คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒

360

“คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาแบบรอบด้าน (Comprehensive Sexuality Education) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒” ที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ ซึ่งปรับปรุงจาก “คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชน ช่วงชั้นที่ ๓ (มัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓)” และ “คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชน ช่วงชั้นที่ ๔ (มัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖)” ซึ่งมีการจัดพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๕๐ โดยในเล่มนี้ ได้มีการปรับปรุงให้แบ่งออกเป็นหกเล่มสำหรับแต่ละระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๖ ของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามคำเรียกร้องของครูผู้สอนที่เห็นว่าจะง่ายในการนำไปใช้มากขึ้น เพราะครูผู้สอนแต่ละคนมักจะสอนเป็นระดับชั้น

โดยในการจัดพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ได้นำเนื้อหาจากเล่ม “แนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับครู และผู้ปฏิบัติงานด้านเพศศึกษาสำหรับเยาวชน” ซึ่งเดิมเป็นเอกสารอ่านประกอบคู่มือการสอนเพราะเป็นเนื้อหาด้านแนวคิด ทฤษฎี เข้ามาผนวกด้วย คู่มือทั้งหกเล่มของแต่ระดับชั้นนี้ จึงกลายเป็นเนื้อหาที่ประกอบด้วย แนวคิดเรื่องเพศวิถี การพัฒนาเยาวชนเชิงบวก หลักการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งข้อคิดเห็นต่อวิธีจัดการเรียนรู้ของผู้สอน แผน และกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบกันไป

อนึ่ง สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางปี ๒๕๕๑ ซึ่งแม้จะยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นทางการเมื่อมีการจัดพิมพ์คู่มือทั้งหกระดับชั้นนี้ แต่โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้อิงแนวทาง และตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นความสอดคล้องของสาระของเพศศึกษาที่โครงการจัดทำขึ้น กับหลักสูตรแกนกลางใหม่ โดยหวังจะเอื้อให้ครูผู้สอน โดยเฉพาะในสาระสุขศึกษาและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมดกังวล และมั่นใจว่าแผนการเรียนรู้ทั้ง ๑๓ แผนในเล่ม สามารถตอบสนองต่อผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในหลักสูตรแกนกลางใหม่ ปี ๒๕๕๑ ได้อย่างสมบูรณ์

องค์การแพธ (PATH) และภาคีในโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนา ทดลองใช้ และสกัดประสบการณ์จากการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน ในสถานศึกษากว่าเจ็ดร้อยแห่ง ในห้าปีที่ผ่านมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครูผู้สอนและผู้ที่สนใจในการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาแก่เยาวชน จะได้ประโยชน์จากคู่มือเล่มนี้ เพื่อช่วยกันขยายผลให้เยาวชนของเราได้เรียนรู้เพศศึกษาอย่างรอบด้านต่อเนื่องในทุกภาคการศึกษา และในทุกระดับชั้น เพื่อพัฒนาพลเมืองของประเทศให้มีสุขภาวะทางเพศอย่างแท้จริง  องค์การแพธ (PATH) ขอน้อมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในคู่มือเล่มนี้ และยินดีรับฟังความเห็น มุมมองที่แตกต่าง หรือกระทั่งตรงกันข้ามกับที่คู่มือนี้นำเสนอ เพื่อพัฒนางานเพศศึกษาในอนาคต

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here