จำอวด “โอเน็ต” หนังสือพิมพ์มติชน ๕ มีนาคม ๒๕๕๕ โดย: นิธิ เอียวศรีวงศ์    [6 มีนาคม 2555]

202

ข้อสอบโอเน็ตปีนี้ ก็เหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา คือถูกสื่อต่างๆ นำมาหัวเราะเยาะเย้ยกันอย่างทั่วถึง และคำอธิบายของผู้รับผิดชอบการออกข้อสอบก็เหมือนทุกปีที่ผ่านมานั่นคือต้องการให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็น

          ช่างเป็นคนที่อดทนมุ่งมั่นต่ออุดมการณ์อะไรเช่นนี้

          แม้จะน่าเยาะเย้ยให้เป็นที่น่าขบขันอย่างไรความมุ่งหมายของคณะกรรมการออกข้อสอบไม่ใช่สิ่งที่น่าเยาะเย้ยแต่ประการใด ซ้ำยังน่าส่งเสริมอีกด้วย เพราะการศึกษาไทยขาดการฝึกให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง จะว่าไปการคิดวิเคราะห์เป็นหัวใจของการศึกษาเลยทีเดียวก็ว่าได้ โดยเฉพาะในการศึกษาของโลกปัจจุบัน เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ นั้นล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งไร้ประโยชน์แต่การคิดวิเคราะห์เป็นต่างหากที่จะติดตัวนักเรียนไปตลอดชีวิต และทำให้เขารู้จักปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดซึ่งถั่งโถมเข้าสู่ชีวิตของเขาได้ตลอดไป

          ความล้าหลังของการศึกษาไทยก็อยู่ตรงที่ไม่สนใจจะให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เป็นนี่แหละความมุ่งหมายของคณะกรรมการออกข้อสอบจึงนับว่าน่าสรรเสริญ แต่ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้เป็นอันขาด เพราะเครื่องมือที่คณะกรรมการมี คือการออกข้อสอบเป็นแค่ไม้จิ้มฟัน ย่อมไม่อาจไปงัดไม้ซุงความล้าหลังของระบบการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน      งัดไปก็เป็นที่ขบขันของคนทั่วไปอย่างที่เกิดขึ้นทุกปี

          ข้อสอบเช่น หากเกิดความต้องการทางเพศแล้ว วัยรุ่นควรทำอย่างไร คำตอบมีให้เลือกนับตั้งแต่เล่นกีฬาไปถึงชวนกิ๊กไปดูหนังไม่ใช่สิ่งน่าขำในตัวเอง แต่ไม่ว่านักเรียนจะเลือกคำตอบข้อไหน ก็ไม่มีทางที่ผู้ตรวจจะรู้ได้เลยว่า เด็กคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ เพราะการคิดวิเคราะห์เป็นกระบวนการคิด ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะมีข้อเดียวหรือหลายข้อ) ไม่ว่าจะเลือกตอบข้อไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาสำนึกถึงเงื่อนไขต่างๆ ถี่ถ้วนสักเพียงไร (ในวัยของเขา) และนำเงื่อนไขเหล่านั้นมาคำนวณผลได้ผลเสียจากการตัดสินใจของเขามากน้อยเพียงไร ฉะนั้นแม้นักเรียนจะตอบว่า ควรพากิ๊กไปดูหนัง พลาดพลั้งจะได้พาเข้าโมเต็ลให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป ก็อาจแสดงการคิดวิเคราะห์ที่ดีได้เพราะได้นำเงื่อนไขทุกประเภทมาไตร่ตรองจนรอบคอบแล้ว และสรุปว่าในสถานการณ์ของเขา นี่คือคำตอบที่เหมาะสุด

          เขาคิดอย่างไร สำคัญกว่าเขาเลือกจะทำอะไร

          เพลงสายฝนควรจะมีสีอะไรก็เหมือนกัน สีอะไรก็ได้ แต่เขาให้เหตุผลที่สอดรับกับจินตนาการของเขาได้มากน้อยอย่างไรต่างหาก ที่จะเป็นตัววัดความสามารถของเขาแม้แต่ให้สีที่เหมือนกับศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ก็ไม่มีอะไรผิด อยู่ที่ว่าเขาใช้วิธีคิดอย่างไร จึงทำให้เลือกสีนั้นๆ ต่างหาก

          เห็นได้ชัดว่า ข้อสอบของคณะกรรมการไม่สามารถวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ เพราะคณะกรรมการไปมุ่งที่คำตอบแทนที่จะมุ่งไปยังกระบวนการคิดวิเคราะห์ข้อสอบปรนัยที่มุ่งไปทางคิดวิเคราะห์ก็มีเหมือนกัน คือให้เลือกระหว่างเหตุผล ไม่ใช่คำตอบที่ถูก แต่ผมเชื่อโดยไม่เกรงกลัวอาญาสิทธิ์ของนักวิชาการด้านการวัดผลว่า แม้กระนั้น ข้อสอบปรนัยก็จำกัดเพดานความคิดเอาไว้ ให้เลือกได้เฉพาะกระบวนการคิดของผู้ออกข้อสอบ เด็กอัจฉริยะมีแนวโน้มจะสอบตก เพราะเขาสามารถคิดนอกกรอบนั้นได้อีกมาก หรือในทางตรงกันข้าม เขาอาจสอบได้ที่หนึ่ง เพราะเขาอัจฉริยะพอที่จะคิดอะไรให้โง่ลงเท่ากับระดับผู้ออกข้อสอบ นั่นหมายความว่าเขาตกอยู่ในระบบการศึกษาที่จำกัดศักยภาพของเขาไปพร้อมกัน

          ดังนั้น อุปสรรคของการออกข้อสอบที่ต้องการการคิดวิเคราะห์จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวข้อสอบแต่อยู่ที่ในทางปฏิบัติ กล่าวคือหากเป็นข้อสอบอัตนัย ที่ต้องตรวจข้อสอบเป็นแสนในแต่ละวิชา ย่อมเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

          ตรงนี้แหละครับที่ต้องการการ “คิดวิเคราะห์”

          โอเน็ตมีความสำคัญอย่างไร เท่าที่ผมทราบคือ ๑.ต้องการมาตรฐานกลางในระบบการศึกษา ๒.จึงเท่ากับประเมินสมรรถภาพของโรงเรียนไปด้วยในตัว ทำให้รู้ว่าต้องเสริมสมรรถภาพของแต่ละโรงเรียนไปทางใด ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ๓.ทำให้นักเรียนที่มุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องใส่ใจกับวิชาอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในการสอบเข้าด้วย (ข้อนี้น่าจะไปแก้ที่กระบวนการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ง่ายกว่าและดีกว่าหรอกหรือครับ?) ๔.ผมไม่ทราบ

          เพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ ที่ไม่ใช่การจัดสอบพร้อมกันทั้งประเทศเช่นนี้ ลองคิดใหม่เถิดครับ ผมเชื่อว่ามีหากผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มคิดจากเป้าหมาย แทนที่จะคิดจากการสอบซึ่งเคยทำมาหลายครั้งแล้วแต่ผมไม่เชี่ยวชาญพอจะไปเสนออะไรได้

          หากในที่สุดยังสรุปมาที่การสอบทั้งประเทศเหมือนเดิม ก็น่าจะจัดสอบสักเดือนละสองครั้งหรือสี่ครั้ง หมายความว่านักเรียนแต่ละคน ไม่ว่าจะมาจากโรงเรียนใด สามารถสมัครเข้าสอบได้เสมอทั้งปี แม้แต่เรียนเลยชั้นนั้นไปแล้ว ก็สามารถขอสอบได้ แต่ผลการเรียนของชั้นที่ผ่านมาแล้วนั้นยังไม่เป็นทางการ จนกว่าจะมีคะแนนของโอเน็ตไปคิดร่วมด้วย รายละเอียดอื่นๆ เช่นคนหนึ่งสอบโอเน็ตได้กี่ครั้ง, ต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อการนี้สักเท่าไร ฯลฯ ก็ค่อยคิดกันในภายหลัง

          คราวนี้จะออกข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์อย่างไรก็น่าจะทำได้ โดยตรวจวัดกันที่กระบวนการคิด ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

          แม้สามารถจัดการสอบที่วัดกระบวนการคิดได้แล้วในทางปฏิบัติ โอเน็ตอย่างเดียวก็ยังไม่อาจเปลี่ยนการศึกษาไทยมาสู่การคิดวิเคราะห์ได้อยู่ดี มีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ ในระบบการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์

          อย่างแรกคือหลักสูตรในการศึกษาไทยทุกระดับตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มีความรู้ที่ขาดไม่ได้อยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งนักเรียนต้องรู้และเข้าใจ วิธีพิสูจน์ว่ามีคือจำได้ และวิธีพิสูจน์ว่าเข้าใจคือทำโจทย์หรือตอบถูก (อันเป็นวิธีพิสูจน์ความเข้าใจที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก เพราะนักเรียนอาจเอาการจำมาใช้ทำโจทย์แทนการคิด)

          ถามว่าความรู้อย่างที่กล่าวนี้จำเป็นจริงหรือไม่ คำตอบคือจริง แต่จำเป็นเพราะเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารหรือข้อตกลงสำหรับการเรียนอะไรอื่นๆ ที่กว้างและลึกขึ้นเท่านั้นเช่นวิทยาศาสตร์สอนเรื่องความร้อน ไม่ได้สอนเรื่องความเย็น ก็เป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้นว่า เราจะศึกษาพลังงานตัวนี้จากแง่ของอุณหภูมิ (ชื่อก็บอกแล้วว่าคือหน่วยวัดความร้อน) โดยไม่เกี่ยวกับตัวเราผู้ศึกษา สิ่งที่มีอุณหภูมิน้อยๆ เรารู้สึกว่าเย็น แต่นั่นเพราะเราวัดจากความรู้สึกของเรา ไม่ใช่จากสิ่งนั้นจึงตกลงร่วมกันว่าเราจะดูสิ่งต่างๆ จากแง่ของความร้อนเท่านั้น หรือบวกกับลบเป็นความรู้พื้นฐานของการคำนวณ ที่เหลือคือกลวิธีที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ในเชิงประจักษ์ (ด้วยตัวเลข) เท่านั้น

          แต่ก้อนความรู้ดังกล่าวนั้น ถูกพอกให้ใหญ่ขึ้นในเมืองไทย จนกระทั่งไม่เหลือการเรียนรู้อะไรอื่นๆ อีกนอกจากความรู้ก้อนนั้น ดังนั้นการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์จึงต้องทำให้ก้อนความรู้ในหลักสูตรเล็กลง แต่นักเรียนแต่ละคนจะค่อยๆ สร้างความรู้อื่นๆ ไปพอกก้อนความรู้นั้นด้วยตนเอง จบไปแล้วต่างคนต่างมีความรู้คนละก้อน ซึ่งเขาสร้างมันขึ้นมาเอง จึงไม่เหมือนกัน (แม้มีฐานเหมือนกัน)

          อย่างที่สองคือครู การฝึกหัดครูต้องเปลี่ยนมาสร้างสมรรถภาพของครูที่จะจัดการเรียนรู้ภายใต้หลักสูตรใหม่เช่นนี้ กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีกุศโลบายที่จะทำให้ครูเปลี่ยนมารองรับหลักสูตรใหม่ โดยไม่ใช้อำนาจลูกเดียว (นั่นไม่อาจเรียกว่ากุศโลบายได้)

          อย่างที่สามคือการบริหารโรงเรียนเพราะครูและเป้าหมายของหลักสูตรใหม่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน ระบบบริหารที่เป็นอยู่เวลานี้ไม่ได้ผล จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขโดยสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างเขตการศึกษากับกระทรวง มีเงื่อนไขที่ล่อใจหลายอย่างให้ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารเขตการศึกษา อยากร่วมในการปฏิรูปการศึกษา

          อย่างที่สี่คือทำให้สื่อการศึกษาที่มีอยู่เวลานี้ น่าสนใจมากขึ้นกว่าการ “ติว” วิชาต่างๆ เพราะถึงอย่างไรในหลักสูตรใหม่ ก็ไม่มีก้อนวิชาตายตัวให้ “ติว” มากนักอยู่แล้ว

          อย่างที่ห้าคือเสรีภาพไม่มีการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์ใดจะเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากบรรยากาศของเสรีภาพ ไม่แต่เฉพาะบรรยากาศในห้องเรียนอย่างเดียวบรรยากาศของการปฏิบัติหน้าที่ของครู,ผู้บริหารโรงเรียน ฯลฯ

          หรือแม้ถึงที่สุดคือบรรยากาศของสังคมโดยรวม ก็ต้องเปี่ยมด้วยเสรีภาพ

          เสรีภาพเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีกฎระเบียบที่แน่ชัด ซึ่งกำหนดสิทธิอันล่วงละเมิดมิได้ของแต่ละฝ่าย ครูทำอะไรได้บ้างที่ผู้บริหารไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง, ผู้บริหารโรงเรียนทำอะไรได้บ้างที่ผู้ใหญ่เหนือขึ้นไปแทรกแซงไม่ได้ จนถึงที่สุดพลเมืองทำอะไรได้บ้าง โดยอาญาสิทธิ์ต่างๆ และอิทธิพลต่างๆ ไม่อาจเข้ามาแทรกแซงได้

          เห็นไหมครับว่า เรื่องมันใหญ่กว่าที่คณะกรรมการออกข้อสอบโอเน็ตจะทำอะไรได้ ในขณะที่กระทรวงศึกษาฯ ของทุกรัฐบาลมักจะถูกมอบหมายให้แก่นักการเมืองที่ไร้จินตนาการโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นคณะกรรมการออกข้อสอบโอเน็ตจึงทำได้เพียงเป็นจำอวดหน้าม่าน ปีแล้วปีเล่าไปอย่างต่อเนื่อง ไว้ปีหน้าค่อยดูตอนต่อไป

          ที่กล่าวมานี้ ด้วยความเห็นใจอย่างยิ่งนะครับ

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here