POWERLAND เกมแดนสร้างพลัง

160

สถานการณ์ด้านพัฒนาการเด็กไทยทั้งความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (IQ) และฉลาดทางอารมณ์ (EQ) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาหลายปี เพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และเด็กๆ ถูกละเลย เติบโตโดยขาดต้นแบบที่ดีทางสังคม ก่อเกิดพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น โครงการการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กด้านสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคมแบบองค์รวมสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีและเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสถาน CHILDLIFE ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนโลกเพื่อเอดส์ วัณโรคและมาลาเรียรอบ ๑๐ ได้ดำเนินงานโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มเปราะบางทางสังคม ในช่วงอายุ ๐-๑๘ ปี ได้แก่ เด็กกำพร้า เด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เด็กถูกทารุณกรรม เด็กพิการ เด็กเร่ร่อน เด็กไร้สถานะบุคคล รวมถึงเด็กติดเชื้อเอชไอวี

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแข็งแรง เก่ง และมีสุข เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมอย่างต่อเนื่อง การเฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการของเด็กทุกช่วงวัยอย่างใกล้ชิดจึงเป็นกระบวนการดูแลที่จำเป็น ในปัจจุบันพบว่าเครื่องมือที่ช่วยเฝ้าระวังและติดตามในระบบสุขภาพได้แก่ อนามัย ๕๕ ใช้สำหรับประเมินเด็ก ๐-๕ ปี ส่วนเครื่องมือที่ใช้อยู่ในระบบการศึกษาพบว่ายังไม่มีการใช้อย่างจริงจังเพราะข้อจำกัดของตัวเครื่องมือและภาระงานของครู

องค์การแพธ (PATH) ภายใต้โครงการ CHILDLIFE จึงได้พัฒนาเครื่องมือประเมินพัฒนาการเด็กหลังอายุ ๕ ปี เพื่อใช้ติดตามพัฒนาการที่เน้นด้านจิตสังคมแก่เด็ก ๒ กลุ่มคือช่วงวัย ๑๐-๑๒ ปี และ ๑๓-๑๘ ปี ในรูปแบบเกมคอมพิวเตอร์ขึ้น เกมแรกชื่อว่า “เกมแดนสร้างพลัง หรือ Power Land” สำหรับเด็กกลุ่มวัยเรียน (๑๐-๑๒ปี) และเกมที่สองชื่อ “เกมทายใจ” สำหรับวัยรุ่น (๑๒ – ๑๕ปี) เกมทั้งสองนี้ เด็กสามารถเล่นและตอนคำถามด้วยตนเองและประเมินตนเอง โดยมีแนวทางการแก้ไขที่ง่ายและสามารถสื่อสารกับเด็กๆได้โดยตรง และยังช่วยให้ครูหรือผู้ดูแลสะดวกในการใช้มากขึ้น เพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปช่วยในการรวบรวบและวิเคราะห์ผลคะแนนเพื่อประเมินต้นทุนชีวิตของเด็ก และสามารถใช้เป็นแนวทางเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กในรูปกิจกรรมการเสริมสร้างต้นทุนชีวิตอย่างรอบด้าน เพื่อมุ่งหวังให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ขอขอบคุณนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี และทีมแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นผู้ร่วมพัฒนาเครื่องมือในครั้งนี้ และให้ข้อเสนอแนะต่อเกมทั้งสองจนสำเร็จ ขอบคุณกองทุนโลกเพื่อเอดส์ วัณโรคและมาลาเรียที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทย

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here