ
ช่วงที่สื่อตีข่าว เด็กช่างกลตีกัน สรยุทธ์ สุทัศนจินดา นักเล่าข่าวเสนอให้ส่งเด็กเกเรลงไปใต้ ผู้ร่วมเสวนาหลายคนไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่า แก้ไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน
ผมบอกว่า จริงๆ แล้ว ต้องส่งคุณสรยุทธ์ ไปใต้ ไม่ใช่เด็ก ๆ
ช่วงหนึ่ง เด็กอาชีวะ พูดขึ้นกลางวงว่า ผู้ใหญ่ไม่เปิดใจ รับฟังพวกเขาเลย มีแต่สั่ง มีแต่ลงโทษ ไม่เคยฟังเด็ก ไม่เคยถามเลยว่า เด็กๆ คิดอะไร เด็ก ๆ ทำผิดไปเพราะอะไร
เด็กช่างอีกคน กล่าวว่า จะให้เด็กไปไหน ตกเย็นประตูโรงเรียนก็ปิด วันเสาร์อาทิตย์ก็ปิด แทนที่จะให้เด็กเข้าไปทำกิจกรรม ทำไมไม่มีสถานที่ให้เด็กทำกิจกรรมบ้าง
ครูช่างสตรี ท่านหนึ่ง แลกเปลี่ยนว่า นักเรียนก็ควรเปิดใจกับครูบ้าง (นะค่ะ )
พร้อมกับระบายความรู้สึกว่า คนอาชีวะ ไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตัวเองเท่าใดนัก เพราะภาพของอาชีวะ มันแย่ในสายตาของคนทั่วไป และยิ่งเสนอนำเสนอข่าวแต่ด้านลบ ยิ่งไม่มีใครอยากส่งลูกเรียนอาฃีวะ
เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหาเด็กช่างกลตีกันของรัฐบาล ทั้งครูและเด็ก เห็นว่า นักการเมืองไม่เข้าใจปัญหาเด็กช่าง แนวทางของรัฐจึงไม่ตอบโจทย์
หลายคนคาดหวังให้สื่อ นำเสนอภาพของเด็กอาชีวะ ในด้านดี ๆ บ้างได้ ไหม
ผมบอกว่า อย่าคาดหวังมาก สื่อก็เป็นธุรกิจ แต่ผมจะพยายามเสนอแง่งามของเด็กช่างให้มากขึ้น
เพราะโดยส่วนตัว ผมเชื่อมั่นจริงๆ ว่า อาชีวะ สร้างชาติ ไม่ใช่พวกนักการเมือง หรือ นักกฎหมาย หรือ พวกนักโต้วาที (ครับ)