การประเมินผลลัพธ์เชิงคุณภาพในกลุ่มผู้เรียน : ประยุกต์ใช้กระบวนการวาดรูปเล่าเรื่อง

266

ตลอดระยะเวลาที่โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ที่องค์การ PATH เป็นผู้ดำเนินการหลัก ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานภาคี ทั้งจากภาคการศึกษา สาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้เริ่มดำเนินงาน เพื่อผลักดันให้เพศศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา มาตั้งแต่ปี 2547 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานบริหารกองทุนโลกเพื่อเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ประเทศไทย องค์การ PATH ได้มอบหมายให้คณะบุคคล Health Counterparts Consulting เป็นผู้ดำเนินการด้านการประเมิน และติดตามผล คู่ขนานไปกับการดำเนินงานของภาคีต่างๆ โดยได้มุ่งติดตามทั้งในส่วนของระบบการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาในสถานศึกษาและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เรียน โดยใช้วิธีการทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

สำหรับการประเมินผลลัพธ์ในกลุ่มเยาวชนที่ได้เรียนรู้เพศศึกษาในชั้นเรียนมีโจทย์สำคัญอยู่ว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาเกิดขึ้นในชั้นเรียนมีผลต่อวิธีคิดและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนหรือกลุ่มเยาวชนในระบบสถานศึกษาได้อย่างไร รวมถึงทักษะการจัดการและความสามารถในการคิดและตัดสินใจในชีวิตประจำวันกับบุคคลรอบข้างของนักเรียน ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการเชิงคุณภาพในการสังเกต และรวบรวมข้อมูล เพื่อจะเข้าใจและประเมินได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพัฒนาการเพียงไรของผู้ที่ได้ผ่านการเรียนรู้ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจเชิงปริมาณมีข้อจำกัดที่อาจไม่ได้สะท้อนพัฒนาการเหล่านี้ออกมาได้เพียงพอ

องค์การ path จึงยินดียิ่งที่ คณะผู้วิจัยของ Health Counterparts Consultingได้ริเริ่ม และทดลองใช้กระบวนการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อรวบรวมข้อมูล ผ่านกระบวนการ “วาดรูปเล่าเรื่อง” (Story Telling/Drawing) ในการเก็บข้อมูลในกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้เป็นผู้เล่าเรื่องและถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านภาพวาดและเรื่องเล่า ทำให้เราได้เข้าใจประสบการณ์ในช่วงชีวิตวัยรุ่นและได้เห็นพลังในการขบคิดของเยาวชนในการจัดการเรื่องต่างๆ ของตัวพวกเขาเอง

รายงานการประเมินผลลัพธ์เชิงคุณภาพในกลุ่มผู้เรียน : การประยุกต์ใช้กระบวนการวาดรูปเล่าเรื่อง (Story Telling/Drawing) ฉบับนี้ อาจไม่สามารถสะท้อนหรือสรุปได้ชัดเจน สำหรับการประเมินวัดความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้ผ่านการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในโครงการ และกลุ่มที่อยู่นอกโครงการ ในเชิงการเปรียบเทียบแต่ความพยายามในการหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือเป็นคุณูปการต่อการศึกษาถึงวิธีวิจัย เพื่อที่จะพัฒนาเครื่องมือที่เที่ยงตรงยิ่งขึ้นในการวัดการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อนเป็นพลวัตในอนาคต ที่สำคัญ ข้อคิดที่เยาวชนสะท้อนเรื่องราว ความคิดของตนต่อเรื่องเพศ ผ่านรูปวาดและเรื่องเล่านับว่ามีคุณค่ายิ่งในการทำให้ผู้อำน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานด้านการศึกษาและพัฒน่าเยาวชน ได้เห็นมุมมอง วิธีคิด และวิธีจัดการเรื่องต่างๆ ของตัวพวกเขาเอง

และเมื่อเยาวชนเริ่มต้นที่จะเล่าเรื่องราวของเขา ผู้ใหญ่คงต้องเริ่มต้นเปิดใจฟังสิ่งที่พวกเขาเล่าอย่างตั้งใจ และใคร่ครวญโดยปราศจากอคติ จึงจะสามารถเห็นช่องทางที่จะสื่อสาร การสร้างบริการ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่จะเอื้อต่อสุขภาวะในเรื่องเพศของเยาวชนได้อย่างแท้จริง

แสดงความคิดเห็น

Please enter your comment!
Please enter your name here